เศรษฐกิจไทย ปี 2566 จะไปทิศทางไหน? มีปัจจัยบวก-ลบกระทบธุรกิจชีวิตคนไทยยังไง?

26 ธ.ค. 2565 - 03:42

  • กิจกรรมทางการตลาดของไทยเริ่มกระเตื้องขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว และคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวแตะ 25 ล้านคน

  • ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองนั้นอาจยังไม่รอบคอบพอสวนทางกับแผนการเติบโตจีดีพีของประเทศ

Economics-tend-thailand-factor-2023-SPACEBAR-Thumbnail
รีแคปเศรษฐกิจไทยส่งท้ายปีนี้ด้วยความรวดเร็ว นับแต่เปิดต้นปี 2565  แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย เจ้าของธุรกิจ แบรนด์สินค้า ทยอยจัดกิจกรรมการตลาดผ่านอีเวนต์มาปลุกมู้ดการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภค การท่องเที่ยวเริ่มผ่อนคลายหลังชาวต่างชาติหลังรับวัคซีน มีความมั่นใจเดินทางออกนอกประเทศ  

ก่อนที่ทั่วโลกจะเริ่มเข้าสู่ภาวะตึงเครียดทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ กระทบไปยังหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย จากราคาน้ำมันโลกถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลเป็นโดมิโนไปยังต้นทุนการดำเนินธุรกิจต่างๆตามมา ทั้งการขนส่งสินค้า ค่าพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ สวนทางกับประสิทธิภาพในการผลิต (Productive) ของแต่ละประเทศที่ชะลอตัวและนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ กระทั่งนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ      

ผลพวงจากปี 2565 ยังเป็นเชื้อมาเติมต่อไปยังเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้เช่นกัน โดย SPACEBAR ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ผู้ก่อตั้ง Officemate อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) และ อดีตนายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มาฉายภาพเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะไปในทิศทางใด?
 

ภาพรวมดีขึ้น แต่ต้นทุนธุรกิจยังน่าห่วง

วรวุฒิ บอกว่า  “แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566 ของไทยดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังต้องติดตามภาวะสงครามรัสเชีย-ยูเครน ที่ต่อเนื่องจากปี 2565  โดยเฉพาะราคาพลังงาน น้ำมัน ที่อาจพุ่งสูงขึ้นเป็นต้นทุนกดดันสินค้าในภาคเอกชนทั้งหมด ส่งผลไปถึงการปรับขึ้นค่าไฟไฟฟ้าในไทยอีก 30% ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักต่อเนื่อง
 

นโยบายขึ้นค่าแรงสวนทางโปรดักทีฟ

ขณะที่ความคึกคักทางเศรษฐกิจต้นปีหน้า อาจได้เห็นกิจกรรมทางการตลาดเกิดขึ้นผ่านการเลือกตั้งรอบใหม่ โดยพรรคการเมืองต่างโปรโมทแคมเปญหาเสียงต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตรา 600 บาท ซึ่งหมายความว่าในอีก 5 ปี จะมีการปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 12% ติดต่อกัน  

“โดยส่วนตัวไม่ปฏิเสธเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงรายวันที่ส่งผลไปถึงค่าจ้างระดับปริญญาตรี ที่จะได้ปรับเพิ่มขึ้นด้วย แต่ในขณะนี้ไม่เห็นด้วยมากนักเพราะอาจทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นไปอีก หาก ไทยไม่ดูตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรับขึ้นตามมาด้วย ซี่งค่อนข้างอันตราย เพราะอาจกระทบเงินลงทุนจากต่างขาติที่จะหยุดรอดูท่าทีก่อน ด้วยต่างต้องคำนวนต้นทุนการผลิตล่วงหน้า โดยเฉพาะค่าแรงงานท้องถิ่นรวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันอีก”  วรวุฒิ กล่าว 

พร้อมเสริมว่า แนวทางดังกล่าวจะยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ไม่มีนวัตกรรม และต้องแบกรับภาระต้นทุนแรงงานที่ทปรับขึ้น ขณะที่ Productive ประสิทธิภาพการผลิตไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทย จะต้องเร่งแก้ปัญหาในเรื่องนี้
 

การท่องเที่ยวกระตุ้นฟื้นตัวเศรษฐกิจ

วรวุฒิ กล่าวว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ด้วย ‘ไทย’  เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ ‘โชคดี’ จากการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและทำได้ค่อนข้างดี เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางกลับมายังไทย และคาดว่าจะแตะ 11 ล้านคนได้ในปลายปี 2565 นี้  

แนวโน้มดังกล่าว มองว่าหากรัฐบาลชุดหน้าที่จะเข้ามาบริหารกิจการในประเทศนั้น ยิ่งต้องใช้ ‘การท่องเที่ยว’ เป็นเครื่องยนต์หลักมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าไปต่ออย่างยั่งยืน ด้วยในปี 2566 นี้คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมนักท่องเที่ยวคนไทย อีกจำนวนหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นความคึกคักของเศรษฐกิจ  

“ไทยยังเนื้อหอมด้านการท่องเที่ยวอยู่มาก  ดูจากสายการบินต่างๆวางให้ไทยเป็นเดสติเนชันของต่างชาติ ที่เมื่อพวกเขากลับไปยังประเทศแล้วจะเกิดอาการ Blue Bangkok ติดไข้กรุงเทพ คิดถึงเมืองไทย ซึ่งในฐานะพวกเราคนไทยควรใช้เสน่ห์ที่เป็นจุดขายเหล่านี้ สร้างโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจจากการติดไข้แบงค็อก” วรวุฒิ กล่าว  

ด้วยในปี 2566  เชื่อว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเดินทางมายังประเทศไทยแล้ว จะหวนกลับมาอีกอย่างแน่นอน ซึ่งควรใช้ช่วงจังหวะจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรรมท่องเที่ยว มาขับเคลื่อนจีดีพีของไทยได้เร็วที่สุด จากการบริโภคของนักท่องเที่ยวในไทยสร้างการหมุนเวียนของธุรกิจ บริการ ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว
 

เปิดช่องเวียดนาม ได้เปรียบฐานผลิต

วรวุฒิ ขยายความต่อว่าแม้จะมีสัญญาณบวกด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวของไทย แต่อาจยังต้องระมัดระวังด้านต้นทุนสินค้าบริการ ที่จะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเชิงลบทางเศรษฐกิจ ทั้งค่าพลังงานน้ำมัน ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่อาจปรับขึ้น ที่ในขณะนี้ยังต้องพิจารณารอบด้านช่วงเวลาที่เหมาะสม 

ด้วยหากย้อนกลับไปในช่วงที่  รัฐบาลไทยในยุคนั้นได้ประกาศนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท ส่งผลให้ทุนต่างชาติขยับฐานการผลิตไปยังเวียดนามเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน ทำให้ให้เวียดนาม มีชุมชนเกาหลี (Korea Town) ชุมชนญี่ปุ่น (Japan Town) เกิดขึ้นในเวลาต่อมา สะท้อนการดึงดูดการลงทุนชาวต่างชาติของเวียดนามได้อย่างดี จากค่าแรงที่ต่ำกว่า และคุณภาพการผลิตที่เทียบเท่ากับไทย  

ขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุแรงงานเวียดนามอยู่ในวัย 30 ต้นๆ และมีค่านิยมทำงานมากกว่าหนึ่งแห่งขึ้นไป นอกเหนือจากงานประจำเลิกงานช่วง 5 โมงเย็น เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเวียดนามที่กระตุ้นให้คนในประเทศอยู่นอกบ้านเป็นเวลานานมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการหมุนเวียนเศรษฐกิจ จูงใจให้นักลงทุนต่างชาติกลับไปอีก  

“ค่าแรงขั้นต่ำเวียดนามอยู่ราวๆ 234 บาท ส่วนของไทยตอนนี้อยู่ที่ 340 บาท ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอัตราค่าแรงของไทยในตอนนี้ไม่สอดคล้องกับเงินเฟ้อ ซึ่งรัฐควรใช้นโยบายช่วยค่าครองชีพประชาชน  เช่น ตั๋วเดือนรถเมล์ คูปองสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ฯลฯ ออกมาก่อนตัดสินใช้นโยบายการขึ้นค่าแรงที่ยังไม่สอดคล้องกับแผนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ซึ่งควรไปเน้นการเติบโตจีดีพีดีกว่า” ” วรวุฒิ กล่าวย้ำ  

นอกจากนี้ยังเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งให้ความสำคัญด้านการพัฒนา ทักษะ ฝีมือแรงงานคนไทย เพื่อรับมือกับอนาคตข้างหน้าที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งการใช้ทักษะแรงงานแบบเดิมทำซ้ำๆ อาจไม่เพียงพอกับความต้องการตลาดโลก อีกต่อไป
 

นักท่องเที่ยวสายช้อปหนุนใช้จ่ายต่อหัวเพิ่ม

สำหรับปัจจัยลบในปี 2566 วรวุฒิ มองว่า ยังต้องจับตากระแสโลกที่เกิดขึ้นด้วยจะส่งผลกระทบเกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆที่เป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจ  ทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่อาจยังมีต่อเนื่อง แนวโน้มจากภาวะสงครามว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางใด  

ดังนั้น การหันกลับมากระตุ้นการบริโภคในประเทศ ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ทยอยฟื้นตัวนั้นจะมีบทบาทอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้อวหาวิธีสร้างแรงจูงใจ ทั้งการซื้อสินค้าบริการจากนักท่องเที่ยวให้อยู่ในไทยเป็นระยะเวลานานขึ้น มีการใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น เป็นต้น ผ่านการเพิ่มมูลค่าที่แท้จริงในกลุ่มสินค้าโอทอป เอสเอ็มอี ที่มีคุณภาพ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม  

“เป็นไปได้ว่าจะต้องสร้างให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิงขึ้นเหมือนย่างในเกาหลี ซึ่งในตอนนี้เอานักท่องเที่ยวมาไทยสี่คนพบว่ามีการใช้จ่ายต่อวันเทียบเท่ากับเอานักท่องเที่ยวไปเกาหลี 1 คนต่อวันที่มีการใช้จ่ายราวๆ สองพันบาท” วรวุฒิ กล่าว  

ขณะที่ภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันนั้นยังกิน ‘บุญเก่า’ จากสิ่งที่สั่งสมมาแต่ในอดีตที่ทำเอาไว้ดี ซึ่งในปัจจุบันสามารต่อยอดเชิงกิจกรรมผ่านเครื่องมือซอฟต์พาวเวอร์  ด้านต่างๆ ทั้งอาหาร วัฒนธรรมด้านต่างๆ ไปจนถึงการสร้างบรรยากาศความถี่ในการช้อปปิงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั้งระบบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ภาคการผลิตการเกษตร  ไปจนถึงค้าปลีก และ การบริการ ได้อย่างมาก  

ทั้งนี้ หากไม่มีปัจจัยลบนอกเหนือการคาดเดาอื่นๆเกิดขึ้นอีก เศรษฐกิจไทยใน 2566 แม้ว่าจะยังเหนื่อย หนัก จากเงินเฟ้อ แต่กยังดีที่มีอุตฯการท่องเที่ยวมาช่วยปั๊มจีดีพี ให้ไปต่อได้อีกไกล 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3EMeFtgsQq4sRCoFL0pWdq/f66766f043682bbb709591dc92be2adc/Economics-tend-thailand-factor-2023-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์