ส.อ.ท. กังวล ค่า Ft งวดใหม่ ดันต้นทุนสินค้าพุ่ง ชิงเสนอทางออก

14 ธ.ค. 2565 - 02:56

  • ส.อ.ท. ห่วงรัฐปรับขึ้นค่า Ft แรงติดกัน 2 งวด อาจเป็นผลให้ ‘เศรษฐกิจถดถอย’

  • ชงรัฐชะลอการปรับขึ้นงวดใหม่ อีกครั้ง หลังการส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ ยังไร้คำตอบ

FTI-Ft-business-economy-january-April-recession-SPACEBAR-Thumbnail
อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย ปัจจุบันราคาพลังงานมีความผันผวนและมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและครัวเรือน ได้รับผลกระทบอย่างมาก  

โดยที่ผ่านมา ส.อ.ท. ติดตามสถานการณ์ความผันผวน และราคาพลังงานมาโดยตลอด มีการทำหนังสือยื่นเสนอข้อร้องเรียนถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) และประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน 2565 เรื่องแนวทางการแก้ไขต้นทุนพลังงาน การชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) รวมทั้งแนวทางการแก้ไขต้นทุนพลังงาน, การชะลอปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft), ปัญหาสูตรโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติภาคอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

ครั้งนี้ จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาข้อเสนอ ของ ส.อ.ท. เพื่อหาทางออกด้านต้นทุนพลังงานสูงใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่  

ประเด็นแรก ข้อเสนอทางออกค่าไฟฟ้า ขอให้ชะลอการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน โดยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแบกรับภาระที่เกิดขึ้น และปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น การขอใบอนุญาต รง.4 (กรณีมีการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ) การขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ในโรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการ การส่งเสริมการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้รวดเร็วและครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และการเพิ่มสัดส่วนเอทานอลด้วยน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับเอทานอล (E20) เป็นต้น 

ประเด็นที่ 2 ข้อเสนอทางออกค่า NG โดยผลักดันให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นตัวกลางในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อบรรเทาภาระระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ รวมทั้งรัฐบาลควรเร่งตั้งทีมเจรจากับประเทศกัมพูชา เพื่อนำพลังงานจากพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน 


ย้อนข้อเสนอ กกร.ก่อนหน้า 

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 65 ที่ผ่านมา มีมติเสนอให้ภาครัฐ ‘ชะลอการปรับขึ้นค่า Ft เดือน มกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน’ โดยในครั้งนั้น  กกร. ให้เหตุผลประกอบ 4 ข้อ ประกอบด้วย 

ข้อ 1. ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ซึ่งถูกปรับขึ้นถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 17% เป็น 4.72 บาท/หน่วย ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากอยู่แล้ว หากมีการปรับขึ้นอีกในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จะเป็นการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นที่รุนแรงมากถึงสองงวดติดต่อกัน และจะส่งผลกระทบรุนแรงมาก จนยากต่อการปรับตัวของทุกภาคส่วน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยเกินคาด 

ข้อที่ 2.  กกพ. ได้ประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้าว่าจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (ผลิตก๊าซจากอ่าวไทยได้มากขึ้น ราคา LNG ลดลงสู่ภาวะปกติ) จึงเป็นโอกาสให้ชะลอการปรับขึ้นค่า Ft ไว้ก่อน เมื่อต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงต่ำกว่าค่า Ft แล้ว จึงบริหารค่า Ft อย่างเหมาะสมเพื่อชดเชยและลดภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบัน 

ข้อที่ 3 ภาระค่าไฟฟ้าส่วนที่ กฟผ. แบกรับภาระแทนไปก่อนนั้น อยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี โดยวิธีการต่างๆ เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น 

ข้อที่ 4 ในสถานการณ์ที่ค่าไฟฟ้าสูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่าปกติ จนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสูงถึง 30,665 ล้านบาท (งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565) และ 32,420 ล้านบาท (งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566) จึงควรให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกันตัดทอนการลงทุนในส่วนที่เป็นเงินที่ทั้ง 3 หน่วยงานการไฟฟ้าเรียกเก็บไว้ล่วงหน้าในค่าไฟฟ้าฐานไว้แล้ว เพื่อให้ทาง กกพ. สามารถเรียกคืนเงินส่วนที่ตัดทอนได้นี้ (Claw Back) มาช่วยลดค่าไฟในช่วงวิกฤตราคาไฟฟ้านี้ 

ดังนั้น กรณีมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึง 2 งวดติดต่อกัน ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่จะสูงขึ้น ทั้งๆที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตและภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  

และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5V0sakWgJIC0SFcqu3xDXd/45ca25d8f98a0a314f90ab9b5ad5fcb2/FTI-Ft-business-economy-january-April-recession-SPACEBAR-Photo01
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6ZsAlx3hkRHM2hD3QWygG2/447fb5071c17975c6737bb891593fed8/FTI-Ft-business-economy-january-April-recession-SPACEBAR-Photo02
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1lKGccAXx8Ci5oHovBRY46/380d167c381223c150c38e5acd98aa13/FTI-Ft-business-economy-january-April-recession-SPACEBAR-Photo03

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์