สังคมอยากรู้! ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ ขายชาติ’

16 พ.ย. 2565 - 08:43

  • ภาคอสังหาฯ (REIC) เชื่อรัฐมีนโยบายชัด ให้ต่างชาติศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ‘ซื้อที่ดิน’ แต่แนะเคลียร์ให้ชัดทุกประเด็น ปัดตอบ ‘แก้ตัว’

  • ด้านหอการค้าฯ ‘ตั้งคณะทำงาน’ ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาผลดีผลเสีย ก่อนตอบคำถามสังคม

LTR-Visa-REIC-TCC-Land-economic-stimulus-real-estate-SPACEBAR-Main
การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินต่างชาติ ถือว่า เป็นการทำงานที่ค่อนข้างเห็นผลเร็ว ยิ่งเข้าไปอยู่ในธุรกิจมูลค่าสูง เป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่คาดหวังกันว่า เม็ดเงินจะเข้ามาสูงมาก ขนาดกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทีเดียว เราจึงได้เห็นการเชิญชวนต่างชาติของภาครัฐ ในแทบจะทุกมิติของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุน ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ด้าน ‘อสังหาริมทรัพย์’ ที่ขณะนี้คงเหลืออยู่ในตลาดค่อนข้างมาก ภายหลังเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิดมายาวนาน 3 ปี

แต่หนทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ ครม.เห็นชอบในหลักการ เรื่องการเปิดให้สามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินหรือซื้อที่ดิน เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติศักยภาพสูง เข้ามาลงทุนสร้างสวัสดิภาพให้ตัวเอง ด้วยเงินทุน 40 ล้านบาท แลกกับการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ พร้อมให้วีซ่าพำนักระยะยาว (LTR Visa) จนกลายมาเป็นประเด็นร้อนและถูกตั้งคำถามในสังคมว่า การให้ต่างชาติซื้อที่ดินที่อาจคิดไปถึง ‘แผ่นดินไทย’ นั้น เป็นการ ‘ขายชาติ’ หรือไม่?
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/KB372s2ZaX65VtAmQHM7b/3a11e8c2c204b2c5ed5bb3c3215a8ca3/LTR-Visa-REIC-TCC-Land-economic-stimulus-real-estate-SPACEBAR-Photo01
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตอบในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ระบุถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขณะนี้ประสบปัญหาวิกฤตโควิด กระทบมาต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี ว่าจะเป็น ‘เรื่องดี’ ที่สามารถทำได้ และไม่ใช่เรื่องเสียหาย เนื่องจากหลายประเทศก็ใช้นโยบายนี้ นับเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนหนึ่ง ที่จะดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาสู่ประเทศไทย สร้างให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ เชื่อมโยงเม็ดเงินใน Ecosystem ภาคอสังหาฯ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็น วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน สินค้าอำนวยความสะดวก เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

แต่รัฐ ‘ควรเคลียร์ให้ชัด’ ในข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ และอธิบายให้สังคมทราบ เช่น การอนุญาตนั้นรัฐบาลจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทยในช่วงกี่ปี (กำหนดระยะเวลา) โดยอาจไม่ใช่เปิดนโยบายนี้ตลอดไป และควรกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นที่อยู่อาศัยระดับราคาใด เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อที่ดินและที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่อยู่ในกำลังซื้อของคนไทยส่วนใหญ่ เช่น รัฐบาลอาจไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านและที่ดินในระดับราคาไม่เกิน 10 หรือ 15 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ รวมถึงควรกำหนดระยะเวลาในการถือครองกรรมสิทธิ์ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการเก็งกำไร เช่น ไม่น้อยกว่า 3 - 5 ปี ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการเก็งกำไรในที่ดินและราคาที่อยู่อาศัย และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ได้
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/22X68oSC4hu624yGls5Hio/ff8699b6b3895455de132b75e5807116/LTR-Visa-REIC-TCC-Land-economic-stimulus-real-estate-SPACEBAR-Photo02
นอกจากนี้ ยังควรมีการกำหนดภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นคนต่างชาติในอัตราที่แตกต่างจากคนไทย และการกำหนดเรื่องกฎเกณฑ์การขายบ้านและที่ดินเมื่อชาวต่างชาติต้องการขายต่อเมื่อผผ่านไประยะเวลาหนึ่งแล้วให้ชัดเจนอีกด้วย

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเปิดให้คนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ โดยพบว่า ในช่วงก่อนเกิด COVID-19 มีการโอนกรรมสิทธิ์ปีละมากกว่า 10,000 หน่วย มูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นประมาณ 5% ของการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ แต่หากเปิดให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้ คาดว่าก็น่าจะทำให้เกิดมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มสูงสุดได้อีกประมาณ 50,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท จากมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในแต่ละปีจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้สัดส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่ซื้อโดยคนต่างชาติเพิ่มจาก 5% เป็น 15% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งประเทศ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คาดว่า ในระยะแรกจะยังส่งผลบวกต่อภาคอสังหาฯ ไม่มากนัก เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการประชาสัมพันธ์และกลุ่มคนต่างชาติต้องการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแบบระยะยาวก็อาจจะต้องมีการเตรียมการในเรื่องการซื้อที่อยู่อาศัยและการปรับเปลี่ยนสถานที่ในการอยู่อาศัย รวมถึงการขออนุญาตต่างๆ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณของอุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถขายอสังหาฯในประเทศมากขึ้น และจะส่งผลบวกในการลดภาวะอุปทานสะสมอสังหาฯในตลาดให้ลดลง และเกิดการผลิตอุปทานอสังหาริมทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการผลิตทั้งในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาฯ ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำขยายตัวขึ้น รวมถึงเกิดการจ้างงานมากขึ้น หรือที่เรียกว่า เกิด multiplier effects ในระบบเศรษฐกิจ
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4lMl84EjwEgyrHTh2wd9rN/d6e0465daa577c1dd45bedf4ad78669e/LTR-Visa-REIC-TCC-Land-economic-stimulus-real-estate-SPACEBAR-Photo03
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผย หอการค้าฯ มอบหมายให้สถาบันที่เป็นหน่วยกลาง ไปรวบรวมข้อมูลการดำเนินการของหลายประเทศ ว่ามีวิธีการทำอย่างไร โดยคณะทำงานจะว่าจ้างสถาบันที่เชี่ยวชาญมาศึกษาผลกระทบ ผลผีผลเสียที่จะเกิดขึ้น โดยผลวิจัยออกมาช่วงปลายปี และหอการค้าไทยจะเสนอผลศึกษาให้รัฐบาลรับทราบต่อไป

นอกจากนี้ ยังจะนำข้อมูลนี้เข้าพูดคุยหารือกับประเทศต่างๆ ที่เข้ามาประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประทศไทยต่อไป

สำหรับข้อสงสัย รัฐบาลเปิดนโยบายนี้เป็นการขายชาติหรือไม่ สนั่น มองว่า หากมีการลงทุนตามเงื่อนไข ก็ไม่ได้มองว่าเป็นการขายชาติ และเป็นความตั้งใจดี ที่ต้องการให้เศรษฐกิจดีขึ้น ภายหลังทั่วโลกคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้า จะชะลอตัวลงอีก ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจล่วงหน้า จำเป็นจะต้องหาช่องทางเพื่อดึงดูดการลงทุนให้มากที่สุด และไทยก็มีความพร้อม เช่น พื้นที่ อีอีซี ที่สามารถรองรับการลงทุนได้เป็นอย่างดี หากเป็นผลดี จึงค่อยๆ ขยายโอกาสไปในพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์