ตัวเลขที่จะเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล สัญญาณแห่งการโค่นราชันดอลลาร์

21 มีนาคม 2566 - 08:00

Numbers-that-hint-the-change-in-the-hegemony-of-us-dollar-SPACEBAR-Thumbnail
  • ระเบียบโลกเดิมถูกชี้นำโดยชาติตะวันตก แต่ตอนนี้ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไป

  • ประเทศหลักๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เริ่มที่จะลดการใช้และถือเงินดอลลาร์

ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) เป็นความเชื่อของคนบางกลุ่มว่าโลกของเราถูกบงการโดยกลุ่มคนบางกลุ่ม เพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมือง และกุมชะตากรรมของโลกเอาไว้ในมือของพวกเขา ด้วยความเชื่อแบบนั้นทำให้แนวคิดเรื่องระเบียบโลกใหม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อพกแบบทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อและพยายามอธิบายว่าโลกของเราถูกควบคุมโดยกลุ่มคนที่ ‘ชั่วร้าย’ ไม่กี่คน 

แต่ยังมีคำว่า ‘ระเบียบโลก’ ที่ถูกใช้แบบกลางๆ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์การเมืองระหว่างประเทศด้วย เช่น การอธิบายว่าโลกของเราถูกครอบงำด้วยมหาอำนาจทางการเมืองหนึ่งเดียว (เช่น สหรัฐฯ หรือโลกตะวันตกทั้งหมด) อุดมการณ์ทางการเมืองหนึ่งเดียว (ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม) หรือบอกว่าเศรษฐกิจของโลกถูกชี้นำด้วยแนวคิดเดียว (เช่น ชี้นำด้วยระบอบทุนนิยมเสรีหรือเสรีนิยมใหม่)  

ตัวอย่างที่ยกมาคงทำให้พอมองภาพออกว่า เมื่อพูดถึงระเบียบโลกใหม่ในทางการเมืองระหว่างประเทศ โลกของเราถูกชี้นำโดยชาติตะวันตกและแนวคิดเศรษฐกิจของพวกเขา  

แต่การเมืองโลกเริ่มแตกเป็นฝ่ายมากขึ้น และหลายประเทศเริ่มไม่ยอมรับ ‘ระเบียบโลก’ ที่ชี้นำโดยชาติตะวันตก เราจะเห็นความพยายามฟอร์มแนวร่วมใหม่ๆ ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับชาติตะวันตกมากขึ้น ความเคลื่อนไหวนี้เองที่ถูกเรียกว่า ‘ระเบียบโลกใหม่’ ในทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิทัศน์ใหม่ของเศรษฐกิจโลก แต่เราจะสังเกตมันได้จากจุดไหนและอะไร? คำตอบก็คือ เราอาจเห็นมันได้จากตัวเลขบางตัว 

40% คือการใช้เงินหยวน

  • เงินหยวนสามารถแซงหน้าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ในแง่ของปริมาณการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์มอสโก ปริมาณการซื้อขายในสกุลเงินหยวนเกิน 1.48 ล้านล้านรูเบิล (ราว 19,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงกว่าระดับของเดือนมกราคมถึงหนึ่งในสาม และเงินหยวนยังคิดเป็นเกือบ 40% ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมดระหว่างจีนกับรัสเซีย ขณะที่ดอลลาร์อยู่ที่เกือบ 38% และเงินยูโร 21.2% จากเดิมที่ปลายปี 2015 ประมาณ 90% ของธุรกรรมทำกันผ่านดอลลาร์สหรัฐ  
  • ตัวเลขนี้บอกกับเราว่าความพยายามที่จะสลัดทิ้งเงินดอลลาร์สหรัฐของจีนกับรัสเซียกำลังไปได้สวย ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ทั้ง 2 ประเทศเพิ่งทำ แต่เริ่มทำหลายปีแล้ว และเริ่มเข้มข้นขึ้นหลังชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียในฐานที่รุกรานยูเครน ทำให้รัสเซียต้องมองหาทางเลือกใหม่ทางการเงิน แทนที่จะพึ่งสกุลเงินของชาติตะวันตก และตัวเลือกนั้นคือเงินหยวน ซึ่งตรงกับความตั้งใจของจีนที่ผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักของโลก  

12.6 หมื่นล้านคือการทิ้งบอนด์ 

  • ความตั้งใจของจีนที่จะผลักดันเงินหยวนเกิดจากความต้องการเลิกพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ (De-Dollarization) เพราะถึงแม้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะเป็นสกุลเงินอันดับหนึ่งของโลกจนได้รับฉายาว่า ‘ราชาแห่งสกุลเงิน’ แต่มันสามารถใช้เป็นอาวุธโจมตีระบบเศรษฐกิจได้เหมือนกันจากประเทศเจ้าของสกุลเงิน และเราจะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนหลังจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางการเงินกับรัสเซีย ระบบเศรษฐกิจที่อิงกับดอลลาร์ของรัสเซียได้รับผลกระทบในทันที แต่รัสเซียก็แก้สถานการณ์ด้วยการหันมาค้าขายด้วยเงินหยวน 
  • ขณะเดียวกัน จีนถือพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้บอนด์อเมริกันยังมีความน่าดึงดูดใจอยู่ได้ แต่ระยะหลังจีนเริ่มเทขายบอนด์เหล่านี้ทิ้ง เมื่อปี 2022 จีนขายบอนด์รัฐบาลสหรัฐถึงราวๆ 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเหลือบอนด์อยู่น้อยที่สุดในรอบ 12 ปี และเป็นการลดลงมาเรื่อยๆ โดยมีมูลค่าที่ถืออยู่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์มา 8 เดือนติดต่อกัน เรื่องนี้ไม่บอกก็รู้ว่าจีนเริ่มสลัดตัวเองจากระบบการเงินของสหรัฐฯ แล้ว 

5 แกนนำคว่ำดอลลาร์สหรัฐ 

  • ดังนั้น ประเทศที่มีปัญหากับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกจึงพยายาม De-Dollarization และหันมาค้าขายด้วยสกุลเงินอื่น (ซึ่งมักเป็นเงินหยวน เพราะจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศส่วนใหญ่ในโลก) ประเทศล่าสุดที่พยายาม De-Dollarization และค้าขายด้วยเงินหยวนคือ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และการค้าน้ำมันยังถูกเรียกว่า Petrodollar แต่ระยะหลังความสัมพันธ์ของสองประเทศเสื่อมทรามลง และซาอุฯ หันมาค้าขายกับจีนมากขึ้น  
  • แต่ซาอุฯ เป็นน้องใหม่ในขบวนการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ และยังมีศัตรูเก่าแก่ของสหรัฐฯ คือ อิหร่าน ที่พยานามทำธุรกรรมกับประเทศอื่นด้วยเงินสกุลอื่นๆ แต่แกนนำหลักๆ ของการ ‘โค่นดอลลาร์สหรัฐ’ ก็คือ 5 ประเทศ BRICS ที่เป็นแนวร่วมมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ที่ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ และเมื่อเดือนมกราคม Naledi Pandor รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของแอฟริกาใต้เปิดเผยว่า “เรากังวลอยู่เสมอว่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีอำนาจเหนือกว่า และเราจำเป็นต้องมองหาทางเลือกอื่น” 
ถ้ามองแบบผิวเผิน ตัวเลขเหล่านี้อาจจะไม่ได้บอกอะไรชัดเจน แต่หากวิเคราะห์ความหมายและบริบทของมันที่ซ่อนอยู่ เราจะพบความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก และสิ่งที่อาจจะเป็นระเบียบโลกใหม่ ที่เกิดขึ้นเพื่อท้าทายการผูกขาดความเป็นใหญ่ของสหรัฐฯ, ชาติตะวันตก, เงินดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร หรือแม้แต่เงินเยนของญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักในเอเชียของชาติตะวันตก)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์