กกร. ห่วงส่งออกยังสะดุด ท่องเที่ยวเด่น แต่ต้องเติมแรงงานด่วน

12 ม.ค. 2566 - 03:50

  • กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้น ท่องเที่ยวแนวโน้มโดดเด่น แนะเติมแรงงานให้เพียงพอเพื่อรับการฟื้นตัว

  • พร้อมห่วงส่งออก หลังมีสัญญาณชะลอตามเศรษฐกิจโลก คงจีดีพีปี 66 ไว้ที่ 3-3.5%

JSCCIB-economy-Thailand-travel-fill-labor-Export-still-slow-SPACEBAR-Thumbnail
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประชุมคณะกรรมการฯ ประจำเดือนพฤศจิกายน ประเมินสภาวะเศรษฐกิจ และสัญญาณต่างๆ 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. เผยเศรษฐกิจไทยยังมีหลายด้านต้องจับตา ภายหลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีน ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็จะกลับมาเดินหน้าฟื้นตัวได้มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตได้ระดับ 5% ตามเป้าหมายได้ หลังจากที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายในปีที่ผ่านมา จะช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากเกินไปในภาวะที่ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาพลังงานในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจไทย ได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว 

สนั่น ชี้ ‘เศรษฐกิจไทย’ มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว แนวโน้มภาคท่องเที่ยว ฟื้นตัวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 11.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดการณ์ ช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวได้ อัตราการเข้าพักโรงแรม ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 63% เข้าใกล้ระดับปกติที่ 77%  และปี 2566 นี้ มีปัจจัยหนุนจากการที่ประเทศจีนเปิดประเทศ คลายมาตรการกักตัวภาคบังคับ ตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งน่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจสูงได้ถึง 20 – 25 ล้านคน

ดังนั้น ความกังวลของเอกชนขณะนี้ อยู่ที่ ‘ปัญหาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขาดแคลน’ จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางในการดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวดังกล่าวต่อไป

มุมมองเศรษฐกิจไทย ปี 2566

เศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยแม้แนวโน้มภาคท่องเที่ยวจะดีขึ้น แต่ภาคส่งออก ยังมีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน  

ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%

แนะเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ กกร. ยังได้มีความเห็นเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ดังนี้
- ผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม จากการยกเลิกการผ่อนปรนเงินนำส่งกองทุน FIDF ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 0.23% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี ตามที่ได้เคยปรับลดไปช่วงก่อนหน้า
โดยสมาคมธนาคารไทยยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม เร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล, การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

- สำหรับประเด็นค่าไฟฟ้า (Ft) ต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจ แม้รัฐจะช่วยหาทางออก รับฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชน แม้ไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอฯ กกร.ก็ขอบคุณ และต้องมีการปรับตัว เช่น อาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วน โดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังหวังว่าตลอดทั้งปีนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากทุกภาคส่วน

โดย กกร. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน task force ด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs วางแผนและนำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5ob8jEZFEbaCmCR2T5fzQX/3d36bd45b2f91f592aa425f2c6a4a31a/JSCCIB-economy-Thailand-travel-fill-labor-Export-still-slow-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์