“ทำงานให้หนักสิแล้วจะรวย” คำเชื่อของไอดอลธุรกิจมันคือลัทธิหรือเปล่า?

10 ก.พ. 2566 - 06:40

  • เราจะอยู่อย่างไรในโลกที่การทำงานหนักๆ เพื่อกำไรขององค์กร สวนทางกับการขาดทุนของชีวิต

  • บางทีความเชื่อเรื่องอุทิศชีวิตเพื่องาน อาจเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อของด้านมืดในโลกทุนนิยม

Sacrifice-one-life-for-capitalism-propaganda-is a-cult-SPACEBAR-Hero
ทุกครั้งที่มีคนเสียชีวิตจากการทำงาน จะคนอยู่ 2 ประเภทที่ตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ คนกลุ่มแรกจะถามเรื่อง ‘สมดุลชีวิตกับการทำงาน’ คนอีกกลุ่มหนึ่งจะถามเรื่อง ‘องค์กรเอาเปรียบลูกจ้าง’ 

คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าเรามองปัญหาแยกเป็นส่วนๆ แค่ไหน เรายังอามองลึกลงไปอีกนิด เพื่อที่จะทำให้รู้ว่าการทำงานหนักจนตายเป็นค่านิยมที่ถูกบูชาราวกับคำสั่งของพระเจ้า และเมื่อมันมีสถานะเหมือนคำสอนที่ท้าทายไม่ได้ (Doctrine) คนที่เชื่อมันก็มีโอกาสที่ที่จะมองไม่เห็นด้านลบของมัน  

Culture (วัฒนธรรมหรือวิถีแห่งความเจริญงอกงาม) ที่ทำธุรกิจในโลกทุนนิยมอยู่รอดได้ก็คือต้องทำให้ทุนงอกเงยเป็นกำไรไปเรื่อยๆ วิธีการสร้างกำไรมีตั้งแต่การ ‘สร้างนวัตกรรม’ เพื่อก่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปจนถึงวิธีการที่ค่อนข้างไร้หัวใจสักหน่อย คือ ‘การลดต้นทุน’ การลดต้นทุนที่นิยมใช้มากที่สุดคือ การใช้แรงงานน้อยๆ ให้ทำงานหนักๆ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ ด้วยวิธีการนี้ พวกเขาจะทำให้ทุนเติบโตได้โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดนวัตกรรม (เพราะบางธุรกิจไม่เอื้อต่อการคิดอะไรใหม่ๆ) 

แต่ Culture สำคัญที่สร้างทุนนิยมให้เติบใหญ่ได้ก็คือก็คือ ‘สร้างนวัตกรรม’ เราจะเห็นว่าสังคมทุนนิยมตัวพ่ออย่างสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่จดทะเบียนลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มากที่สุดในโลก และทุกวันนี้เรารู้ว่าประเทศที่จะรักษาความรวยเอาไว้ได้จะต้องมีดัชนีนวัตกรรมหรือลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในระดับสูงมาก  

การสร้างนวัตกรรมได้จะต้องมีต้นทุนมนุษย์ที่สูง ดังนั้น เราอาจจะสงสัยว่า ประเทศที่มีนวัตกรรมล้ำหน้าน่าจะมีสังคมที่เอาเปรียบแรงงานน้อยกว่าที่อื่นหรือเปล่า? ก่อนที่จะได้คำตอบของคำถามนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าคำถามนี้มีมุมมองที่ต่างกัน 2 มุมมอง  

แนวคิดที่หนึ่ง เชื่อว่าลูกจ้างควรมีเวลาทำงานที่สมดุล มีวันหยุดที่มากขึ้น เพื่อให้พวกเขามีจิตใจที่ปลอดโปร่ง ลดแรงกดดัน และทำให้มีมันสมองที่เอื้อต่อการคิดค้นอะไรใหม่ๆ ลูกจ้างยังควรมีสถานะการทำงานเหมือนเป็นหุ้นส่วนขององค์กร ไม่ใช่แค่คนที่ถูกจ้างมาทำงาน เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้น (Incentives) เป็นความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกับองค์กรและผลักดันสู่อนาคตร่วมกันด้วยผลตอบแทนที่คุ้มกับแรงกายและมันสมอง  

แนวคิดที่สอง เชื่อว่าลูกจ้างเป็นแค่ ‘ปัจจัยการผลิต’ อย่างหนึ่ง พวกเขามีชีวิตในฐานะมนุษย์ แต่ในโลกแห่งการผลิตผลกำไร พวกเขาไม่สามารถมีชีวิตจิตใจได้ พวกเขาต้องมีสภาพเป็นจักรกลที่สร้างส่วนเกินของทุนให้มากที่สุดตามหน้าที่ที่องค์กรกำหนดไว้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องอนาคตใหม่ๆ เพราะมีคนที่ถูกจ้างมาทำหน้าที่นั้นแล้ว ในฐานะที่เป็นแค่ ‘ปัจจัยการผลิต’ ถ้าเกิด ‘พัง’ หรือ ‘เสีย’ ขึ้นมา ก็แค่เปลี่ยนใหม่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4CeMpBieM9ITDaGcJfJz2y/47f55c9a09fbe12d4df1b61c4cdf9ca0/Sacrifice-one-life-for-capitalism-propaganda-is_a-cult-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP

ความเชื่อที่โต้แย้งไม่ได้ 

ทุนนิยมมีความน่ารักของมันตรงที่ทำให้โลกได้พบกับนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอด และการแข่งขันที่ไม่เป็นเอาตายเกินไปสามารถสร้างมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงได้ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมทุนนิยมนั้นๆ สร้าง ‘บาลานซ์’ ได้แค่ไหน  

อย่างที่เราเห็นได้จากทุนนิยมกึ่งรัฐสวัสดิการในประเทศยุโรปเหนือ ซึ่งคุ้มครองคนทำงานด้วยกฎหมายที่เข้มงวด (ห้ามใช้งานเกินเวลาเด็ดขาด ไม่งั้นถูกฟ้องเอาง่ายๆ) แต่ก็มีบรรยากาศการลงทุนเอื้อต่อการทำกำไร ทำให้ลูกจ้างและนายจ้างมีความขยันขันแข็ง แต่ก็ไม่เอาเปรียบเกินควร ผลก็คึอ ภาคธุรกิจทำกำไรสูง มีดัชนีนวัตกรรมสูง และเมื่อมีรายได้มาก รัฐก็เก็บภาษีได้สูงมาก สิ่งที่ตามมาคือเงินที่จะมาหนุนรัฐสวัสกดิการก็สูงมาก คุณภาพชีวิตก็ดีมากไปด้วย  

แต่มันก็มีโลกแห่งทุนที่สุดโต่งเอามากๆ เช่นในสหรัฐ แม้ว่ามันจะสร้างนวัตกรรมจนใช้กันไม่ทัน แต่มันเกิดจากการแข่งขันแบบ ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ เพราะหากไล่ตามคนอื่นไม่ทัน เราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง (ให้เฉาตาย) หรือกลายเป็นจักรกลที่ถูกใช้งานหนักไปเรื่อยเพราะมีคุณค่าแค่นั้น (จนเหนื่อยตาย) และเวลาว่างไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมแบบนี้ เราจะถูกจิกหัวใช้เมื่อไรก็ได้โดยที่กฎหมายไม่ค่อยจะคุ้มครองเรา ในนามของการ ‘ทำงานเพื่อองค์กรกันแบบครอบครัว’ 

สังคมธุรกิจที่หาสมดุลไม่เจอแบบนี้ ตั้งอยู่บนความเชื่อ (Doctrine) ที่ดูเหมือนจะสมเหตุสมผล แต่มันแฝงไว้ด้วยอันตราย อย่างคำว่า “อ่อนแอก็แพ้ไป” มันมาจาก Doctrine ผิดๆ ของทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งก็คือ ‘คนแกร่งเท่านั้นที่จะรอด’ หรือคนที่เหมาะสมเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่วิวัฒนาการต่อไปได้  (Survival of the fittest) 

ทุนนิยมที่เชื่อ Doctrine ที่ห้ามตั้งคำถามแบบนี้จึงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับ ‘ลัทธิบูชา’ หรือ Cult ที่ทั้งเจ้าลัทธิและสาวกเชื่อหัวปักหัวปำว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะดี Cult แบบนี้มาจากทุนนิยมอเมริกัน (ที่ผสมระหว่างค่านิยมศาสนาคริสต์โปรแตสแตนท์กับทฤษฎีวิวัฒนาการแบบผิดๆ ถูกๆ) เราจะเห็น Cult ของการทำงานหนักก่อตัวชัดมากในยุคที่เศรษฐกิจทุนนิยมแบบอเมริกันและทุนนิยมสปีชีส์เดียวกัน (เช่น ทุนนิยมญี่ปุ่น) กำลังเฟื่องฟู ราวๆ ทศวรรษที่ 1980s 

จนกระทั่งธุรกิจพังเป็นแถบๆ เพราะฟองสบู่แตกและวิกฤตการเงินที่เกิดจากการบริพารพลาดของพวกนายทุน ทำให้คนทำงานอเมริกันเริ่มตั้งคำถามว่า “นี่เราทำงานถวายชีวิตไปเพื่อใครวะเนี่ย” เช่นเดียวกับคนทำงานญี่ปุ่น ทุกวันนี้ค่านิยมถววายชีวิตเพื่อบริษัทกลายเป็นเรื่องโจ๊กของคนรุ่นใหม่เข้าไปทุกที 

แม้ว่าทุนนิยมอเมริกันและญี่ปุ่นจะหกล้มหัวคะมำหลายคร้ังจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ค่านิยมทำงานถวายชีวตก็ยังไม่หมดไป มันไปเจริญอยู่ที่จีนในชื่อ Cult ที่เรียกว่า ‘996’ ที่หมายถึงการทำงานแบบเอาเป็นเอาตายให้กับองค์กรตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 9 โมงเย็น (3 ทุ่ม) เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ความบ้าคลั่งของคนจีนรุ่นใหม่ที่ศรัทธา 996 ทำให้เศรษฐกิจจีนพัฒนารวดเร็วมากอย่างที่เห็น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6gCsn3SJDSp00UtmPLD96j/058efa8016aec8b73b75d8d2b683012a/Sacrifice-one-life-for-capitalism-propaganda-is_a-cult-SPACEBAR-Photo02
Photo: AFP

ไอดอลธุรกิจที่คิดฟื้นลัทธิ 

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่มีสถานะประหนึ่งศาสดาแห่งโลกธุรกิจหรือไอดอลของคนอยากรวยทั้งหลาย ด้วยสถานะแบบนี้ทำให้เขาพยายามจะสร้าง  Cult ให้คนคล้อยตามว่าการทำงานหนักเป็น ‘คุณธรรม’ เขาไม่เคยเก็บซ่อนความหลงไหลในลัทธิ 996 ของจีนเลย หลังจากพา Tesla ไปตั้งฐานที่จีนแล้วพบว่า 996 ทำให้ธุรกิจเฟื่องฟูแค่ไหน 

เมื่อปี 2022 มัสก์กล่าวชื่นชมคนงานในโรงงานของจีนที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงแทบไม่ได้พักไม่ได้ผ่อน  “พวกเขาจะไม่เพียงแค่ทุ่มเทแรงกายในตอนเที่ยงคืนเท่านั้น พวกเขาจะพลีแรงกายในตอนตี 3 พวกเขาจะไม่ยอมออกจากโรงงานเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่คนอเมริกาพยายามหลีกเลี่ยงการไปทำงานเลย” 

มัสก์กำลังโปรโมต Cult 996 โดยยกลูกจ้างจีนที่ขยันเหมือนถูกเติมน้ำมันให้ไฟชีวิตลุกโชน มาเทียบกับคนอเมริกันที่ไฟมอดเพราะ Burned out เข้าไปเรื่อยๆ  

มัสก์ยังเชื่อว่าสมดุลของการทำงานและชีวิตเป็นเรื่องไร้สาระ อย่างที่เขาบอกว่า “ไม่มีใครเปลี่ยนโลกได้ด้วย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” ซึ่งหมายความว่าเขาคัดค้านการลดเวลาการทำงานต่อสัปดาห์ เพราะเขาเชื่อว่ายิ่งทำงานมากๆ โลกจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ดังนั้น มัสก์จึงเป็นคนประเภท ‘แนวคิดที่สอง’ ที่เราเอ่ยถึงไปข้างต้น 

มัสก์ต้องการให้ Cult นี้รุ่งเรืองอีกครั้ง ทั้งๆ ที่คนในโลกตะวันตกเริ่มจะคิดคล้ายๆ กับทั้งเจ้าของธุรกิจและลูกจ้าง คือ คิดแบบ ‘แนวคิดที่หนึ่ง’ เน้นที่การสร้างสมดุลของชีวิต สร้างความเป็นหุ้นส่วนในองค์กร เพื่อสร้างทุนนิยมที่ยั่งยืนกว่า 

และมัสก์คงจะลืมว่า เศรษฐกิจจีนยังไม่เคยหัวคะมำเพราะวิกกฤตมาก่อน มันยังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความฝัน ที่ทุกคนยังเชื่อว่า “ทำงานหนักสิ แล้วจะรวย” ต่างจากประเทศที่เคยเจอขาลงของทุนนิยมมาแล้ว และพบว่าความขยันเพื่อทำไร (ให้นายทุน) ไม่คุ้มกับคุณภาพชีวิตที่ขาดทุนอย่างหนัก 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2TJhIUegfTVGjey4q8wDdv/fca5fcf72fb418b791d13cdf60d4a56f/Sacrifice-one-life-for-capitalism-propaganda-is_a-cult-SPACEBAR-Photo03
Photo: AFP

ไม่ต้องแกร่ง ไม่ต้องคม แค่ปรับตัว 

ฟังดูอาจจะดาดๆ (Cliché) ไปสักหน่อย แต่มันมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง Cult กับ Culture อยู่จริงๆ  

เส้นแบ่งที่บางเฉียบจนมองแทบไม่เห็นนี้เกิดจากอะไร? บางทีมันอาจจะมาจากความเข้าใจผิดเรื่องหลักการพื้นฐานที่ขับเคลื่อนทุนนิยมมาตั้งแต่แรก อย่างที่มนุษย์บางคนบอกว่า “อ่อนแอก็แพ้ไป” หรือ “คนแกร่งเท่านั้นที่จะรอด” แล้วคิดว่ามันคือสัจธรรมเที่ยงแท้ทางวิทยาศาสตร์จากทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส ดาร์วิน (Charles Darwin)  

แต่ตามทัศนะของ ลีออน ซี. เมกกินสัน (Leon C. Megginson) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการและการตลาดที่มหาวิทยาลัยหลุยเซียนา สเตทส์ บอกไว้ในบทความเรื่อง Lessons from Europe for American Business (ปี 1963) ว่า ข้อความในหนังสือ On the Origin of Species มีความหมายไปคนละทาง 

“ในหนังสือ Origin of Species ของดาร์วิน ไม่ใช่สปีชีส์ที่มีสติปัญญามากที่สุดที่อยู่รอด ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะอยู่รอด แต่สายพันธุ์ที่อยู่รอดได้คือสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีที่สุด” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์