จาก ‘แอสปาร์แตม’ ถึง ‘ความหวาน’ ในเมืองไทย ใครกำหนด?

20 ก.ค. 2566 - 07:50

  • ‘แอสปาร์แตม’ มีความเสี่ยงต่อการก่อมะเร็งน้อยกว่าเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว

  • อัตราการเติบโตของเครื่องดื่มไร้น้ำตาล พ.ศ.2566 จะสูงถึง 30%

  • ภายใน 5 ปี ตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมเกินครึ่งจะ ‘ไร้น้ำตาล’

  • สารให้ความหวานจะมาแทนน้ำตาลมากขึ้น หลังรัฐมีนโยบายภาษีความหวาน

TAGCLOUD-aspartame-future-of-beverage-market-SPACEBAR-Thumbnail
‘แอสปาร์แตม’ (aspartame) ถูกจัดให้เป็นสารในกลุ่ม ‘เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง’ (possibly carcinogenic) 

หลังหน่วยงานในสังกัดองค์กรอนามัยโลก (WHO - World Health Organization) ออกมาระบุข้อความข้างต้น เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 กรกฎาคม) คนทั้งโลกก็ผวาและมองเครื่องดื่มไร้น้ำตาลไม่เหมือนเดิม 

เนื่องจาก ‘แอสปาร์แตม’ เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมหลักของเครื่องดื่มไร้น้ำตาลของหลายแบรนด์ดังในตลาด พอถูกระบุว่า “เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง” ภาพความเฮลทีที่แบรนด์ต่างๆ สร้างไว้ในใจผู้บริโภค ก็ดูจะหายวับไปกับตา 

‘แอสปาร์แตม’ ไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิค แต่ส่งผลต่อความรู้สึกผู้บริโภค 

หลัง WHO ประกาศ หลายคนรู้สึกลังเลที่จะซื้อดื่มต่อไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บางคนดื่มเครื่องดื่มไร้น้ำตาลเป็น daily drink ประเภท ดื่มอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่น้ำเปล่า 

ขณะที่ผู้ผลิตต้องคิดขยับตัว ปรับสูตรสร้างทางเลือกหวานไร้น้ำตาลใหม่ โดยใช้สารทดแทนตัวอื่น เพื่อแก้ปัญหาด้านอารมณ์ความรู้สึกผู้บริโภค มากกว่าที่จะแก้ปัญหาเชิงเทคนิค 

เนื่องจากตัวสาร ‘แอสปาร์แตม’ ไม่ได้น่ากลัวมากขึ้นหรือลดลง และภายใต้คำว่า “เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง” แอสปาร์แตมก็ยังเป็นสารที่กินได้เหมือนที่เคยเป็นมา 

ขณะที่ อ.ย. ของสหรัฐฯ (FDA) เห็นแย้งกับ WHO ระบุว่า “ไม่พบข้อกังวลด้านความปลอดภัย” ถ้าใช้แอสปาร์แตมภายใต้เงื่อนไขที่อนุมัติ (อ่านเพิ่มเติม ‘สารให้ความหวาน’ ปลอดภัยจริงไหม!? ทำไม FDA กับ WHO ถึงตีกัน!

เกณฑ์อันตรายที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมด้านวัตถุเจือปนอาหาร (JECFA) เตือนคือ ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมแอสปาร์แตม 9-14 กระป๋องต่อวัน ซึ่งถือว่าสูงมาก และคงหาได้น้อยคนที่จะบริโภคเยอะขนาดนั้น 

“การจัดกลุ่มให้แอสปาร์แตมอยู่ในกลุ่ม 2B คือ สารในกลุ่ม ‘เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง’ เป็นการจัดกลุ่มจากงานวิจัย ‘เล็กน้อย’ ที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยเป็นมะเร็ง แต่ไม่ได้ฟันธงว่าก่อมะเร็ง ดังนั้นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก” รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ SPACEBAR และชี้ให้เห็นว่าควรตระหนกกับนิสัยการกินของคนส่วนใหญ่ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อมะเร็งมากกว่า 

“ขณะที่เรายังกินเนื้อแดงกันเป็นปกติ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 2A สารที่ ‘น่าจะ’ หรือ ‘เป็นไปได้มาก’ ว่าจะก่อมะเร็ง หรือแม้กระทั่งดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ในกลุ่ม 1 สารก่อมะเร็งด้วยซ้ำ” 

อาวุธหลักในสมรภูมิเครื่องดื่ม 

ในแง่การตลาดและการผลิต สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (‘แอสปาร์แตม’ คือหนึ่งในนั้น) คืออาวุธสำคัญที่ช่วยให้ไม่ต้องจ่าย ‘ภาษีความหวาน’ ที่เก็บตามอัตราปริมาณน้ำตาล และสู้ในสมรภูมิเครื่องดื่ม ‘ไร้น้ำตาล’ ที่ถนนทุกสายกำลังมุ่งไป ด้วยอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7cud9S00MZUbPXRiBAyXZc/0de8e6db740e4409c65d260fefaec70e/info_TAGCLOUD-sweet-tax__1_
30% คือตัวเลขอัตราการเติบโตของเครื่องดื่ม ‘ไร้น้ำตาล’ ในไทย พ.ศ.2566 ที่ผู้บริหารฝ่ายการตลาดแบรนด์เครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง ‘โค้ก’ (โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว) และ ‘เป๊ปซี่’ (บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด) ประเมินตรงกัน 

ถ้าอัตราเติบโตอยู่ในสปีดนี้ (30%) ภายใน 5 ปี กลุ่มเครื่องดื่มประเภท ‘น้ำอัดลมไร้น้ำตาล’ จะกินส่วนแบ่งเกือบ 50% ของตลาดน้ำอัดลม 

ถามว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวมีความเป็นไปได้แค่ไหน ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตยุคน้ำตาลเฟื่องฟู จะพบว่า ถ้ารัฐและทุนพร้อมใจสนับสนุนเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ (ต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์แบบวิน-วิน) ตลาดสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะเติบโตและแซงหน้าน้ำตาลในไม่ช้า 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4uXFp0Qw8nG1IpphxdMkqx/c5aa92e3eaeaef405255325a229ab281/___________________-3-_____1_

หวานไทย ใครกำหนด? 

คำถามสั้นๆ ที่มีคำเฉลยในย่อหน้าที่แล้ว ถ้าคุณอยากรู้รายละเอียดให้มากขึ้น ลองอ่านเรื่องราวความหวานในเมืองไทยโดยสังเขป ต่อไปนี้ 

ว่ากันว่าเซาท์อีสต์เอเชียเป็นดินแดนที่อุดมด้วยพืชพรรณนานาที่ให้รสหวาน ไม่ว่าจากต้นมะพร้าว ตาลโตนด จาก หญ้าคา เมืองไทยยุคก่อนอุตสาหกรรมจึงรุ่มรวยความหวานจาก ‘น้ำตาล’ หลากชนิด ซึ่งปรากฏให้เห็นในหนังสืออักขราภิธานศัพท์ของหมอบรัดเลย์ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2416 ต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งกล่าวถึงน้ำตาลมากถึง 16 ประเภท 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/21ZOkvjeLAJZCexx5eo3zd/d1526dce5704db635c5af5d5ff0dadb8/TAGCLOUD-aspartame-future-of-beverage-market-SPACEBAR-Photo01
Photo: หนังสืออักขราภิธานศัพท์ โดย หมอบรัดเลย์
ทว่าความหวานอันรุ่มรวยนั้นก็เริ่มจืดจางลง หลังเมืองไทยเดินเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม อ้าแขนรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเต็มระบบ ความหวานที่เคยอยู่ในมือชาวบ้าน ผันสู่มือผู้มีอำนาจรัฐและนายทุน มีตัวชี้วัดความสำเร็จเป็นตัวเลขเศรษฐกิจ ผลกำไร-ขาดทุน โดยใช้สุขภาพประชาชนเป็นข้ออ้าง 

น้ำตาลในฐานะสินค้าที่ส่งตรงจากโรงงาน ค่อยๆ ขยายฐานการผลิต จากไม่เพียงพอ เริ่มมากขึ้นจนล้นตลาด น้ำตาลถูกขนส่งเข้าสู่ระบบตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้นในรูปส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่ม 

ขณะเดียวกันภาครัฐแก้ปัญหาน้ำตาลล้นตลาด และความผันผวนของราคาตลาดโลก ซึ่งส่งผลต่อการส่งออก ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ จำหน่ายให้ในราคาถูก พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนกินน้ำตาลมากขึ้น 

เช่นใน พ.ศ. 2505 คณะโภชนาการแห่งชาติได้จัดหลักอาหาร 5 หมู่ โดยแนะนำน้ำตาลไว้ในหมู่ที่ 2 คือ ข้าว แป้ง และน้ำตาล โดยไม่แนะนำว่าควรกินปริมาณเท่าใด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5HqyY5O9hI8BprWQAT44yp/2fecf7b3f6f08af9fc43878104f2bfd9/TAGCLOUD-aspartame-future-of-beverage-market-SPACEBAR-Photo02
Photo: ธงโภชนาการของกรมอนามัย
โดยไม่รู้ตัว พอกินหวานมากขึ้น น้ำตาลค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเลือด พร้อมกับลิ้นคนไทยที่เริ่มเคยชินและติดในรสหวาน จนกระทั่งสุขภาพแย่ลงเพราะผลกระทบจากน้ำตาล โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจ ฯลฯ 

ตัวเลขค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขจากโรคที่มากับการกินน้ำตาล ไต่ระดับขึ้นสูงจนสร้างภาระต่อภาษีและรายได้ของรัฐ จนไม่คุ้มกับรายได้จากการค้าน้ำตาล 

ไม่ใช่แค่ไทย แต่คนทั้งโลกที่ถูกบิ้วให้กินหวาน เร่ิมส่งสัญญาณสุขภาพน่าเป็นห่วง รัฐบาลในหลายประเทศ รวมถึงไทยจึงทำสิ่งที่สวนทางกับอดีต จากส่งเสริมให้กินหวาน เป็นรณรงค์ให้ไม่กินหวาน หรือกินหวานในปริมาณที่เหมาะสม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3rj0tuAmAhO1kSX0p23a4s/34433fcdc3d7d95b10fb0f8344ace106/TAGCLOUD-aspartame-future-of-beverage-market-SPACEBAR-Photo03
Photo: เด็กไทยไม่กินหวาน โดย สสส.
รัฐบาลเริ่มทำสงครามกับความหวานหนักขึ้น เมื่อภาระด้านสุขภาพคุกคามงบฯ ที่รัฐต้องใช้จ่าย โดยมีมาตรการ ‘ภาษีความหวาน’ เป็นอาวุธต่อกรกับปัญหาเนื่องจากการบริโภคน้ำตาล 

ประชาชนส่วนหนึ่งหันมาเซย์โนความหวานจากน้ำตาล พ่อค้าและนายทุนประดิษฐ์ความหวานไร้แคลอรี่มานำเสนอ ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ในตลาด 

หลังจากนั้น เครื่องดื่มที่มีคำว่า Sugar Free ก็ค่อยๆ กินพื้นที่บนชั้นวางในร้านสะดวกซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับสำนึก ‘ขอหวานน้อย’ และ ‘ไม่ใส่น้ำตาล’ ของคนรุ่นใหม่ที่มากขึ้นทุกวัน 

แล้วคุณล่ะ ทุกวันนี้ดื่มเครื่องดื่มที่มี ‘น้ำตาล’ หรือ ‘ไร้น้ำตาล’ มากกว่ากัน. 

ค้นหาอินไซด์จากข้อมูล Social Listening และเรื่องราวน้ำตาลแบบเจาะลึกได้ใน รายงาน เปิดดาต้า วัดค่า ‘หวานไร้น้ำตาล’ คนไทย ปี 2565 โดย SPACEBAR • DATAOPS 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์