สะท้อนมุมมอง เก็บภาษีขายหุ้น ‘ผลดี-ผลเสีย’ ฝั่งไหนมากกว่ากัน?

6 ธ.ค. 2565 - 07:38

  • ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้ เก็บภาษีขายหุ้น ยังไม่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจปัจจุบัน

  • แนะเก็บจาก Capital Gain Tax สร้างความเป็นธรรม ‘คนขาดทุน’

Investment-SET-FETCO-Financial-Transaction-Tax-SPACEBAR-Hero
ยังคงเป็นที่กล่าวถึง สำหรับประเด็น การเก็บภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax ของกระทรวงการคลัง ที่ขณะนี้ อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาแล้ว และคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้เร็วสุดเดือนมีนาคม 2566 หรืออีกประมาณ 3 เดือนกว่าๆ ที่กำลังจะถึงนี้ โดยตีโจทย์การเก็บภาษีของรัฐได้ว่า อยากมีรายได้เพิ่ม นำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ แก้ปัญหาความเสี่ยงฐานะการคลังของประเทศ บรรเทาปัญหาฐานะทางการคลังที่ต้องมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมสูงขึ้นจากสังคมชราภาพ และการก่อหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้ แวดวงตลาดทุน ก็สะท้อนมุมค้าน ให้ได้เห็น 

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เคยประเมินว่า การเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้ต้นทุนการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้โปรแกรมซื้อขาย (High-frequency Trading: HFT) ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 20-30% ของการซื้อขายต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องต้นทุนการระดมทุน (Cost of Capital) ที่จะสูงขึ้น และต้นทุนภาษีที่ซ้ำซ้อน (Double Taxation) ในผลิตภัณฑ์การลงทุนบางประเภท เช่น ETF, Derivative Warrant และ Single Stock Futures  

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และอดีตประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ โดยมองว่า ภาวะตอนนี้ยังไม่เหมาะสม จากเศรษฐกิจโลกที่ยังแย่-ดอกเบี้ยโลกอยู่ในระดับสูง ส่อกระทบหนักกว่าเคยประเมินไว้ ทั้งมูลค่าซื้อโดยรวมของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงเบาบางอย่างหนักในรอบหลายปี โดยการเก็บภาษีจะซ้ำเติมให้สภาพคล่องลดลงไปอีก เพราะนักลงทุนจะมีภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ที่หนักกว่านั้น คือ จะทำให้มูลค่าการซื้อขายลดลงระดับ 30-40%  

เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ ว่าตลาดหุ้นไทยวอลุ่มใหญ่ หรือประมาณการซื้อขายหุ้นเกือบครึ่งในตลาดฯ มาจากนักลงทุนต่างชาติ หากมีการเก็บภาษีจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น กลุ่มเทรดระยะสั้นก็อาจไม่คุ้ม และจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย โดยตามสถิติในปีนี้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าซื้อหุ้นไทยจนทำสถิติใหม่ จึงไม่อยากให้สะดุดลง เพราะการลงทุนของต่างชาติมีส่วนสำคัญช่วยผลักดันสภาพคล่องและศักยภาพตลาดหุ้นไทยได้เป็นอย่างดี 

ส่วนที่กระทรวงการคลัง คาดการณ์ภายหลังการจัดเก็บภาษีขายหุ้นว่า จะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ได้ปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท ก็มองว่า เป็นไปได้ยาก เพราะกระทรวงคลังประเมินตอนมูลค่าการซื้อขายของตลาด อยู่ระดับเฉลี่ย 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันขนาดยังไม่เริ่มเก็บภาษียังมีมูลค่าการซื้อขายเพียง 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวัน และหากเริ่มเก็บภาษีจะลดลงไปอีก ดังนั้น เมื่อมูลค่าการซื้อขายลดลง ไม่มีทางที่จะเก็บภาษีจากตรงนี้ได้ระดับ 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปีอย่างแน่นอน 

นอกจากนี้ ยังจะกระทบ ธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือโบรกเกอร์ ที่อาจจะต้องเฉือนเนื้อด้วยการลดค่าคอมมิชชั่นลงอีก เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ (เมื่อลูกค้าต้นทุนภาษีเพิ่ม ย่อมมองหาทางเลือกอื่นมาชดเชย เช่น ย้ายไปเทรดกับโบรกฯ ค่าคอมฯ ต่ำกว่า) ซึ่งสวนทางกับปริมาณการซื้อขายที่จะลดลงหากมีการเก็บภาษีขายหุ้น และต้องจับตาว่าภาษีขายหุ้นนี้ จะครอบคลุมในส่วนของธุรกรรมที่ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียม เช่น Derivative Warrants (DW), Block trade ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีการเก็บทั้งหมด เพิ่มต้นทุนให้กับโบรกเกอร์มหาศาลแน่นอน 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ‘ไพบูลย์’ ยังมองมุมเชิงบวกว่า เหตุการณ์ข้างต้นอาจเป็น Effect ระยะสั้นระยะ 1-3 ปีแรกเหมือนเมื่อครั้งที่สมาคมโบรกเกอร์มีการปรับขึ้นค่าคอมมิชชั่น ก็มีความกังวลในลักษณะแบบนี้ แต่หลังจากนั้นก็กลับมาเทรดกันปกติ  

ส่วนข้อดีอีกข้อ คือ การเก็บภาษีครั้งนี้จะลดความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไรไปได้มาก ซึ่งเป็นกลุ่มยอดฮิตในช่วงหลัง ที่สร้างกำไรมโหฬารและขาดทุนบานเบอะเพียงช่วงเวลาไม่กี่วัน การเก็บภาษีจะทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตเป็นระยะยาวมากขึ้น ใช้สติและความรอบคอบมากขึ้น และอาจจะส่งผลดีต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยในระยะยาว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/40y1ft5RKM3M6Qlgv2Cuas/fa233de43ba42831154a5d67757d77e5/Investment-SET-FETCO-Financial-Transaction-Tax-SPACEBAR-Photo01
ด้าน อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าว เข้าใจการจัดเก็บภาษีของรัฐ และสนับสนุนการเก็บภาษีตลาดทุนและปฏิรูปโครงสร้างภาษีเต็มที่ และการเก็บภาษีขายหุ้นก็ไม่น่ากระทบการลงทุนโดยภาพรวมมากนัก แต่อาจไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุนที่ขายหลักทรัพย์แล้ว ‘ขาดทุน’  

จึงเสนอให้เก็บภาษีกำไร Capital Gain Tax แทนภาษีการขาย ซึ่งแม้การเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน Capital Gain Tax จะมีความยุ่งยากในการจัดการมากกว่า แต่ก็จะเป็นธรรมมากกว่าด้วย เพราะนักลงทุนที่ลงทุนแล้วขาดทุนจะไม่ต้องเสียภาษี ส่วนผู้ที่ลงทุนแล้วกำไรจากการขาย ก็ต้องเสียภาษีตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด 

นอกจากนี้ เหตุผลอีกประการหนึ่งในการเสนอให้ใช้ Capital Gain Tax แทน เพราะรัฐบาลเก็บภาษีได้ตามเป้าในปี พ.ศ. 2565 จากทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การเก็บจากกำไรจากการลงทุน ย่อมเหมาะสมกว่าการเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ในสถานการณ์ขณะนี้ 

“ในประเทศไทย ได้มีการยกเว้นภาษีซื้อขายหุ้นมามากกว่า 30 ปีแล้ว และไม่เคยเรียกเก็บในลักษณะ Capital gains Tax เพราะต้องการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน อย่างไรก็ตาม การไม่จัดเก็บภาษี Capital gains มาเป็นเวลากว่า 30 ปี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การกระจายความมั่งคั่งไม่ดีนักในระบบเศรษฐกิจไทย การไม่เก็บภาษีผลกำไรจากตลาดหุ้น ทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ระบบภาษีไทยไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขัดกับหลักการการกระจายความมั่งคั่ง กระจายรายได้ หรือการ Redistribution ในระบบเศรษฐกิจ” อนุสรณ์ กล่าว 

อนุสรณ์ ยังเสนอให้กรมสรรพากร และ ตลท. ร่วมพัฒนาระบบที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า นักลงทุนรายใดที่มีปริมาณการซื้อขายที่เข้าข่ายการเสียภาษีดังกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์