จับตา ‘เมอร์รี่คิงส์’ วงเวียนใหญ่ โฉมใหม่!

3 พ.ค. 2566 - 10:02

  • บันทึก ‘เมอรี่คิงส์’ ห้างดังยุค 30 ปีก่อน จะเปลี่ยนแปลงทางไหน?

  • หลังส่อเค้า ‘ทุนยักษ์’ เข้าพลิกโฉมสาขาสุดท้าย ที่ ‘วงเวียนใหญ่’

MerryKing-Wongwian-Yai-new-investment-legend-SPACEBAR-Thumbnail
‘เมอรี่คิงส์’ ชื่อห้างสรรพสินค้า ที่คนไทยที่มีอายุ 40 ปีขึ้น คุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างดี ในฐานะที่เป็นห้างสรรพสินค้า ภายใต้สโลแกน ‘เมอรี่คิงส์ มีทุกสิ่งให้เลือกสรร’ โดยห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เริ่มก่อตั้งเมื่อ 11 เมษายน 2520 ในฐานะที่เป็น ‘ดีพาร์ทเมนต์สโตร์’ ย่านวังบูรพา ซึ่งบูมมากที่สุดในยุคนั้น ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น ‘ห้างสรรพสินค้า’ เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ... ไม่นาน ก็ขยายเพิ่ม 6 สาขา คือที่สะพานควาย, วงเวียนใหญ่, รังสิต, ปิ่นเกล้า บางใหญ่ และประตูน้ำพระอินทร์ เรียกได้ว่า เป็นการกระจายสาขาทั้งในกรุงเทพมหานคร และชานเมืองทีเดียว  
 
แต่แล้วด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้ต้องทยอย ‘ปิดตัวลง’ ไม่เว้นแม้เมอรี่คิงส์ วงเวียนใหญ่ ที่ไม่ได้มีทุกสิ่งให้เลือกสรร แต่ยังมีจุดเด่นที่อยู่ในทำเลศักยภาพ ท่ามกลางรถไฟฟ้าพาดผ่าน ถึง 2 สาย นี่จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ ‘กลุ่มทุน’ สนใจเข้าลงทุน ภายหลังมีข่าวคราวว่า เจ้าของประกาศขายอีกครั้ง ในรอบ 8 ปี ด้วยราคา 550 ล้านบาท จึงต้องจับตากันต่อไปว่า ณ ทำเลศักยภาพของเมอรี่คิงส์นี้ กำลังจะเปลี่ยนเป็นอะไร? 

ย้อนดู ยุคทองของ ‘เมอรี่คิงส์’ กับการเปลี่ยนแปลงสู่ ‘ขาลง’ 

อาจกล่าวได้ว่า เหตุเพลิงไหม้ใน 2 สาขา (สะพานควาย-รังสิต) เป็นขาลงของเมอรี่คิงส์ โดยก่อนที่จะถึงช่วงเวลานี้ ‘เมอรี่คิงส์’ บูมมาก จาก 2 รายการสำคัญ คือรายการตลก ‘จี้เส้นคอนเสิร์ต’ (ช่วงปี 2536-2542) ซึ่งแสดงและบันทึกเทปที่นั่น และอีกรายการ คือ รายการคอนเสิร์ตเลข 9 (ช่วงปี 2533-2547) สองรายการนี้ ดูดคนเข้าห้าง สร้างความสนใจให้สปอนเซอร์เข้าสนับสนุนได้เป็นอย่างดี อันรวมถึง การปั้นนักร้องดังเข้าวงการเพลงจำนวนมาก 
 
แต่ธุรกิจก็มีความ ‘อนิจจังสังขารไม่เที่ยง’ เมื่อเพลิงเข้าพิฆาต 3 ครั้งจนแทบไม่เหลือ โดยครั้งแรก เกิดที่สาขาสะพานควาย เมื่อปี 2529 จากนั้น 12 ปีให้หลังประสบเป็นครั้งที่สอง ในปี 2541 ที่สาขารังสิต  และครั้งที่สาม ในปี 2547 ที่สาขารังสิตอีกเช่นกัน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนำสู่การเปลี่ยนแปลง หลังเพลิงได้เผาตัวอาคารและทรัพย์สินเสียหายหนักมูลค่าถึง 345 ล้านบาท กระทั่งทำให้เทศบาลเมืองคูคตในสมัยนั้น ต้องสั่งปิดกิจการอย่างถาวร เสียฐานที่มั่นหัวหอกสำคัญของเมอรี่คิงส์ ไปอย่างน่าเสียดาย และปัจจุบันที่แห่งนี้กลายเป็น โบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ รังสิต ไปแล้ว 

6 สาขาวันวาน สู่กิจการใหม่ เป็นอะไรแล้วบ้าง? 

นอกจาก ‘เมอรี่คิงส์ สาขารังสิต’ เปลี่ยนเป็น โบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ รังสิตแล้ว ใน 5 สาขาที่เหลือเป็นอะไรบ้าง? ไล่เรียง ดังนี้ 

1. สาขาแรก ‘เมอรี่คิงส์ วังบูรพา’ เปิดให้บริการปี 2527 และปิดกิจการทั้งหมดในปี 2553 ปัจจุบันกลายเป็นเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ผู้ลงทุนยังเป็นกลุ่มโบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ ด้วยวงเงิน 2,000 ล้านบาท 
 
2. สาขาสอง ‘เมอรี่คิงส์ สะพานควาย’ เปิดให้บริการปี 2528 ปิดกิจการปี 2545 และในปี 2563 ถูกทุบทิ้งเพื่อก่อสร้างโครงการอาคารสำนักงาน The Rice by SRISUPHARAJ ซึ่งเป็นอาคารสูง 26 ชั้น รูปเมล็ดข้าว ตั้งตระหง่านบริเวณแยกสะพานควาย ลงทุนโดยเจ้าของที่ดินเดิม ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านบาท 

3. ‘เมอร์รี่คิงส์ วงเวียนใหญ่’ เปิดบริการเมื่อปี 2529 และปิดกิจการเมื่อปี 2550 ปัจจุบันอาคารยังคงอยู่และกำลังนำมาประกาศขายอีกครั้ง มีเนื้อที่กว่า 1 ไร่ เป็นอาคารสูง 7 ชั้น มีพื้นที่อาคารรวม 20,371 ตารางเมตร โดยตั้งราคาขาย 550 ล้านบาท 
 
4. ‘เมอร์รี่คิงส์ รังสิต’ เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2530 ปิดบริการปี 2547 หลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ และกลุ่มโบเบ๊ เข้ามาพัฒนาโครงการ กลายเป็นโบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ รังสิต ในปัจจุบัน 
 
5. ‘เมอร์รี่คิงส์ ปิ่นเกล้า’ เปิดให้บริการปี 2531 และปิดกิจการเมื่อปี 2546 ปัจจุบันปรับปรุงเป็น โลตัส สาขาปิ่นเกล้า 
 
6. ‘เมอร์รี่คิงส์ บางใหญ่’ เปิดให้บริการเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าบิ๊กคิงส์บางใหญ่ เมื่อปี 2542 โดยเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าบิ๊กคิงส์บางใหญ่ และปิดบริการเมื่อปี 2554 ปัจจุบันเป็นของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังไม่มีการปรับปรุงอาคารแต่อย่างใด 
 
วิกฤตเมอรี่คิงส์ ที่ทำให้ต้องทยอยปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2545 เรื่อยมาจนถึงปี 2554 เป็นการล้มลุกคลุกคลานแบบหืดขึ้นคอ ไม่เพียงวิกฤตเศรษฐกิจที่ทุกห้างต้องเจอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหตุไม่คาดฝันเช่น เหตุเพลิงไหม้ สร้างความถดถอยทางการเงิน กระทบความเชื่อมั่นจนนำสู่ขาลงมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะได้เห็น งบแสดงฐานะทางการเงินของเมอร์รี่คิงส์ ที่มีหนี้ถึง 294,785,280.20 บาท ถ้าเทียบทุนจดทะเบียนที่ 20 ล้านบาทแล้ว เมอร์รี่คิงส์ มีหนี้สินมากกว่าทุนถึง 15 เท่า ตกสถานะ ‘ล้มละลาย’ สุดทางที่จะไปต่อ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์