เศรษฐกิจยุค ‘เศรษฐา’ ใช่ฟ้าใหม่ ‘อสังหาฯ’ หรือไม่?

25 สิงหาคม 2566 - 11:24

Property-real-estate-Srettha-Thavisin-LTV-economy-SPACEBAR-Thumbnail
  • กูรู มอง ไทยได้นายกฯ เอกชน จากภาคอสังหาฯ มีข้อดีที่ ‘รู้-เข้าใจ’ แต่การปลดล็อก ยังไม่ง่าย

  • ชี้เหตุ อสังหาฯ ยึดโยงหลายส่วน และโตตามภาพใหญ่เศรษฐกิจประเทศ

  • ตั้งความหวังแรก ทำประชาชน ‘มีกำลังซื้อ’ พร้อมเตรียมหารือทุกส่วน เคาะแนวทางให้รัฐช่วยเหลืออย่างรัดกุม

‘ค่าครองชีพ’ เป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน เมื่อรายได้น้อย ค่าใช้จ่ายมาก การหยิบจับเงินเพื่อไปซื้อสินค้า จึงต้องระมัดระวัง ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ของคนขายบ้าน ที่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ ได้รับผลกระทบ เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจเปราะบาง ย่อมหากำลังซื้อ ‘ลำบาก’ 

แต่ในยุคที่ประเทศไทย ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อดีตเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์เบอร์ใหญ่ของประเทศ จะลากภาคอสังหาฯ ให้ฟื้นกลับมาได้เร็วไวหรือไม่ เป็นเรื่องต้องพิสูจน์ แต่ทั้งนั้ทั้งนั้น คนในวงการเดียวกันต่างใจชื้น เพราะเชื่อว่า ‘เศรษฐา’ คือผู้รู้-เป็นตัวจริงที่จะทำภาคเศรษฐกิจให้ดีได้ และอสังหาฯ ก็จะฟื้นตัวได้ไม่ยาก แต่ที่ยากขณะนี้ก็คือ เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง จากยอดหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง จะมีกำลังซื้อที่ไหนเล่า เข้าภาคอสังหาฯ เลยมีการบ้านข้อใหญ่ แปะไว้กับนโยบายเศรษฐกิจ หลายๆ ข้อ 

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มองว่า การได้นายกฯ ชื่อ ‘เศรษฐา’ ถือเป็นผู้เข้าใจปัญหาภาคอสังหาฯ มากที่สุด โดยเข้ามาถูกช่วงจังหวะเวลา เพราะขณะนี้อสังหาฯ ขาดกำลังซื้อ สถาบันการเงินปล่อยกู้ยาก มีการปฏิเสธสินเชื่อเงินกู้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คิดว่า ระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ วงการอสังหาริมทรัพย์ จะมีการเปลี่ยนแปลง ในทิศทางที่ดีขึ้น 

อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเช่นกันว่า ‘เศรษฐา’ ความเข้าใจธุรกิจ ที่กำลังประสบปัญหา และน่าจะขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจในหลากมิติได้ ซึ่งในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น อยากให้มีมาตรการมากระตุ้นต่อเนื่อง เช่น การขยายเวลาเรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ที่จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมผ่อนปรนมาตรการผ่อนคลาย LTV (Loan to Value) หรือคือ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน ซึ่งแบงก์ชาติกำหนดขึ้น เพื่อลดอัตราความเสี่ยงให้ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการทบทวนโครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น 

พีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ‘เศรษฐา’ เป็นนักธุรกิจที่มีฝีมือ เชื่อว่าจากนี้ไป ภาคธุรกิจอสังหาฯ ไทย จะได้รับผลประโยชน์แน่นอน เบื้องต้นฝากความหวัง 2 เรื่อง คือ 1. มาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) และ 2. การกระตุ้นกำลังซื้อที่ไม่เฉพาะในประเทศ แต่ยังขอกำลังซื้อจากชาวต่างชาติ จากเดิมที่รัฐบาลมีมาตรการจะให้ความสำคัญกับ 4 กลุ่มหลักที่อยู่อาศัยระยะยาวในไทย พร้อมให้สิทธิประโยชน์มากมาย อาทิ วีซ่าระยะยาว 10 ปี ให้สิทธิถือครองที่ดินได้นั้น ก็อยากให้ลดเงื่อนไขลงมาเหลืออย่างน้อย 3-5 ปีก่อน อาทิ ซื้อคอนโดฯ ราคา 3 ล้านบาท สามารถอยู่อาศัยได้ 3 ปี และซื้อคอนโดฯราคา 5 ล้านบาท สามารถอยู่อาศัยได้ 5 ปี เป็นต้น 

ด้าน อธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวด้วยว่า ปัญหาในธุรกิจอสังหาฯ ที่ถูกรุมเร้ารอบด้าน ณ ขณะนี้ ได้เตรียมหารือกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุป และส่งแนวทางขอความช่วยเหลือ โดยประเด็นที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ กำลังซื้อที่หายไป อัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก การขอสินเชื่อยาก ค่าต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงเรื่อง แรงงานที่มีแนวโน้มเป็นปัญหาด้วย 

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความท้าทายใหม่ ของนายกฯ ชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ว่าหลังขึ้นนายกฯ คนที่ 30 วางคนให้เหมาะสมกับงานได้แล้ว จะลากวงการอสังหาฯ ที่อึมครึม เปิดฟ้าใหม่ที่สดใส ตามความคาดหวังของเพื่อนพ้องน้องพี่ได้หรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์