ยื่นภาษี ต้องรู้ – เตรียมอะไร? ชวนทำความเข้าใจ

25 ม.ค. 2566 - 10:23

  • แนะยื่นภาษี เกณฑ์เงินได้เท่าใด ‘ไม่ต้องเสีย’

  • เช็กด่วน ก่อนเข้าระยะเดดไลน์ 10 เมษายน 2566

Economy-rd-filing-personal-income-tax-Year-2022-SPACEBAR-Thumbnail

เพื่อให้การยื่นภาษี ‘เป็นเรื่องง่าย’ ชวนทำความเข้าใจเบื้องต้น ถึงโครงสร้าง ว่ามีอะไรบ้างที่มีความสำคัญต่อการยื่นภาษี 

ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถือได้ว่า เข้าสู่ฤดูกาลยื่นภาษีประจำปี 2565 อย่างเป็นทางการ แน่นอนว่า มาจนถึงขณะนี้ ย่อมมีทั้งกลุ่มผู้ยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว และกลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่น หรืออีกกลุ่มเป็นมือใหม่ ไม่รู้จะยื่นอย่างไรดี ชวนทำความเข้าใจเบื้องต้น 

การยื่นภาษี ก็สามารถทำได้ 2 แบบคือ แบบแรก สำหรับผู้ไม่สะดวกยื่นออนไลน์ หรืออยู่ใกล้สำนักงานสรรพากรสาขา ก็สามารถรวบรวมเอกสาร ทั้งส่วนที่เป็นเงินได้ ค่าใช้จ่าย และเอกสารการลดหย่อน ยื่นด้วยตัวเองได้ทุกแห่ง ขณะที่การยื่นภาษีออนไลน์ ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ www.rd.go.th  ซึ่งจะมีโปรแกรมยื่นภาษี ที่สะดวก รวดเร็ว ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2565 นี้ กรมสรรพากร เปิดโอกาสให้ยื่นแบบออนไลน์ ได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 แล้วใครต้องยื่นแบบไหน พาไปดูเรื่อง ‘รายได้กับอัตราการต้องเสียภาษี’ กันก่อน 

รายได้เท่าไร? เสียภาษีเท่าไร? คำนวณอย่างไร? 

ก่อนอื่นพาไปดูว่า เราผู้ซึ่งมีรายได้แต่ละคน ต้องจ่ายภาษีกันคนละเท่าไร โดยมีการคิดคำนวณหาเงินได้สุทธิ ก่อนจะทราบว่า เราจะต้องจ่ายภาษีที่กี่เปอร์เซ็น และเป็นเงินเท่าไร โดยมีวิธีการหายอด ‘เงินได้สุทธิ’ คือ  

เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ 

และ ‘เงินได้สุทธิ’ นี้ ก็จะเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่ารายได้จริงๆ ของคุณว่าต้องจ่ายภาษีในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์ โดยเงินได้สุทธิแต่ละระดับจะถูกคิดอัตราภาษีที่แตกต่างกันเป็น ‘ขั้นบันได’ ยิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นตามไปด้วย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6F3ZFNd1YdClflWpHniJYN/0ca2996fcfd1a0cf196aac7e45f843fa/Info-Tax-2565
แม้ผู้มีรายได้จะมีหน้าที่ ‘ต้องเสียภาษีเงินได้แก่รัฐ’ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ผู้มีเงินได้ทุกคนต้องเสียภาษี หรือ ยื่นภาษีทั้งหมด เพราะถ้าคุณมีรายได้แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องยื่น ซึ่งพอสรุปภาพให้เห็นคร่าวๆ ได้คือ 
  • เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน ไม่ต้องยื่นภาษี 
  • เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท/เดือน ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี 
  • เงินเดือนเกิน 26,583.33 บาท/เดือน ต้องยื่นภาษี หักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องเสียภาษี

รู้สิทธิลดหย่อนภาษี คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร?

‘ค่าลดหย่อน’ คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่ง มีส่วนสำคัญช่วยทำให้ ‘เสียภาษีน้อยลง’ เมื่อคำนวณภาษี หรืออาจช่วยให้ ‘ได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น’ โดยประมวลรัษฎากร เปิดช่องให้เราสามารถหักลดหย่อนภาษี ซึ่งมักขึ้นอยู่กับสถานะโดยรวมของเรา แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับส่วนของเงินได้ ที่เราหามาได้ โดยสิทธิลดหย่อนจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้ การรับผิดชอบในครอบครัว การทำประกันชีวิต ภาระการกู้เงินซื้อบ้าน เป็นต้น 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าลดหย่อน ไม่ได้จำกัดแค่ในประมวลรัษฎากรเท่านั้น แต่ยังกระจายอยู่ในกฎหมายลูกอื่นๆ เช่น กฎกระทรวง หรือประกาศต่างๆ ฯลฯ ซึ่งในปี 2565 มีค่าลดหย่อนให้ใช้สิทธิรายการที่ลดหย่อนได้ดังต่อไปนี้
  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท 
  2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส คนละ 60,000 บาท และกฎหมายอนุญาตให้มีได้สูงสุด 1 คน 
  3. ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 – 60,000 บาท 
  4. ค่าลดหย่อนบิดา-มารดา คนละ 30,000 บาท 
  5. ค่าลดหย่อนผู้พิการ หรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท  
  6. ค่าฝากครรภ์ และทำคลอด ตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินท้องละ 60,000 บาท 
  7. ค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท (คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท) 
  8. เบี้ยประกันสุภาพบิดามารดา ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท 
  9. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 
  10. กบข. / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว ไม่เกิน 500,000 บาท 
  11. ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30%ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับข้อ 10. แล้ว ไม่เกิน 500,000 บาท 
  12. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 10. และ RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 
  13. เงินประกันสังคม ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 6,300 บาท (ใหม่)          
  14. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับ ข้อ 10. และ RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 
  15. ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 10. และ RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กอช. แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 
  16. ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 
  17. เงินบริจาคพรรคการเมือง ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท 
  18. (ใหม่) เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 
  19. (ใหม่) ช้อปดีมีคืน 2565 ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท 
  20. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนตั้งแต่ ข้อ 1. ถึง 19. 
  21. เงินบริจาคทั่วไป ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าลดหย่อนตั้งแต่ ข้อ 1. ถึง 20.
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3Jyp7bAdsmCUuPZRCpJ3Oc/0d1baed5b328af4b3844076e8918cd59/Info-Tax-2565-02

นอกจากนี้ยังมีรายการยกเว้นภาษีแบบพิเศษ ประกอบด้วย

  • เครดิตภาษีเงินปันผล ใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล
  • สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้ยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก 
กล่าวได้ว่า ทั้งหมดนี้ ถ้าเราเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ก็จะต้องนำตัวเลขในเอกสารมาคำนวณ เพื่อการการลดหย่อนในการเสียภาษีด้วย ซึ่งเอกสารถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทุกคนยื่นภาษีได้ ‘ง่ายขึ้น’ เพราะกรมสรรพากรพัฒนาโปรแกรมยื่นภาษีอย่างง่ายสำหรับทุกคนไว้แล้ว  

ย้ำกันอีกครั้ง ยื่นภาษีออนไลน์ 2565 ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th (สามารถยื่นภาษีตั้งแต่วันนี้ - 10 เมษายน 2566 หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือขยายวันยื่นแบบภาษีระบบจะมีการแจ้งอัปเดตอีกครั้ง) 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์