AI จะมาแทนที่ Data Scientist?
มีรายงานข่าวแทบทุกวันว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะมาแทนที่อาชีพกว่าสามสิบล้านตำแหน่ง ส่วนคนจะต้องปรับทักษะให้ทันกับโลกใหม่ล่าสุด ‘หนุ่มเมืองจันทน์’ ได้โพสต์ถึงงาน “เอ็กซ์คลูซีฟ ดินเนอร์ทอล์ก” ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในงาน นายอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอแห่งบริษัท SCBX จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมแชร์แนวคิดและประสบการณ์การปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจที่น่าสนใจ
เขาได้พบกับสัตยา นาเดลลา ซีอีโอ Microsoft ซึ่งพูดไว้ว่าอาชีพ data scientist หรือนักวิทยาการข้อมูล เป็นที่ต้องการมากในปัจจุบัน เปรียบได้กับ ‘ทรัพย์สิน’ (asset) ของบริษัท แต่ก็อาจกลายเป็น ‘หนี้สิน’ (liabilities) ได้ หากปราศจากการบริหารที่ดี พร้อมกับให้เหตุผลว่า 75% แอปพลิเคชันที่จะเกิดขึ้นใหม่ใน 2 ปีข้างหน้า จะเป็นการพัฒนาแบบ no-code จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาชีพนี้อีกต่อไป
ถามว่าประเด็นนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อันที่จริงตลาดแรงงานต้องการตลาดโลกต้องการคนทำงานที่มีทักษะการเขียนโค้ดและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำนวนมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตถึงปี 2027 ตามการคาดการณ์ของสภาเศรษฐกิจโลก
จากรายงาน Future of Jobs 2023 พบว่าอาชีพที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning ในขณะที่ Data Analysts และ Data Scientists อยู่ที่อันดับ 6 จากทั้งหมด 10 อาชีพ ในทางกลับกันอาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะคนทำอาชีพป้อนข้อมูล และกรอกข้อมูลต่างๆ นั้นติดอันดับ 6 จาก 10 อาชีพที่กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นสิ่งที่ AI ทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
แต่การมาถึงของ ChatGPT และเทคโนโลยี Generative AI ที่สามารถผลิตเนื้อหาจากการประมวลผลและเรียนรู้อันรวดเร็ว เขียนโค้ดได้ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิด Disruption เร็วขึ้น โดยที่อาชีพเหล่านี้จะใช้ AI เป็นเครื่องมือ (tools) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่สุดท้ายแล้ว ‘มนุษย์’ ก็ยังจำเป็นต้องทำหน้าที่ ‘ดูแลตรวจสอบ’ อยู่ดี โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ซึ่ง ChatGPT นั้นยังมีจุดบอดด้านนี้อยู่เยอะ
Mark Muro นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน Brookings ซึ่งทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจาก AI ต่อตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาชี้ว่า เทคโนโลยีอย่าง ChatGPT สามารถเขียนโค้ดได้เร็วกว่าโปรแกรมเมอร์ ต่อไปทีมพัฒนาโปรแกรม/ซอฟต์แวร์ต่างๆ จะมีขนาดเล็กลงและปิดจ็อบได้ไว
ส่วนการพัฒนาโปรแกรมแบบ Low code กับ No code นั้นเป็นเทรนด์ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ลดความซับซ้อนของการเขียนโค้ด ซึ่ง Microsoft ก็สนับสนุนเทรนด์นี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าธุรกิจสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันและเครื่องมือต่างๆ ได้เอง แม้แต่สัตยา นาเดลลา ซีอีโอบริษัทยังกล่าวว่า สำหรับคนที่ฝันถึงอนาคตที่เครื่องจักรจะทำงานแทนนั้น ก็อาจเป็นจริงได้ในอนาคต พร้อมย้ำว่า ‘เราจะหันหลังกลับไม่ได้แล้ว’