Akio Toyoda ผู้มาก่อนกาล หรือแค่วางแผนพลาด?

19 กุมภาพันธ์ 2566 - 03:31

Is-Akio-Toyoda-a-man-ahead-of-his-time-or-he-is-just--SPACEBAR-Thumbnail
  • อาคิโอะ โทโยดะ ทำให้ Toyota มีภาพลักษณ์เหมือนจะต่อต้านการผงาดของ EV

  • แต่เขามีเหตุที่ควรรับฟังไว้ และไม่แน่ว่าสิ่งที่เขาเตือนอาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่นาน

เมื่อเดือนตุลาคม 2022 อาคิโอะ โทโยดะ (Akio Toyoda) ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ Toyota ทำให้ทุกคนในวงการรถยนต์ต้องประหลาดใจ เมื่อเขาบอกกับดีลเลอร์ทั่วโลกว่า “เช่นเดียวกับรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบที่เราทุกคนควรจะได้ขับในตอนนี้ (แต่ยังไม่ได้ขับได้เต็มที่) รถ EV จะใช้เวลานานกว่าที่จะกลายเป็นกระแสหลักมากกว่าที่สื่อต้องการให้เราเชื่อแบบนั้น” 

คำพูดนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า โทโยดะ ไม่ค่อยจะอินกับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า และหมายความว่า Toyota อาจจะไม่กระโจนเข้าไปในกระแสนี้แบบเต็มตัว และยิ่งชัดขึ้นเมื่อเขาย้ำว่าจะมุ่งผลิตรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน แทนที่จะหันไปเน้น EV 

ในตอนนั้น วงการรถยนต์ระแคะระคายมาพอสมควรแล้วว่า โทโยดะ จะมุ่งไปทางนั้น และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะทวนกระแส EV 

ต่อมาในเดือนธันวาคม โทโยดะ มาเยือนประเทศไทยและบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นพลังเงียบ (silent majority) เสียงส่วนใหญ่ที่เงียบนั้นสงสัยว่า EV นั้นโอเคจริงๆ หรือเปล่าที่จะมีไว้เป็นตัวเลือกเดียว แต่พวกเขาคิดว่ามันเป็นกระแสก็เลยพูดออกมาดังๆ ไม่ได้… คำตอบที่ถูกต้องยังไม่ชัดเจน เราไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่แค่ตัวเลือกเดียว” 

คำพูดนั้นยิ่งชัดเข้าไปอีกว่า โทโยดะ เป็นคนที่สงสัยในอนาคตของ EV และเขาพยายามจะบอกว่าเขาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของคนส่วนใหญ่ในวงการรถยนต์กังขากับ EV แต่ยังเงียบไว้เพราะไม่กล้าทวนกระแส 

คงจะมีแต่ โทโยดะ คนเดียวเท่านั้นที่กล้าพูดออกมาดังๆ เขาบอกว่า “เมื่อสองปีก่อน ผมเป็นคนๆ เดียวที่ประกาศออกมาแบบนี้” 

แต่ปรากฎว่าความกล้าของเขามีราคาที่ต้องจ่าย ในเดือนถัดมา คือ มกราคม 2023 ก็เกิดฟ้าผ่าครั้งใหญ่ใน Toyota เมื่อ โทโยดะ สละเก้าอี้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร หลีกทางให้ โคจิ ซาโตะ (Koji Sato) ขึ้นมารับตำแหน่ง  

หลังจากนั้นอีกเดือนเดียว คือ กุมภาพันธ์ 2023 ซาโตะ ก็ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ของ Toyota ด้วยการหันมามุ่งเน้นไปที่การผลิต EV ในอนาคต โดยแบรนด์ Lexus จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ภายในปี 2026 (พ.ศ.2569) 

ไม่น่าแปลกใจที่ ซาโตะ เลือกที่จะผลักดันแบรนด์ Lexus นั่นเพราะเขาเคยดูแลแบรนด์ Lexus มาก่อน แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ Toyota ภายใต้การนำของเขาจะไล่ตามค่ายรถยนต์อื่นๆ ทันหรือเปล่า? หลังจากเมินเฉยต่อกระแส EV แต่กลับไปมุ่งเน้นที่การพัฒนาพลังไฮโดรเจนแทน 

Toyota ภายใต้การนำของ โทโยดะ อาจจะมั่นใจในเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน แต่เขาก็ไม่ได้ละทิ้ง EV ไปเสียทีเดียว และ Toyota มีรถ EV หลากหลายประเภทให้เลือก โทโยดะ มั่นใจในจุดนี้มากจนเขาเคยบอกในงานอีเวนต์หนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ว่า “เราสูญเสียเมื่อพูดถึงราคาหุ้น แต่เมื่อเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ เรามีเมนูเต็มรูปแบบที่ให้ลูกค้าเป็นผู้เลือก”  

นั่นเป็นยุทธศาสตร์ของเขา ซึ่งสำหรับคนทั่วไปดูแล้วไม่น่าจะเวิร์กเท่าไร เพราะในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้น Tesla ก็โค่นทั้ง Toyota และ Volkswagen ซึ่งเป็นสองค่ายรถที่มียอดขายสูงสุด แต่ ณ เวลานั้น Tesla มีมูลค่าเหนือกว่าตามราคาตลาดไปเรียบร้อยแล้ว และกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่กำลังการผลิตของ Tesla ต่ำกว่ามาก  

ตอนนั้นสัญญาณมันเริ่มไม่ดีเอามากๆ แล้ว แต่ โทโยดะ ก็ยังมั่นใจกับแนวทางของเขา แต่อะไรที่ทำให้เขาเชื่อว่าโลกยังไม่พร้อมสำหรับ EV?

นั่นก็เพราะเขาเชื่อว่าจะมี “การขาดแคลนอย่างมาก” ของลิเธียม (Lithium) และแบตเตอรี่สำหรับผลิตนิกเกิล (Battery Grade Nickel) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน  

เมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์แล้ว รถ EV ใช้แร่ธาตุในการผลิตและขับเคลื่อนมากกว่ารถ ICE ในขณะที่รถยนต์ ICE ใช้แค่ทองแดงกับแมงกานีสเป็นหลักและธาตุอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ส่วน EV จะต้องใช้ลิเธียม นิกเกิล แกรไฟรต์ โคบอลต์ แรร์เอิร์ธ แมงกานีส และทองแดง  

ในบรรดาแร่ธาตุเหล่านี้ มีบางชนิดที่มีจำนวนน้อยมาก และเริ่มหายาก และความน้อยและหายากของมันสวนทางกับความต้องการที่สูงมาก จนกระทั่งทำให้เกิดการกระทบกระทั่งในระดับภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ออสเตรเลีย (รวมถึงสหรัฐและยุโรป) ที่มีปัญหาทางการเมืองกับจีน ต้องการที่จะแย่งความเป็นเจ้าตลาดลิเธียมเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งอุตสาหกรรมลิเธียม (และเจ้า EV) ของจีน หรือจะเป็นการที่ Tesla เข้าไป ‘จอง’ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นขุมทรัพย์นิกเกิลที่สำคัญของโลก 

ความขาดแคลนและความขัดแย้งจากปัจจัยการผลิต EV อาจเป็นสิ่งที่ โทโยดะ มองเห็น ดังนั้นเขาจึงยังไม่เชื่อว่า EV จะครองตลาดเต็มที่ในเวลาสั้นๆ  

เขายังประเมินจากความเป็นไปได้ในเชิงการจัดจำหน่ายที่ต้องใช้เวลานานกว่า 7 ปีกว่าที่ EV  จะมียอดขาย 7-8 ล้านคันต่อปี และความสะดวกในการจัดหาสถานีชาร์จเร็วให้ครอบคลุม ซึ่งจะเป็นปัญหาติดขัดแม้แต่ในยุโรปที่มีแผนที่ค่อนข้างรัดกุมในเรื่องสถานีชาร์จ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน (ซึ่งมีผู้ใช้รถส่วนบุคคลจำนวนมากและมีความต้องการที่ชาร์จสูง) 

แต่ดูเหมือนว่าประเด็นที่น่ากังวลกว่าคือ โลกของเราจะเอาทรัพยากรที่ไหนมารองรับความต้องการ EV ที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้? 

และการทำเหมืองแร่ต่างๆ เพื่อผลิต EV ยังกลายเป็นความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ในด้านหนึ่ง EV อาจจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ แต่ในด้านหนึ่งในก็มีส่วนทำลายโลกในแบบของมันเหมือนกัน 

โทโยดะ เองก็ไม่เชื่อว่า EV จะเป็น ‘ผู้ช่วยให้รอด’ ในด้านสิ่งแวดล้อม เขาเชื่อมั่นว่าสูตรของเขามีส่วนช่วยลดคาร์บอนได้มากกว่า อย่างที่เขาเคยบอกว่า “โตโยต้าสามารถผลิตปลั๊กอินไฮบริดระยะทาง 40 ไมล์ได้ 8 คันเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ระยะ 320 ไมล์ (ในจำนวนเท่ากัน) และช่วยลดคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 8 เท่า”  

แต่การความเชื่อมั่นของ โทโยดะ ดูจะสวนทางกับการประเมินของ Greenpeace เมื่อปี 2021 ที่ให้ Toyota เป็นค่ายรถที่มีผลงานแย่ที่สุดในแง่ของการลดการปล่อยคาร์บอน สาเหตุหนึ่งก็คือเพราะ Toyota ขายรถ EV น้อยที่สุด และ “Toyota ไม่มีการลงมือหรือมีความตั้งใจที่จะยุติการจำหน่ายรถยนต์ ICE” 

สิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจเป็นสาเหตุให้ โทโยดะ ต้องพ้นจากตำแหน่งไป แต่สื่อบางแห่งยังเชื่อว่าเขายังมีอำนาจอยู่เบื้องหลังอยู่ดี ถ้าเป็นแบบนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ไม่แน่ Toyota อาจจะยอมทำตามกระแสไปก่อน เพื่อจะรอดูว่าสิ่งที่ โทโยดะ กังวลเกี่ยวกับ EV จะเป็นจริงหรือไม่?  

ก่อนที่จะถึงวันนั้น โทโยดะ บอกกับดีลเลอร์ว่า “ในระหว่างนี้ พวกคุณมีตัวเลือกมากมายให้ลูกค้า” 

ส่วนลูกค้าจะเลือกซื้อรถตามสูตรของ โทโยดะ หรือสูตร EV เต็มตัว เดี๋ยวก็รู้กัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์