กพช.เคาะแล้ว ตรึงค่าไฟ 4.72 บาท งวดมกราคม – เมษายน 66

25 พ.ย. 2565 - 09:16

  • กพช.ออก 3 มาตรการ ช่วยประชาชนรับวิกฤตพลังงาน

  • สั่ง กกพ.คิดอัตราค่าไฟตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft

Energy-Electricity-4-months-January-April-crisis-SPACEBAR-Hero
สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการพิจารณาแนวทางลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน และมีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานให้ประชาชน (ตั้งแต่ มกราคม – เมษายน 2566) โดยมี 3 แนวทาง ดังต่อไปนี้  

1. การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า
โดยจัดสรรก๊าซฯ จากอ่าวไทย หลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน  

โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และมอบหมายให้ กกพ. เร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน

2. กพช.ได้ขอความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2566) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรร ดังนี้
  • ส่วนที่ 1 เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซฯ ให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน ให้คงการจ่ายค่าไฟเท่างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป  
  • ส่วนที่ 2 เป็นส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง
3. กพช.มีมติเห็นชอบให้ ปตท.ร่วมกับ กฟผ.บริหารจัดการผลกระทบของราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท. คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช. มีมติเป็นต้นไป
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4dqzrnu3nJpeaATue03szd/8a237cdf4761dc1fff5828ae651fa564/Energy-Electricity-4-months-January-April-crisis-SPACEBAR-Photo01
“ค่าไฟฟ้าจะไม่ขึ้นราคา ใช้เกณฑ์การใช้เหลือเช่นเดียวกับงวดปัจจุบัน คือ หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้า 301-500 หน่วยต่อเดือนจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 15-45 โดยงวดปัจจุบันใช้งบประมาณกลางของรัฐเข้าดูแล 7,000 ล้านบาท แต่ ‘งวดใหม่’ การดูแลจะมีการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระให้มากที่สุด รวมทั้งให้ บมจ.ปตท.เข้ามาร่วมรับภาระรวม 6 พันล้านบาท และอาจใช้งบกลางฯ บางส่วน  ซึ่งจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชนระยะสั้นไปก่อน”  

สุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ยังมีมติเห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ก๊าซฯ โดยกำหนดให้ผลตอบแทนจากการดำเนินมาตรการ Demand Response เป็นส่วนหนึ่งของค่า Ft และมอบหมายให้ กกพ. เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมต่อไป  

อีกทั้งที่ประชุม กพช. ได้มติมอบหมายให้ กบง. พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานต่อไป 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/53kOOBCRrfm4u1raIJ4hV5/c5ad2e32433048a311057e46d2bf6d91/Energy-Electricity-4-months-January-April-crisis-SPACEBAR-Photo02

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์