ประธาน กสทช. ชี้ช่อง กกท. ไม่คืน 600 ลบ. ให้ไปยกเลิกเอ็มโอยู กับ ทรู

10 ธ.ค. 2565 - 03:54

  • ประธานบอร์ด กสทช. แจงฉันทามติของบอร์ดให้ กกท. ปฏิบัติตาม

  • แนะ ให้ กกท. ยกเลิก MOU กับทรู เป็นทางแก้

NBTC-SAT-world-cup-final-600-million-baht-Cancel-MOU-True-SPACEBAR-Hero
ประเด็น กสทช. ทวงเงิน 600 ล้านบาท จาก กกท. ยังต้องจับตาต่อเนื่อง หลังมีมติเอกฉันท์ ให้ กกท. คืนเงิน 600 ล้านบาท ที่ขอการสนับสนุนค่าใช้จ่ายซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 2022 ภายใน 15 วัน เนื่องจากประชาชน ไม่ได้ดู ซึ่ง กสทช.มีการประชุมนัดพิเศษ เมื่อ 8 ธันวาคม 2565 นั้น 

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เผยว่า ที่ประชุมฯ มีมติ แจ้งคำสั่งทางปกครองไปยังการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เรียกคืนเงินจำนวน 600 ล้านบาท ที่ได้รับสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือแจ้ง กกท. ยืนยันมาโดยตลอดว่า เข้าใจและจะปฏิบัติตามเอ็มโอยู ระหว่าง กสทช. และ กกท. เมื่อ กกท. ทำผิดข้อตกลง เพราะประชาชนไม่สามารถรับชมและเข้าถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันได้อย่างทั่วถึง กสทช. จึงจำเป็นต้องเรียกคืนเงิน 

“ไม่รู้ว่า กกท. จะนำเงินจากส่วนไหนมาคืน เพราะถ้ามีเงินคงไม่มาขอรับการสนับสนุนจาก กสทช. แต่ขอให้การต่อสู้กันในศาลปกครอง เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ซึ่งจะพิจารณาหาก กกท. ไม่นำเงินมาคืนภายใน 15 วัน หรือหาก กกท. ยกเลิกเอ็มโอยูที่ทำร่วมกับทรู เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน และเปิดให้ประชาชนได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้อย่างทั่วถึง กกท. ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่คืนเงินได้ และเป็นทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้” ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าว  

ประธานบอร์ด กสทช. บอกด้วยว่า กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายเอ็มโอยูระหว่าง กกท. และทรู ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเอ็มโอยูทั้ง 2 ฉบับ มีตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกัน ระหว่างกฎมัสต์แครี่และกฎหมายลิขสิทธิ์ ดังนั้น จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าอะไรสำคัญกว่า แต่อย่างไรก็ไม่สามารถละเมิดคำสั่งศาลได้ ยอมรับว่าหนักใจ และจะมีการปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด ต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์