เลิกคิด!! ใช้บล็อกเชน จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

12 กันยายน 2566 - 02:19

IMC-Institute-blockchain-digital-money-10000-baht-SPACEBAR-Thumbnail
  • คนไทยยังลุ้น ใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาทที่รัฐจัดให้ ผ่านช่องทางไหน ใช่ Blockchain หรือไม่

  • ด้านคนวงการไอที ชี้ Blockchain มีข้อดีข้อเสีย โดยยังไม่รองรับธุรกรรมปริมาณมาก ที่มีความถี่สูง

  • ชี้ หากไทยใช้ได้ ถือเป็นประเทศแรกในโลก ทั้งยังได้ชื่อเป็น ‘ประเทศก้าวกระโดดทางดิจิทัล’

แม้ระยะเวลาการได้ใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโยบายพรรคเพื่อไทย จะมีกำหนดอยู่ที่ต้นปี 2567 แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายอดพูดถึงกันไม่ได้ โดยอาจเป็นเพราะว่า แนวทางที่พูดคุยขณะนี้จะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี Blockchain  

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IMC Institute ซึ่งถือเป็นคนในวงการไอที ชี้ Blockchain แม้จะมีข้อดีเรื่องความปลอดภัย โดดเด่นที่เป็นเทคโนโลยีเก็บข้อมูลดี แต่จะมีข้อเสีย ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถรองรับการทำธุรกรรมที่มีปริมาณมาก จ่ายเงินถี่ๆ ย่อยๆ และเร็วๆ จึงอาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2A4DIkuonJ2SGqLXuNbBIu/92e9c219e5cf38194370892618c76d04/IMC-Institute-blockchain-digital-money-10000-baht-SPACEBAR-Photo01
ดร.ธนชาติ ยังให้ความรู้ด้วยว่า Blockchain ในด้านเทคนิคมีหน่วยอยู่หนึ่งตัวที่เรียกย่อว่า TPS (Transaction Per Section) หมายถึง “จำนวนธุรกรรมที่ทำได้ภายในหนึ่งวินาที” ค่านี้เป็นตัวบ่งบอกความสามารถชำระเงินออนไลน์พร้อมกันของระบบต่างๆ เช่น บัตรเครดิตจะสามารถทำธุรกรรมได้สูงถึง 24,000 TPS ส่วนเทคโนโลยีบล็อกเชนตัวแรกอย่าง Bitcoin จะมีความเร็ว เพียง 7 TPS แม้ภายหลังจะมีการพัฒนาบล็อกเชนตัวใหม่ให้ทำธุรกรรม รวดเร็วขึ้น เช่น Solana ที่ 3,000 TPS และระบุว่าตามทฤษฎีจะขยายได้ ไปถึง 710,000 TPS หรือล่าสุดมี ParallelChain ที่กำลังพัฒนาใน ห้องปฏิบัติการฮ่องกงแล้ว ระบุว่าทำความเร็วได้สูงถึง 100,000 TPS แต่บล็อกเชนที่มีความเร็วสูงๆ เหล่านั้น ยังไม่ถูกนำมาใช้งานจริง

ทั้งนี้ แม้ Blockchain จะถูกจัดว่า เป็นระบบน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรม ทั้งในแง่ที่ตรวจตรวจสอบได้ และมีความปลอดภัย แต่ถ้านำไปใช้กับธุรกรรมความเร็วสูง จะทำให้ขนาดของบล็อกใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานจำนวนมหาศาล แต่นั่นย่อมมี ‘ค่าใช้จ่าย’ ในการทำธุรกรรมต่อครั้งที่มากตามไปด้วย นอกจากนี้ ในหลักการบล็อกเชน คือ การกระจายการควบคุมจากหน่วยงานกลาง ต้องตรวจสอบติดตามธุรกรรมได้ เพื่อความโปร่งใส จึงต้องใช้เวลาพอเพื่อตรวจสอบธุรกรรมแต่ละครั้ง สิ่งนี้ก็จะขัดแย้งกับการทำธุรกรรมการชำระเงิน ที่ต้องการความรวดเร็วทำแบบทันทีทันใด

อย่างไรก็ตาม หากย้อนมอง Digital Wallets ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลทั่วโลก จะพบว่า ไม่ได้มีการใช้ Blockchain โดยไม่ว่าจะเป็น ApplePay Alipay หรือแม้แต่ เงินดิจิทัลที่ต้องการความเร็วสูงอย่างเงินหยวนดิจิทัล ก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นหลักแต่อย่างใด

“เมื่อไหร่ที่รัฐบาลแจกแจกกระเป๋าเงินดิจิทัลให้ประชาชน 60 ล้านคน โดยเร่งให้ประชาชนมาใช้เงินภายในหกเดือน เชื่อครับช่วงแรกๆ ก็มีคนจะต้องรีบมาใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้จำนวนธุรกรรมต่อวินาที จะเกิดขึ้นหลายพันและอาจถึงหลักหมื่น ซึ่งจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ ในปัจจุบัน และยิ่งต้องมาพัฒนาให้แล้วเสร็จก่อนเมษายน น่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ยกเว้นจะมีการแอบซุ่มเงียบพัฒนาระบบไว้ก่อนและอาจนำนวัตกรรมบล็อกเชนตัวล่าสุดที่เตรียมไว้แล้วเปิดออกมา ก็ต้องรอดูกันต่อไป” ดร.ธนชาติ กล่าว

กล่าวได้ว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก ถ้าทำได้ สำเร็จจริง ถือว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมาก กลายเป็นผู้นำนวัตกรรมทางด้านนี้ และอาจเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการใช้เทคโนโลยี Blockchain กับประชาชนจำนวนมาก และคงเป็นการก้าวกระโดดทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยกันเลยทีเดียว ดังนั้น ต้องรอดูกันต่อว่า สุดท้ายแล้วเราจะทำได้สำเร็จจริงหรือไม่?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์