ไลน์แมนวงใน เล็งซื้อฟู้ดแพนด้า ในไทย คาดมูลค่าดีลกว่า 3,500 ล้านบาท

14 ธ.ค. 2565 - 02:45

  • ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่มูลค่าเฉียด 8 หมื่นล้านกำลังสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ หลังกระแสข่าว ไลน์แมนวงใน หนึ่งในแพลตฟอร์มออนดีมานด์รายใหญ่ของไทย กำลังเจรจาซื้อฟู้ดแพนด้า ในไทย

It-tech-lineman-wongnai-m&a-foodpanda-food-delivery-SPACEBAR-Thumbnail
รายงานข่าว บลูมเบิร์ก ระบุไลน์แมน วงใน  (Line Man Wongnai) ผู้ให้ริการแพลตฟอร์มออนดีมานด์ เตรียมเจรจาซื้อกิจการฟู้ดแพนด้า  (Foodpanda) แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ในประเทศไทย จากกลุ่มทุนเยอรมนี Delivery Hero ตามแผนนำธุรกิจระดมทุน IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า 

สำหรับการเจรจาข้อตกลงธุรกิจในครั้งนี้ คาดพิจารณามูลค่าอยู่ที่ราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐอมเริกา หรือกว่า 3,500 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1ดอลลาร์สหรัฐ/35บาท) ซึ่งในอนาคตมูลค่าอาจเปลี่ยนไปตามแนวโน้มของตลาดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเจรจาดีลธุรกิจดังกล่าวยังไม่มีคำยืนยันใดๆที่ชัดเจนออกมาจากผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย  

รายงานข่าวระบุ อีกว่าการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ของไลน์แมนวงใน จะยังเป็นการเข้ามาสนับสนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ของประเทศไทย และจะยังเป็นผู้ให้บริการธุรกิจมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย  

ปัจจุบันแอปพลิเคชันไลน์ (Line) เป็นแอปฯส่งข้อความที่ได้รับความนิยมสูงสุด ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากการควบรวมกิจการกับ Z Holdings Corp. ของ SoftBank Group Corp. ในปี 2564 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Line Man Wongnai โดยก่อตั้งขึ้นในปี 2563 จากการควบรวมบริการจัดส่ง Line Man และแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารไทย Wongnai ด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  

ล่าสุดในปีนี้ ไลน์แมนวงใน ยังได้ประกาศระดมทุนรอบซีรีส์บี มูลค่า 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (9,700 ล้านบาท) นำโดย GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ และบริษัท LINE Corporation ซึ่งการระดมทุนรอบนี้ยังมี BRV Capital Management, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR), Bualuang Ventures และ Taiwan Mobile ร่วมลงทุนด้วย 

อนึ่ง ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ มูลค่าตลาดการสั่งอาหารยังที่พัก (ฟู้ดเดลิเวอรี่) ในปี 2565  (ฐานคำนวณใหม่ รวมร้านอาหาร เบเกอรี่และเครื่องดื่ม) จะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% โดยคาดว่ากลุ่มร้านอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าภาพรวม ได้แก่ ร้านอาหาร Limited Service (เช่น เบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด เป็นต้น) และ Street food ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักให้ความสำคัญในการทำการตลาดและขยายพอร์ทร้านอาหารบนแพลตฟอร์มของตน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์