ทำความเข้าใจ ‘ภาษีขายหุ้น’ ธุรกิจเฉพาะที่ถึงเวลา ‘ต้องจ่าย’

5 ธ.ค. 2565 - 07:46

  • กระทรวงการคลัง ย้ำ การเก็บภาษีหุ้น เป็นการสร้างความเท่าเทียม-เป็นธรรมในสังคม หลังธุรกิจเฉพาะด้วยกันไม่เคยได้รับยกเว้น

  • ขณะที่อีกด้าน ยังรอประเมินผลกระทบ ‘เงินทุนเคลื่อนย้าย’

Financial-Transaction-Tax-broker-fund-flow-SPACEBAR-Thumbnail
ว่ากันด้วยเรื่อง ‘ภาษีขายหุ้น’ หรือ Financial Transaction Tax ที่ต้องชี้เฉพาะว่า การเรียกเก็บครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเก็บ ‘ภาษีรายได้’ แต่จะเป็นการเก็บตั้งแต่บาทแรกของการขาย หรือคือการ ‘เก็บทั้งก้อน’ ของธุรกรรมการขายหุ้นครั้งนั้นๆ โดยที่ไม่ต้องคำนึงว่า การขายครั้งนั้น คุณจะ ‘กำไร’ หรือ ‘ขาดทุน’ จะอยู่ฝั่งไหนคุณก็ต้องจ่ายภาษี โดยร้อยละ 0.055 ในระยะแรก และร้อยละ 0.1 ตามเกณฑ์ที่กำหนดในระยะต่อไป เมื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ถูกจัดว่าเป็น ‘ธุรกิจเฉพาะ’ ที่ขณะนี้กระทรวงการคลังและกรมสรรพากร ‘ยกเลิก’ ข้อยกเว้น ‘การไม่เก็บภาษี’ ไปแล้ว ด้วยเหตุผลใหญ่คือ ต้องการสร้างความเท่าเทียมในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ ‘ธุรกิจเฉพาะ’ ด้วยกัน
 

ธุรกิจเฉพาะ มีใครบ้าง และจ่ายภาษีอย่างไร 


กล่าวได้ว่า ‘ภาษีธุรกิจเฉพาะ’ คือภาษีที่เก็บจากกิจการบางประเภทที่กฎหมาย ‘กำหนดเป็นพิเศษ’ แยกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บจากธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล และผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ด้วยแบบคำขอ ภ.ธ.01 ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มกิจการ โดยที่ธุรกิจเฉพาะ คือประเภทกิจการที่ ประกอบด้วย 

1. กิจการธนาคาร 

2. การประกอบธุรกิจธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 

3. การรับประกันชีวิต 

4. การรับจำนำ 

5. การประกอบการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่างๆ 

6. การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร 

7. การซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ 

8. การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริ่ง เป็นธุรกิจที่ลูกค้าตกลงจะโอนหนี้ทางการค้า ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริ่ง โดยผู้ประกอบการธุรกิจแฟ็กเตอริ่งนั้น ตกลงจะให้สินเชื่อรวมถึง การรับที่จะดำเนินธุรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ การบริหารลูกหนี้ การเรียกเก็บหนี้ เป็นต้น
 

ฐานและอัตราการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 


กรมสรรพากร กำหนดให้กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษี ซึ่งได้แก่ รายรับตามฐานภาษี ของแต่ละประเภทกิจการ คูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนดไว้ และจะต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก ร้อยละ 10 ของจำนวนเงินภาษีธุรกิจเฉพาะที่คำนวณได้ โดยอัตราภาษีแสดงตามตารางดังต่อไปนี้  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/eYUPSk0VHVgSc8LMxEkX4/703e72743bc1b8dfb0fc194af6e2fb12/trading_tax-01
จะเห็นได้ว่า การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ที่อยู่ในข้อ 5 เป็นภาษีประเภทเดียวที่ได้รับยกเว้นมาก่อนหน้านี้ (ตั้งแต่ปี 2534) แต่ธุรกิจเฉพาะประเภทอื่น ยังต้องเสียภาษีตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดเรื่อยมา นี่จึงเป็นกรณีการสร้างความเป็นธรรม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ ท่านกล่าวย้ำ อีกทั้งเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสม ในเมื่อรายจ่ายของประเทศเพิ่มขึ้นและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางในการเพิ่มรายได้ และแหล่งรายได้ที่สำคัญ ก็คือ รายได้จากการเก็บภาษี ช่องทางภาษีหุ้น จึงสะดวกมากสุดในเพลานี้ เนื่องจากเห็นได้ชัด ว่าตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นมาก คาดการณ์ด้วยว่า รายได้ต่อปีจากภาษีขายหุ้น มีตัวเลขกลมๆ อยู่ที่ประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 นี้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2DeAjG13KLYPvvSiU3LFAG/76c3e15de938147e6a1ccbaae8774ef2/Financial-Transaction-Tax-broker-fund-flow-SPACEBAR-Photo02
ฟากฝั่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล) หรือ โบรกเกอร์ กล่าวเช่นกันว่า ภาษีขายหุ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เดิมมีอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้น เพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย สร้างบรรยากาศความคึกคัก ใช้เวลายกเว้นมาแล้ว 30 ปี และชัดเจนแล้วว่า ขณะนี้สภาพการลงทุนไทยเติบโตขึ้นมาก กระทั่ง ครม.อนุมัติให้ ‘ยกเลิก การยกเว้นเก็บภาษีขายหุ้น’ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี ระหว่างคนที่ซื้อขายหุ้น และคนที่ไม่ได้ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีเหมือนกัน 
 

ขั้นตอนการบังคับใช้ ยาวนานแค่ไหน 


ขณะนี้ ครม.อนุมัติร่างกฎหมายฉบับนี้ (ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ จะมีคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อน หากเรียบร้อยไม่ต้องแก้ไข-เปลี่ยนแปลงใดๆ ครม.ก็จะอนุมัติร่างกฎหมาย และเสนอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อลงประกาศฯ 90 วันแล้ว กฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้ นั่นเอง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3u9NEjHsbclE1OFZhDDVpj/b904c3650189189d72f2d2e7349ea322/Financial-Transaction-Tax-broker-fund-flow-SPACEBAR-Photo03

ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ยังชี้ถึงการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะว่า จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้ 

- ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.05 (ร้อยละ 0.055 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 

- ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 (ร้อยละ 0.11 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ 

1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น 

2. สำนักงานประกันสังคม (กองทุนประกันสังคม) 

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 

5. กองทุนการออมแห่งชาติ 

6. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 

7. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 

8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3–7 เท่านั้น 

ทั้งนี้ แม้ว่า กรณีการจัดเก็บภาษีจะเป็นเรื่องเชิงนโยบาย ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาประกาศใช้ แต่ยังมีขั้นตอนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และการประกาศราชกิจจาฯ ที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งระหว่างนี้ เรายังพบว่า มีความเห็นแย้งเกิดขึ้นในผู้รู้หลายส่วน ทั้งในมุมนักเศรษฐศาสตร์, โบรกเกอร์ กระทั่งถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างจับตา-รอประเมินในทิศทางระยะต่อไปว่าจะกระทบ ‘เงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่’ แต่ในแง่การเป็นนักลงทุน คงทำอะไรได้ไม่มากไปกว่า รอติดตาม ‘ตาปริบๆ’ กันต่อไป

ที่มา: กรมสรรพากร, กระทรวงการคลัง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์