กลุ่มธนาคาร ห่วงหลายปัจจัยกระทบเศรษฐกิจปีหน้า - ดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น 0.4-0.6%

8 ธ.ค. 2565 - 03:10

  • ต้นทุนในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 4 หมื่นล้านบาท ในปีหน้า จาก FIDF เป็นไปตามการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นในอนาคต

Finance-tba-forcast-thailand-economics2023-SPACEBAR-Hero
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวในทุกภูมิภาค จากภาคการท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำคัญ คาดในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 20 ล้านราย 

อย่างรไรก็ตาม ในปี2566 คาดภาพความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทยยังคงเห็นอยู่ สะท้อนจากข้อมูลของเครดิตบูโรได้รับผลกระทบราว 3 ล้านราย โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ และเดินสายมหกรรมแก้หนี้ นำร่องไปแล้วที่กรุงเทพฯ ในเดือนหน้าเตรียมไปชลบุรี และหาดใหญ่ 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโนบายอีก 0.25% กลายเป็น 1.25% ต่อปี ซึ่งกลุ่มธนาคารได้ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับนโยบายทั้งระบบ  

ขณะเดียวกัน กลุ่มธนาคารยังได้ผลกระทบจากการแบกรับต้นทุนระบบการเงินมากขึ้น จากการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อยู่ที่อัตราเดิม 0.46%  จากเดิม ธปท. ได้มีการลดอัตราการส่งเงินเข้า FIDF ไว้ที่ 0.23% โดยให้มีผลใน 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป 

“การปรับให้กลับมาส่งอัตราเดิมที่ 0.46% เป็นการปรับเพิ่มมา 1 เท่าตัว และเป็นต้นทุนสำคัญในระบบการเงิน โดยอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ในคราวเดียว” ผยง กล่าว   

ต่อการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF สู่ระดับปกติในคราวเดียวตั้งแต่ต้นปีหน้า เป็นต้นไปนั้น ทำให้ต้นทุนในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการส่งผ่านนโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นในระยะข้างหน้า 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์