หนี้ครัวเรือน ระเบิดเวลาที่คนไทยกำลังแบก

18 ก.ค. 2566 - 03:58

  • โครงการประชานิยมของรัฐบาล ส่วนหนึ่งที่สะสมหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น

  • โจทย์สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ต้องเร่งแก้ไข

Economy – Thai – Money - NPL - Debt – GDP - Household debt – Government - Populist-SPACEBAR-Hero
หลังจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2566 ว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2565 มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาสที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงเหลือ 86.9% ตามการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น  

เมื่อดูจากระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นจากข้อมูลในไตรมาสก่อนที่มีระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.91 ล้านล้านบาท เพิ่มมาเป็น 15.09 ล้านล้านบาท ทำให้เห็นถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังไม่ได้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีมูลค่าสูง และมีบัญชีหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาของหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาในการฉุดรั้งการใช้จ่ายของประชาชนและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ  

‘หนี้ครัวเรือน’ คืออะไร 

หนี้ครัวเรือน หมายถึง เงินที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศ โดยบุคคลธรรมดานั้นอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้จ่ายต่าง ๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ หรือช่วงที่ประสบปัญหาการว่างงานหรือรายรับลดลง  

ข้อมูลหนี้ครัวเรือนครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน 2 กลุ่ม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเก็บข้อมูลได้ คือ  
  • สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันรับฝากเงินอื่น ๆ  
  • สถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน โรงรับจำนำ และสถาบันการเงินอื่น ๆ ไม่รวมถึงหนี้นอกระบบ 

ครัวเรือนสูงขึ้นที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย และหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น คือ กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในยุคต่าง ๆ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนเริ่มทะยานขึ้นเป็นลำดับ ทีนี้หากเราไล่เรียงนโยบายของรัฐบาลที่เชื่อว่าทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เริ่มจาก 

ปี 2544 – 2549 ภายในการนำทีมรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและบริหารประเทศเป็นครั้งแรก  ซึ่งหัวใจสำคัญในการแถลงนโยบายครั้งนั้น อยู่ที่ 9 นโยบายเร่งด่วน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชุนเมืองแห่งละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุน สร้างอาชีพเสริม และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน และวิสาหกิจขนาดเล็กในครัวเรือน  

นอกจากนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยเพิ่มปริมาณการรับจำนำข้าวจากที่เคยรับอยู่เพียง 2.5 ล้านตัน เป็น 9 ล้านตัน ในปีการผลิต 2545/2546 ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 

หลังจากนั้น เมื่อปี 2549 – 2551 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หนี้ครัวเรือน อยู่ในระดับไต่ขึ้นมาเล็กน้อย ด้วยนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการออม มุ่งสนับสนุนการออมในทุกระดับโดยใช้นโยบายการออมที่เหมาะสม และส่งเสริม  จิตสำนึกในการประหยัดเพื่อลดหนี้สินในระดับครัวเรือน และเพื่อการดำรงชีพที่ดีในวัยสูงอายุ  

ด้านการเงินและการคลัง ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ และมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ในขณะที่จะเสริมสร้างวินัยทางการเงินการคลังภาครัฐ โดยการใช้จ่าย อย่างมีเหตุผลและประหยัด           

ต่อมาปี 2552 – 2554 ภายในการขับเคลื่อนรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ขยับสูงขึ้น โดยเชื่อว่ามาจากนโยบายประกันราคาข้าว ใน 3 ประเภท ทั้งข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานี และข้าวเหนียว โดยข้าวเจ้าปรับขึ้น 11,000 บาทต่อตัน ข้าวปทุมฯ 11,500 บาทต่อตัน และข้าวเหนียว 10,000 บาทต่อตัน พร้อมขยายปริมาณการรับประกันจาก 25 ตัน เป็น 30 ตัน โดยคาดว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 10,000 ล้านบาท 

หลังจากนั้น รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงปี 2554 – 2557 เพียงช่วงแรกรัฐบาลของนาวสาวยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2554 และจบลงในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555  

หนี้ครัวเรือนของรัฐบาลชุดนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าเกิดจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคา 15,000 บาทต่อเกวียน ทำให้เกษตรกรต้องการที่จะซื้อรถไถ ซื้อปุ๋ย มากขึ้น เพื่อปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ด้วยหวังว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปจำนำและได้เงินมากขึ้น , นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของภาครัฐ ก็มีส่วนทำให้ครัวเรือนมีการกู้ยืมมากขึ้น ส่งผลให้ระดับหนี้ครัวเรือนโดยรวมสูงขึ้น  

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่น คือ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ทำให้ความต้องการเงินกู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น 

มาถึงในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำหน้าที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนานถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน (รักษาการ) การบริหารงานด้านเศรษฐกิจก็มีนโยบายออกมาเป็นจำนวนมาก โดยทางด้าน นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มองว่า ภายในการบริหารงานของรัฐบาลนี้ หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น จะเป็นนโยบายที่เชื่อมโยงจากผลงานจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ เช่น ประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ที่ใช้เม็ดเงินนับแสนล้านบาท ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า แม้เป็นเรื่องการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรก็จริง แต่ก็ควรมีกลไกให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้  

ทั้งนี้ นณริฏ พิศลยบุตร ยังฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล และเป็นความท้าทาย ซึ่งรัฐบาลต่อไปต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวัง เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาต่อเนื่องแต่หนี้ครัวเรือนก็ยังเพิ่มขึ้น เพราะอาจติดบ่วงประชานิยมที่ให้กับประชาชนไว้ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์