ดิจิทัลเข้ามา ใช้จ่ายเงินก็เปลี่ยนไป

23 มิ.ย. 2566 - 07:18

  • ดิจิทัลและนวัตกรรม ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเปลี่ยนไป

  • QR Code ถูกต่อยอดไปในทุกหน่วยงานทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ในทุกแพลตฟอร์ม

Economy-Money-QR-Code-Scan-Promptpay-Payment-SPACEBAR-Hero
ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้เริ่มนำดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการทำงาน และในส่วนของภาคการเงิน ก็มีการนำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วยธุรกิจมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้มีความสะดวกสบายให้กับลูกค้า  

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวใน Special Talk เรื่องนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ที่เปลี่ยนประเทศไทย ให้ไม่เหมือนเดิม ในสัมมนา Spring Digital Life Forum 2023 : นวัตกรรม เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก ว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับความสำเร็จในการนำนวัตกรรมมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเงินไทย คือ เมื่อ 5 ปีก่อน ได้มีการนำระบบพร้อมเพย์มาใช้ในโลกการเงินไทย และได้มีการพัฒนาต่อยอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมันได้ย่อโลกการเงินลงมาบนมือถือได้อย่างสะดวกสบาย ทำให้ประชาชน พ่อค้าแม่ค้า ภาคธุรกิจ จับจ่าย และธุรกรรมทางการเงิน ได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขา  

ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาต่อยอด QR Code ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตามมาตรฐานสากล เชื่อมโยงกับ 6 ประเทศ เช่น กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ลาว และญี่ปุ่น ให้เชื่อมโยงทางการเงินกันได้แบบสะดวก รวมถึงการต่อยอดสู่โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเห็นได้ว่าเกิดความสำเร็จ ทำให้ปัจจุบัน พบว่ามี 78 ล้านเลขหมายแล้วที่มีการลงทะเบียนผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือเฉลี่ย 48ล้านรายการ/วัน ไทยมีจุด QR Code ตามร้านค้าต่างๆกว่า 9 ล้านจุด ทั่วประเทศ จากผลสำรวจพบว่า 81% ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ ล่าสุดมีการพัฒนาไปสู่การออกหนังสือค้ำประกัน ในหน่วยงานภาครัฐ ที่จะช่วยประหยัดเวลา ลดความยุ่งยาก ลดการใช้เอกสาร ลดความผิดพลาดได้ 

ด้านศรัณย์ ชินสุวพลา ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ที่ได้ขึ้นกล่าวภายในงานนี้ มองว่า QR Code ที่ร้านค้าทุกประเภทถ้าไม่มี QR Code เท่ากับเสียโอกาสทางการขาย เพราะด้วยพฤติกรรมของคนยุคใหม่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ลดการสัมผัสเงิน รวมถึงสมาร์ทโฟน ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น การเติบโตของสมาร์ทโฟนและผู้ใช้งานที่คุ้นชินกับช่องทางเดลิเวอรี่  

ศรัณย์ ได้ยกตัวอย่างแอปพลิเคชัน Robinhood ทำให้บริษัทมีดาต้าจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น First Party Data ที่มีการขออนุญาตแล้ว ซึ่งการมีดาต้าแบบนี้ทำให้รู้ว่าจะเดินหน้าไปทางไหน ทำให้รู้จังหวะของการต่อยอดธุรกิจ แต่สำหรับร้านค้ารายย่อยมาก ๆ แบบร้านรถเข็น พวกเขาต้องเริ่มเรียนรู้แบบนับหนึ่งกันเลย ตั้งแต่การดาวน์โหลดแอป การสร้างคิวอาร์โค้ด การสร้างและเปลี่ยนแปลงเมนูอาหาร รวมทั้งเครื่องมือต่าง ๆ  

การผลักดันเทคโนโลยีสู่ธุรกิจในมุมมองของนักพัฒนาเทคโนโลยี คือ ต้องทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องง่าย แบบที่มนุษย์คุยกัน สื่อสารกัน ใช้งานกัน ถึงจะกลายเป็นหนึ่งในใจของลูกค้าได้ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์