รู้จัก 2 ผู้รับเหมา สะพานถล่มที่ลาดกระบัง

11 ก.ค. 2566 - 11:59

  • สะพานข้ามแยกฯ ลาดกระบัง ‘พังถล่ม’ สะท้อนอะไร?

  • พารู้จักผลงานผู้รับเหมา ได้งานต่อเนื่อง 18 ปีเต็ม

Lat-Krabang-bridge-collapse-Tarawan-Napa-Construction-SPACEBAR-Thumbnail
โศกนาฏกรรมสะพานข้ามแยก ‘โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช ลาดกระบัง’ ระยะทาง 3.9 กม. ที่แม้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีเหตุให้พังถล่มลงมา ก่อนถึงเวลาส่งมอบ...นับเป็นปรากฏการณ์หวาดผวา คร่าชีวิตคนไปแล้ว 2 ราย กลายเป็นเรื่อง ‘ต้องสงสัย’ ว่า ใครกันหนอ ต้องรับผิดชอบ! เพราะไม่ใช่แค่ความสูญเสียกับชีวิตบุคคลอันเป็นที่รักของ 2 ครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงถึง ผลเสียหายกับ ‘งานภาครัฐ’ ทั้งในวันนี้และอนาคตด้วยหรือไม่? 
 
รื้อดูไปมาก็พบว่า โครงการนี้ เป็นผลงานการร่วมมือกันทำงาน ภายใต้ชื่อ ‘กิจการร่วมค้าธาราวัญ-นภา’ หรือคือ บริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชัน จำกัด มาร่วมมือทำงานกับบริษัท นภา ก่อสร้าง จำกัด รับโครงการของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ภายใต้ชื่อ ‘โครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง’ นี้ไปทำ  
 
โดยจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 2,200 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับ) ในแนวเกาะกลางถนนลาดกระบัง มูลค่าโครงการที่ 1,938 ล้านบาท  
 
โครงการนี้ มีจุดเริ่มต้นบริเวณสะพานข้ามคลองหนองคล้า ใกล้กับซอยลาดกระบัง 9/7 ยกระดับข้ามทางเข้าถนนฉลองกรุง สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ข้ามสะพานคลองหัวตะเข้ ตลาดหัวตะเข้ ผ่านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบัง เข้าแนวเกาะกลางถนนหลวงแพ่ง ผ่านวัดพลมานีย์ และมีทางลดลงไปสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหน้าสำนักงาน กปน. สาขาสุวรรณภูมิ  
 
สัญญาก่อสร้างของโครงการนี้ รวมทั้งสิ้น 900 วัน เริ่มตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ถึง 11 สิงหาคม 2566 จุดนี้เท่ากับว่า “เหลือเวลาอีก 1 เดือน โครงการนี้ ต้องแล้วเสร็จ!” 

แล้วทำไมถึงพังพาบ! 

การพังลงอย่างไม่เป็นท่า ยังไม่มีใครชี้ได้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับโครงการฯ นี้ ได้แต่ฟังพยานแวดล้อม อย่างเช่น คอมเมนท์ผ่านยูทูป ของผู้สัญจรผ่านจุดโศกนาฏกรรม ว่า...ป็นคนหนึ่งที่ใช้เส้นทางนี้ทุกวัน เห็นทุกอย่างต่ำกว่ามาตรฐานทั้งหมด ตั้งแต่ป้ายเตือนก่อนถึงจุดก่อสร้าง ความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน ‘ไม่มี’ คนงานใส่รองเท้าแตะทำงาน ไม่มีหมวกเซฟตี้ การขึ้นที่สูงไม่มีเบล์ท สภาพโครงเหล็กที่ใช้ยกชิ้นส่วนสะพาน ‘เก่ามาก’ 
 
ในข้อเท็จจริง ยังมีการกล่าวถึงปัญหาอุปสรรค์อีกหลายด้าน เช่น  
  • ‘ความล่าช้า’ จนต้องขยายสัญญาเพิ่ม 1 ปี 
  • การทุบสะพานหนองปรือ ช้ากว่ากำหนด 2 ปี 
  • เดือนกรกฎาคม ปี 2565 มีการขอลาออก ของ ผอ.เขตลาดกระบัง ซึ่งกล่าวกันว่า มีเหตุที่มา เพราะ ‘พบปมทุจริต’  
  • เดือน มกราคม ปี 2566 ส.ก. เพื่อไทย ยื่นกระทู้ถามเหตุล่าช้า-ความปลอดภัย-รบกวนประชาชน-การไม่มีคนของเขตร่วมโครงการ 
  • ฯลฯ
จุดต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ ที่กลายเป็นข้อสงสัยของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น? ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบชัดเจนได้อีก! เราจึงไปดูกันว่า 2 บริษัทนี้ เขาทำอะไรกันมาบ้าง? 
 
สำนักข่าวอิสรา เป็นสื่อหนึ่งที่ ‘เอ๊ะ’ มาตั้งแต่ปี 2562 ถึงขนาดลงไปดูว่า ‘ธาราวัญ’ คุณทำอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง? พบว่า เป็นบริษัท ที่จดทะเบียนตั้งบริษัท เมื่อปี 2539 ทุนจดทะเบียนแรก 1 ล้านบาท ก่อนเพิ่มทุน 3 ครั้ง ที่ 60 ล้าน 150 ล้าน และ 400 ล้าน มีชื่อ ‘เทวัญ ลิปตพัลลภ’ เป็นทนายความรับรองให้การแจ้งกรรมการของบริษัท ในปี 2554 โดยบริษัทนี้ มีที่ตั้งอยู่ย่านฝั่งธน (เพชรเกษม 72) ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านแถว และยังพบอีกว่า ในปี 2562 ข้อมูล กกต. เผยบัญชีทรัพย์สิน สส. รายหนึ่งแจ้งมีที่อยู่ ในซอยเดียวกันกับที่เป็นบ้าน 1 ใน 8 หลัง อันเป็นที่ตั้งบริษัท ธาราวัญ นั่นเอง และบริษัทนี้ ยังใช้ชื่อ อีเมล ว่า [email protected] 
 
กล่าวได้ว่า ชื่อเสียงของ ธาราวัญ เป็นที่ยอมรับของภาครัฐ ได้เป็นคู่สัญญากับภาครัฐมาต่อเนื่องยาวนานถึง 18 ปี มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท โดยนอกจากโครงการของ กทม.แล้ว เป็นที่ยอมรับของกระทรวงคมนาคม ผลงานตั้งแต่ ปี 2554 -2562 ได้เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ อย่างน้อย 63 สัญญา ส่วนใหญ่เป็นโครงการของ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม 
 
ด้าน ‘นภา ก่อสร้าง’ ก็ยังพบด้วยว่า ครั่งหนึ่งที่รับงานสร้างถนนพระราม 2 ก็เคยมีเหตุ ‘เครนล้ม ขวางถนนพระราม 2’ มาแล้ว แต่ครั้งนั้น เป็นการรับจ้างในฐานะกิจการร่วมค้า VN (โดยที่ V คือ บริษัท วิจิตภัณฑ์ ก่อสร้าง จำกัด ประกอบกิจการทั้ง ก่อสร้าง น้ำมันปาล์ม และสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และ N คือ นภา ก่อสร้าง จำกัด) 
 
จับตาดูต่อไปว่า สะพานถล่มครั้งนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร ในวงการรับงานก่อสร้างภาครัฐได้บ้าง “เห็น 2 โลงศพนี้แล้ว จะหลั่งน้ำตา แก้ปัญหาใต้พรม ได้หรือยัง?”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์