BIZ FOCUS: วิเคราะห์ทิศทาง Netflix หลังซีอีโอสละตำแหน่ง

24 ม.ค. 2566 - 05:45

  • Reed Hastings จะยังคงทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร (Executive Chairman) แต่ก็นำมาซึ่งคำถามว่า Netflix จะเป็นอย่างไรต่อไป

  • ถึงยอดสมาชิกทั่วโลกของ Netflix จะมีมากถึง 223 ล้านราย จาก 190 ประเทศทั่วโลก แต่รายได้ของไตรมาสที่ 4 ปี 2022 เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 2% เท่านั้น

  • ทั้งนี้ ราคาหุ้นบริษัทกลับพุ่งสูงขึ้นในวันที่อดีตซีอีโอประกาศสละตำแหน่ง สะท้อนว่านักลงทุนยังเชื่อมั่นอยู่ แต่จะอีกนานแค่ไหน?

Netflix-next-move-after-Reed-Hashtings-has-stepped-down-SPACEBAR-Thumbnail
ข่าวสละตำแหน่งซีอีโอของ รีด เฮสติงส์ (Reed Hastings) ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Netflix เพราะเขาคือหนึ่งในหัวหอกที่ร่วมปลุกปั้นบริษัทมานานกว่า 25 ปี แม้ว่าตัวเขาจะยังคงทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร (Executive Chairman) ต่อไป แต่ก็นำมาซึ่งคำถามว่า Netflix จะเป็นอย่างไรภายใต้การนำของซีอีโอร่วมที่มีด้วยกันถึง 2 คน 

นี่คือ ‘ขาลง’ ของผู้บุกเบิกวงการคอนเทนต์สตรีมมิงหรือเปล่า? จริงๆ เราสามารถมองเรื่องนี้ได้หลายแง่มุม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/fB6Cn6cYuY6FOw9hNViEq/b65e7b8a10a5bce72fdb37bc4d92d308/Netflix-next-move-after-Reed-Hashtings-has-stepped-down-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP

ถึงเวลาส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารคนใหม่

  • การก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของเฮสติงส์ในวัย 62 ปี ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเขากับมาร์ก แรนโดล์ฟร่วมกันก่อตั้ง Netflix ตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งตอนนั้นยังเป็นธุรกิจให้เช่า DVD และไม่ได้ทำธุรกิจสตรีมมิงเลยด้วยซ้ำ โดยแรนโดล์ฟเป็นซีอีโอคนแรกของบริษัท ก่อนที่จะส่งต่อตำแหน่งให้กับเฮสติงส์ 
  • เฮสติงส์อธิบายชัดเจนว่าการออกจากตำแหน่งของเขาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเลือกผู้สืบทอดของบริษัท พร้อมยกตัวอย่างว่า ขนาดผู้ก่อตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บิล เกตส์ (ไมโครซอฟท์) และเจฟฟ์ เบโซส์ (Amazon) ก็ยังต้องส่งไม้ต่อให้กับคนใหม่ๆ แล้วขยับมาเป็นประธานกรรมการบริหารแทน 
  • ในสปีชแถลง เฮสติงส์ย้ำว่าทั้งคณะกรรมการบริษัทและตัวเขาเองเชื่อมั่นในศักยภาพของเท็ด ซารันดอส กับ เกร็ก ปีเตอร์ส ซึ่งดำรงแหน่งซีอีโอร่วม (Co-CEO) ในปัจจุบัน เพราะทั้งคู่ต่างก็ทำงานที่นี่มานาน และผลักดันให้ธุรกิจฝ่าวิกฤตในช่วงโควิด-19 มาได้สำเร็จ พร้อมยอดสมาชิกทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นแบบเหนือความคาดหมาย 
  • ถึงจะถอยออกมาให้ทั้งสองคนบริหารเต็มรูปแบบ แต่อดีตซีอีโอก็ยืนกรานว่าเขายังคงดูแลภาพรวมด้านหุ้นของบริษัทให้เติบโตได้ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน 

ยอดสมาชิกพุ่ง แต่กำไรลดลง

  • ถ้าดูรายงานไตรมาส 4 ของปี 2022 จะพบว่า มีผู้สมัครสมาชิกรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 7.66 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์วอลล์สตรีทคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 223 ล้านราย จาก 190 ประเทศทั่วโลก 
  • สมาชิกใหม่มาจากไหน? หลักๆ คือโซนยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (ประมาณ 3.2 ล้านราย) ส่วนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเพิ่มขึ้นเพียง 910,000 รายเท่านั้น อาจเพราะตลาดนี้เริ่มอิ่มตัว และเต็มไปด้วยคู่แข่งรายน้อยใหญ่ 
  • ทำรายได้ประมาณ 7,850 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเกือบ 2% จากปีก่อน แต่ทำกำไรได้เพียง 55 ล้านดอลลาร์ ซึึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันในปี 2022 แต่ในภาพรวมก็ยังถือเป็นผู้นำในการแข่งขันนี้ 
  • ทั้งนี้ Netflix คาดว่ามาร์จินและกระแสเงินสดของบริษัทน่าจะดีขึ้นในปี 2023 นี้ เพราะบริษัทเล็งจะคิดค่าบริการเพิ่มจากการแชร์พาสเวิร์ด แม้ว่าอาจจะทำให้ผู้ใช้ไม่พอใจหรือแม้แต่ลดลงไปบ้างในช่วงแรกๆ แต่น่าจะเป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว 

ภาพยนตร์และซีรีส์ล็อตใหม่ ไฉไลกว่าเดิม?

  • ไม่ใช่แค่ซีอีโอที่เปลี่ยน คราวนี้ Bela Bajaria ซึ่งเคยดูแลฝั่งซีรีส์มาก่อนในฐานะ global head of television นั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็น chief content officer เพื่อดูภาพรวมคอนเทนต์ ขณะที่ Scott Stuber ที่เคยดูแลภาพรวมด้านภาพยนตร์ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร Netlix Film แทน 
  • นี่อาจเป็นการปรับกลยุทธ์ที่จะผลิตคอนเทนต์มาสู้กับค่ายยักษ์อย่าง HBO Go, Prime VDO, Apple TV และ Disney+ สังเกตได้จากเคสที่ Netflix ดึงตัวไรอัน จอห์นสัน ผู้กำกับ  Knives Out มากำกับภาคต่อ (ในชื่อใหม่) อย่าง Glass Onion เพื่อสตรีมลงเฉพาะช่องทาง Netflix โดยที่แดเนียล เคร็ก ยังคงแสดงนำ และน่าจะมีภาคต่ออีก เพราะข้ามปีมา Glass Onion ก็ยังคงติดอันดับ Top 10 ของหนังที่มีผู้ชมมากที่สุดใน 72 ประเทศ (วันที่ 23 ม.ค.) 
  • ส่วนบรรดาซีรีส์ที่เคยสร้างชื่อให้กับ Netflix เริ่มแผ่วลง มีทั้งเรื่องที่จบไปแล้วอย่าง Peaky Blinders, OZARK, Better Call Saul เรื่องที่จะมีซีซั่นใหม่ แต่ไม่ดังเท่าซีซั่นแรกอย่าง Bridgerton, Emily in Paris และ YOU รวมถึงซีรีส์ของแฟนเดนตายที่ใกล้ปิดฉากลง เช่น Stranger Things กับ The Crown 
  • ยังไม่นับบรรดาซีรีส์และภาพยนตร์อีกมากมายที่ไม่ได้ไปต่อในปีนี้  
  • ถ้าดูจาก Content Slates ที่ปล่อยตัวอย่างออกมาให้ชมกันคร่าวๆ ก็พอจะเห็นได้ว่าปีนี้จะมีทั้งหนังใหม่และหนังภาคต่อ เช่น Extraction 2 และ Murder Mystery 2 (พ่วงด้วยดาราเบอร์ใหญ่ เช่น กัล กาด็อต, คริส อีแวนส์ และคริส เฮมส์เวิร์ท) รวมทั้งซีรีส์ที่ปั้นแล้วปังอย่าง Wednesday ส่วนคอนเทนต์เกาหลีและอนิเมะก็ยังเสิร์ฟแบบจัดหนักจัดเต็มเช่นเคย 
  • ต้องรอดูกันต่อไปว่า Netflix จะส่งคอนเทนต์ออกมาท้าชนกับคู่แข่งได้ไหม เช่น The Last of Us ของ HBO ที่เปิดตัวได้อย่างสวยงามในต้นปีนี้ เกมนี้อาจต้องดูกันอีกยาว

หุ้นของ Netflix ยังไปได้ดี สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

  • แม้ว่ารีด เฮสติงส์จะไม่ได้เป็นซีอีโอแล้ว แต่หุ้นบริษัทกลับถีบตัวสูงขึ้นถึง 8.9% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สะท้อนว่านักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในธุรกิจสตรีมมิงเจ้านี้ เพราะที่ผ่านมา Netflix พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถฝ่าด่านสุดโหดมาได้หลายครั้ง 
  • ต้นปี 2022 บริษัทสูญเสียยอดสมาชิกครั้งใหญ่ไปกว่า 9.7 แสนราย บรรดานักลงทุนพากันตื่นตระหนกจนมูลค่าตลาดดิ่งฮวบ แต่ก็ยังกู้วิกฤตกลับมาได้ในช่วงปลายปี 
  • Doug Anmuth นักวิเคราะห์จาก JPMorgan Chase คาดหวังว่าการเปลี่ยนผ่านของ Netflix จะราบรื่นดี และหวังว่าเฮสติงส์จะยังช่วยดูแลด้านกลยุทธ์และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ 
  • Disney+ ถือเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่ต้องระวัง เพราะเปิดให้บริการแค่ 3 ปี ก็มียอดผู้ใช้งานทะลุ 235 ล้านรายไปแล้ว บ็อบ ไอเกอร์ ซีอีโอถึงขั้นประกาศว่าธุรกิจสตรีมมิงของบริษัทได้ผ่านจุดสูงสุดของการขาดทุนไปแล้ว ปี 2024 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกำไร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3pwLdeHhroTzWkHH9Qy9U3/81097ea07149d68eea9c1ad8e940ad26/Netflix-next-move-after-Reed-Hashtings-has-stepped-down-SPACEBAR-Photo02

โฆษณา ค่าแชร์พาสเวิร์ด: โมเดลสร้างรายได้ที่ลูกค้าอาจไม่ปลื้มนัก

  • แพ็คเกจสมัครสมาชิกราคาถูกที่พ่วงมากับโฆษณาเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสร้างรายได้ให้กับ Netflix ในระยะยาว ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าเก่า ประเด็นนี้จึงไม่น่ากังวลเท่ากับการแชร์พาสเวิร์ด 
  • Disney+ เองก็เตรียมออกแพ็คเกจที่มีโฆษณาเช่นกัน และเราน่าจะได้เห็นโฆษณาในสตรีมมิงอีกหลายๆ เจ้า ซึ่งต้องแข่งกันทำรายได้เช่นกัน 
  • ปีนี้ Netflix จะเริ่มคิดเงินเพิ่มสำหรับลูกค้าที่แชร์พาสเวิร์ดและแอคเคานต์ร่วมกัน แต่อยู่คนละบ้าน ซึ่งกรณีนี้น่าจะทำให้ลูกค้าหน้าเก่าและหน้าใหม่ไม่พอใจนัก ก่อนหน้านี้รีด เฮสติงส์ ก็เคยกล่าวทำนองไม่เห็นด้วยกับการคิดค่าบริการจากการแชร์พาสเวิร์ดกัน

แล้วคนดูอย่างเราจะได้อะไร

  • คนดูจะมีตัวเลือกเยอะขึ้น แต่ข้อเสียคือ ต้องสมัครสมาชิกหลายเจ้า ซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนตัดสินใจเลิกใช้บริการของเจ้าใดเจ้าหนึ่งไปเลย (หรืออาจมากกว่าหนึ่งด้วยซ้ำ) 
  • สุดท้ายคนดูมีแนวโน้มจะเลือกเสพคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มที่ตรงกับจริตตัวเองมากที่สุด มีให้ดูครบ จบในแอปฯ เดียว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์