เช็คสุขภาพคนไทย หลังภาษีความหวาน เข้าระยะ 3 และรัฐช่วยขยายเวลาภาษี

16 พ.ย. 2565 - 09:15

  • สรรพสามิต ขยายเวลาบังคับใช้ภาษีความหวานระยะ 3 ออกไป 6 เดือน เริ่มอีกที เม.ย. 66

  • ผู้ประกอบการ ยังถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเดิม

Sugar-sweetened-Beverages-Tax -SPACEBAR-Main
ภาษีความหวาน ถูกหยิบยกมาให้ตระหนักอีกครั้ง หลัง ครม. เห็นชอบขยายเวลาขึ้นอัตราภาษีความหวานระยะที่ 3 ออกไปอีก 6 เดือน หรือตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 นับไป 6 เดือนคือสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ไปเริ่มต้นบังคับใช้ระยะ 3 ก็ในวันที่ 1 เมษายน 2566 นี้แทน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนในปัจจุบัน และช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม มีระยะเวลาปรับตัว เพื่อรองรับการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล ระยะที่ 3 ต่อไป เหตุดังกล่าว ก็ทำให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มผสมน้ำตาลแต่ละยี่ห้อ ยังวางใจได้ ว่าขณะนี้จะยังไม่มีภาระภาษีให้ต้องจ่ายเพิ่ม และก็เป็นโอกาสของการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเอื้อให้เสียภาษีน้อยลงได้ ใน 6 เดือนนับจากนี้

ภาษีความหวานในประเทศไทย

กล่าวได้ว่า ‘ภาษีความหวาน’ หรือภาษีน้ำตาล ซึ่งรัฐเริ่มจัดเก็บกับผู้ประกอบการมาตั้งแต่ปี 2560 ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่มีข้อกำหนดจัดเก็บตามการใช้น้ำตาลในผลิตภัณฑ์ โดยยิ่งหวานมากก็ถูกเรียกเก็บมาก หวานน้อยก็จ่ายน้อย ไม่มีน้ำตาลก็ไม่ถูกเรียกเก็บ

โดยกฎหมาย ซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อ 16 กันยายน 2560 ส่งผลให้รัฐมีรายได้ส่วนนี้ ปีละประมาณ 3,500 ล้านบาท และยังกำหนดให้ปรับแบบขั้นบันไดในทุก 2 ปี เพื่อหวังให้มีการบริโภคน้ำตาลกันน้อยลง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าภาระค่าภาษีที่ผู้ประกอบการถูกเรียกเก็บ ยังไงเสียผู้บริโภคก็ต้องจ่าย และด้วยเหตุที่สถานการณ์โควิดส่งแรงกระทบไปทั่วและเป็นระยะเวลายาวนาน การเลื่อนระยะเวลาการปรับขึ้นภาษี ระยะที่ 3 ก็ถูกขยายเวลาออกไปแล้วถึง 2 ครั้ง ดังนี้
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/vXidqPIp6eudz7bhDyinb/a5b8c4a40077a8bcd67ced2c620c19d4/Sugar-sweetened-Beverages-Tax_-SPACEBAR-Photo01
อย่างที่กล่าวในข้างต้น ว่า กฎหมายฉบับนี้ เริ่มบังคับใช้ในปี 2560 ระยะ 2 ปีแรกนั้นถือเป็นช่วงเวลาให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว ก่อนมีการใช้บังคับใช้จริงในอีก 2 ปีถัดมา โดยช่วงนั้นตลาดผู้ผลิตเครื่องดื่มประมาณ 80% ได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าผลิตภัณฑ์จำนวนมาก มีการออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภท ‘ซีโร่ ชูการ์’ หรือ ‘โลว์ ชูการ์’ ผลิตภัณฑ์ที่มีความหวานน้อยไร้น้ำตาล ไร้แคลอรี แทนการใช้น้ำตาลแบบสูตรเดิมกันมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อประโยชน์ทางภาษี และตอบสนองเทรนด์การบริโภค ซึ่งทั่วโลกก็ดำเนินการมาแล้ว

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าในท้องตลาด ยังมีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงอยู่ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ยังชอบน้ำตาลสูงนั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นจุดที่ทุกฝ่ายยอมรับ ว่า นับจาก 1 ตุลาคม ปี 2562 เป็นต้นมา หากผู้ประกอบการไม่ได้ปรับลดน้ำตาลลงก็ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้า หรือแบบขั้นบันไดในทุก 2 ปี โดยเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ย 10 กรัม ถึง 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรต้องเสียภาษีตามปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องดื่มปรับราคาสูงขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

หากเทียบภาษีความหวานที่ประกาศใช้ในระยะที่ 3 วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2567 กำหนดให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับยกเว้นเก็บภาษี ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรจะเสียภาษีเพิ่มเป็น 0.30 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 3 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 5 บาทต่อลิตร
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2IFCmRY9Bu9EonxI18m3hm/c1e5290e0ee46030ea610136ab9c2adf/Sugar-sweetened-Beverages-Tax_-SPACEBAR-Photo02
ทำไมต้องเก็บภาษีความหวาน

กรมสรรพสามิต ถือว่า การเก็บภาษีความหวาน เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยปรับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ให้หันมาใส่ใจสุขภาพ บริโภคน้ำตาลน้อยลง แต่การปรับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองก็อาจทำให้เกิดคำถามว่า ภาครัฐต้องการส่งเสริมสุขภาพ หรือต้องการภาษีเข้ารัฐกันแน่ คำตอบเป็นได้ทั้งสองทาง อีกทั้งเครื่องดื่มที่มีความหวานนี้ ถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury Tax) อันได้แก่ เครื่องดื่มจำพวก น้ำโซดา น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เกลือแร่ชนิดผง น้ำผักผลไม้ และชากาแฟพร้อมดื่ม และอีกหลายชนิด ที่ล้วนแล้วไม่ได้เป็นสินค้าที่จำเป็นหรือขาดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถเลือกว่าจะรับประทานหรือไม่ก็ได้

กล่าวได้ว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ไม่ใช่เรื่องผิด จะมีผลกระทบกับสุขภาพระยะยาว โดยโทษของน้ำตาลกับสุขภาพร่างกายมีตั้งแต่ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น มีริ้วรอย เพราะน้ำตาลเป็นสารเร่ง ก่ออนุมูลอิสระ, น้ำตาล ทำให้น้ำหนักเพิ่ม เป็นโรคอ้วน, น้ำตาลทำให้สมดุลของเลือดเสียไป, น้ำตาลทำให้กระดูกและฟัน ไม่แข็งแรง ทั้งยังทำให้ร่างกาย เซื่องซึม โดยการเข้าไปสะสมในร่างกาย ก่อเกิดปัญหาสุขภาพได้ทุกเมื่อ ยิ่งถ้าอยู่ในวัยเป็นโรคจัดแพค หรือ NCDs ด้วยแล้ว ย่อมจะทำให้สุขภาพเสื่อมถอยโดยเร็ว ดังนั้น การแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น ย่อมลดผลกระทบได้

เช็คสุขภาพคนไทย หลังภาษีความหวานเข้าระยะ 3

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ยังมีผู้บริโภคที่ยังรับประทานเครื่องดื่ม ที่มีน้ำตาลทั้งน้ำตาลสูง น้ำตาลน้อย และไม่มีน้ำตาล กระจายอยู่ทั่ว แต่สัญญาณการลดระดับให้ต่ำลงนั้น มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นั่นหมายถึง สุขภาพคนไทยที่กำลังดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ล้วนสร้างประสบการณ์ใหม่ ทั้งกับคนสุขภาพดี และผู้มีร่างกายเสื่อมถอย ที่ต่างก็ต้องดูแลตัวเอง ต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น เพื่อมาช่วยต่อสู้โรคภัยฉุกเฉิน หลังการเข้าถึงระบบสาธารณสุขช่วงนั้น ก็แสนยากลำบาก แต่การมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถเป็นเกราะป้องกันภัยนี้ได้ และการลดน้ำตาลก็ช่วยได้ทางหนึ่ง เสริมแนวทางไปกับการรณรงค์ไม่กินหวานของภาครัฐไปด้วย

ขณะที่ในด้านของ ‘ภาษีความหวาน’ ก็เป็นอีกจุดขับเคลื่อน เนื่องจากทุกๆ การเก็บภาษีมักสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ให้แนวทางนั้นๆ ค่อยๆ ลดได้ไปในตัว นอกจากนี้ ยังสะท้อนภาระการดูแลสุขภาพที่จะไม่ตกอยู่กับภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างต้องกลับมาร่วมรับผิดชอบภาระสุขภาพด้วยกัน พร้อมๆ กับค่อยๆ ขับเคลื่อนจนเป็นรูปธรรมของการดูแลสุขภาพที่ดีต่อไป

ทั้งนี้ ไม่เพียงภาษีความหวานเท่านั้น ที่รัฐจัดเก็บ แต่อนาคตไม่ช้าไม่นาน ‘ภาษีความเค็ม’ หรือภาษีโซเดียม จะเป็นภาษีสุขภาพอีกตัว ที่รัฐต้องจัดเก็บด้วย
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3qe0PornQydK45PULc7lap/aeb477692b28540402dcbf9ca9886e40/Sugar-sweetened-Beverages-Tax-

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์