พาณิชย์ ชี้ผลดี เงินเฟ้อ ‘ลด’ ช่วยพยุงใช้จ่าย

29 ส.ค. 2566 - 05:04

  • สนค. สำรวจเงินในกระเป๋า หลังเงินเฟ้อโลกและไทยลดแล้ว เป็นอย่างไร? พบส่วนใหญ่ใช้จ่ายเหมือนเดิม มีเพียงเล็กน้อย ที่ชี้ใช้จ่ายลด

  • ย้ำนี่เป็นจุดสะท้อนการช่วยประชาชนประคับประคองให้ใช้จ่ายได้ ‘ในระดับเดิม’

MOC-TPSO-inflation-reduce-spending-high-interest-performance-SPACEBAR-Hero
ถือเป็นข่าวดีของเงินในกระเป๋า เมื่ออัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรกของปี 2566 ในหลายเขตเศรษฐกิจทั่วโลก มีแนวโน้ม ‘ชะลอตัว’ ซึ่งนั่นหมายความว่า โลกของการจับจ่ายที่สูงมาตลอด จะได้ลดลงเสียที และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยตัวเลขก่อนหน้านี้ ว่าอยู่ที่ 2.49% ต่ำเป็นอันดับ 9 ของโลกจาก 130 เขตเศรษฐกิจ ที่มีการประกาศตัวเลขออกมา  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เงินเฟ้อที่ลดลง มีผลกับประชาชนอย่างไร? สนค. จึงทำการสำรวจ (ช่วงเดือนกรกฎาคม ในทุกอำเภอทั่วประเทศ) ในประเด็นการใช้จ่ายของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน แล้วประชาชนเห็นอย่างไรบ้าง?  

ประเด็น ‘การใช้จ่าย’ พบ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ไม่ได้ทำให้การใช้จ่ายลด โดยประชาชนมากกว่าครึ่งตอบว่า ยังใช้จ่ายเหมือนเดิม และมีจำนวนน้อย ที่บอกว่า ใช้จ่ายลดลง  

ด้าน ‘อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น’ กระทบต่อการใช้จ่าย การออม และการลงทุน ในระดับปานกลาง ‘ถึง’ มาก โดยมีแนวทางลดผลกระทบ คือ การลดการซื้อของฟุ่มเฟือย  

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่ลดลงนี้ ก็ทำให้ประชาชน รู้สึก ‘พึงพอใจ’ ต่อนโยบายการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ด้านต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาตลอดครึ่งปีแรกของปี 2566
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/24ugEQsA8jEbZmZ9Wq7TZI/5ceca4c06bd2864ed8f8cced29d6e05c/MOC-TPSO-inflation-reduce-spending-high-interest-performance-SPACEBAR-Photo01
Photo: พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. เผย ความพึงพอใจนี้อยู่ในระดับปานกลาง – ดีมาก โดยเฉพาะด้านคุณภาพของบุคลากร ประสิทธิภาพการทำงาน และบริการต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

1. การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เงินเฟ้อลดลง พบว่า ในภาพรวม ยังใช้จ่ายเท่าเดิมเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 44.31 ของผู้ตอบทั้งหมด) ตามด้วย ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 31.25) และใช้จ่ายลดลง (ร้อยละ 24.44)  หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 68.75) ใช้จ่ายเท่าเดิมและลดลง สะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อที่ลดลงช่วยประคับประคองให้ประชาชนยังสามารถใช้จ่ายได้ในระดับเดิม และมีบางส่วนที่ภาระค่าใช้จ่ายลดลง 
  • เมื่อพิจารณาเป็นรายอาชีพ และระดับรายได้ พบว่า สอดคล้องกับภาพรวม คือ ยังใช้จ่ายเท่าเดิมเป็นอันดับแรก เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่มีสัดส่วนผู้ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ (ร้อยละ 45.0) และผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 38.14) อาจสะท้อนว่าประชาชนกลุ่มนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการบางส่วนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง 
  • ประเภทค่าใช้จ่ายที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก มีความสอดคล้องกัน คือ ค่าอาหารและเครื่องดื่มทานที่บ้าน ค่าไฟฟ้า/ประปา และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผู้ตอบเป็นรายอาชีพ พบว่า เกือบทุกอาชีพและระดับรายได้มีความเห็นสอดคล้องกับภาพรวม มีเพียงนักศึกษา ที่ระบุว่าค่าใช้จ่ายที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือลดลง คือ ค่าอาหารและเครื่องดื่มทานที่บ้านและที่ร้าน และค่าโทรศัพท์/อินเตอร์เน็ต 
2. ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ต่อการใช้จ่าย การออม และการลงทุน พบว่า ในภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับผลกระทบระดับปานกลาง (ร้อยละ 32.71) รองลงมาคือ กระทบมาก (ร้อยละ 26.29) และไม่มีผลกระทบ (ร้อยละ 24.07) หรืออาจกล่าวได้ว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 59.0) ที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง – มาก 
  • เมื่อพิจารณารายอาชีพและระดับรายได้ พบว่า ผลการสำรวจสอดคล้องกับภาพรวม คือ ได้รับผลกระทบระดับปานกลางเป็นอันดับแรก มีเพียงผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ เกษตรกร และผู้มีรายได้ 40,001 – 50,000 บาท/เดือน ที่ได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 30.0 ร้อยละ 29.13 และร้อยละ 29.35 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบระดับปานกลาง – มาก พบว่า กลุ่มที่มีสัดส่วนสูงกว่าภาพรวม (ร้อยละ 59.0) ครอบคลุมเกือบทุกอาชีพและรายได้ ได้แก่ ผู้ประกอบการ (ร้อยละ 62.65) นักศึกษา (ร้อยละ 62.23) อาชีพอิสระ (ร้อยละ 59.83) พนักงานของรัฐ (ร้อยละ 59.70) ผู้มีรายได้ 30,001 – 40,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 64.35) 50,001 – 100,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 63.86) และต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 62.97) 
  • สำหรับแนวทางการปรับตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ น้อย – ปานกลาง 3 อันดับแรก ได้แก่ การลดการซื้อของฟุ่มเฟือย การลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  และการชะลอการลงทุน/การทำธุรกิจ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบมาก ก็ใช้แนวทางข้างต้นเช่นกัน โดยเน้นการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก เป็นที่น่าสังเกตว่า การพิจารณาเป็นรายอาชีพและระดับรายได้ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบทุกระดับของกลุ่มเกษตรกรและผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน จะลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก สะท้อนถึงความสามารถในการวางแผนทางการเงินที่ค่อนข้างจำกัด และอาจได้รับผลกระทบมากหากเผชิญภาวะค่าครองชีพและหนี้ที่สูงขึ้น 
3. ความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าพอใจในระดับปานกลาง – ดีมาก ซึ่งเป็นระดับเดียวกับการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนระดับปานกลาง – ดีมาก สูงสุด 3 อันดับแรก คือ คุณภาพของบุคลากร (ร้อยละ 83.19) ประสิทธิภาพการทำงาน (ร้อยละ 81.74) และการเข้าถึงบริการต่าง ๆ อาทิ กิจกรรม และข้อมูล ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว (ร้อยละ 81.53) 
  • เมื่อพิจารณาตามภาค พบว่า ประชาชนพึงพอใจระดับปานกลาง – ดีมาก เฉลี่ยสูงสุดในภาคกลาง (ร้อยละ 87.54) ตามด้วย ภาคเหนือ (ร้อยละ 86.04) ภาคใต้ (ร้อยละ 83.48) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 84.21) และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ร้อยละ 59.65)  
  • เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า ประชาชนพึงพอใจระดับปานกลาง – ดีมาก เฉลี่ยสูงสุดในอาชีพอิสระ (ร้อยละ 87.54) ตามด้วย เกษตรกร (ร้อยละ 83.24) พนักงานของรัฐ (ร้อยละ 82.98) ผู้ประกอบการ (ร้อยละ 82.91) นักศึกษา (ร้อยละ 78.06) พนักงานเอกชน (ร้อยละ 77.44) และผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ (ร้อยละ 73.41) 
  • เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ เห็นว่า การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์อยู่ในระดับปานกลาง – ดีมาก โดยเฉลี่ยต่ำว่ากลุ่มอื่น 
พูนพงษ์ กล่าวสรุปถึงผลการสำรวจครั้งนี้ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การลดลงของเงินเฟ้อมีส่วนช่วยให้ประชาชนยังคงใช้จ่ายได้ในระดับเดิมและลดลง ทั้งนี้ ยังคงมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จะสามารถช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชนกลุ่มนี้ได้  

สำหรับความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ที่อยู่ในระดับปานกลาง – ดีมาก แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังคงพึงพอใจต่อการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงฯ ออกแบบนโยบาย

ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ มากขึ้น จะส่งผลให้นโยบายและการดำเนินงานของกระทรวงฯ สามารถตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์