ชำแหละแผนแจกเงินดิจิทัลของเพื่อไทย ความฝันกับความจริงที่อาจไม่ลงตัว

10 เมษายน 2566 - 09:15

TAGCLOUD-expectation-and-reality-of-digital-money-of-phuethai-party-SPACEBAR-Thumbnail
  • อีกหนึ่งนโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทย หลังจากที่ปีที่แล้ว แพทองธาร ชินวัตร ประกาศเพิ่มค่าแรงเป็น 600 บาท

  • คราวนี้ เศรษฐา ทวีสิน อีกหนึ่งแคนดิเดต ประกาศแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยิ่งทำให้พรรคนี้อยู่ในแสงเจิดจ้าอีกครั้ง

สิ่งที่หวือหวาที่สุดแต่ก็สุ่มเสี่ยงที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ‘นโยบายแจกเงิน’ ของพรรคต่างๆ  

แม้แต่คำว่า ‘แจกเงิน’ ก็ดูจะเป็นคำที่ชวนให้เกิดวิวาทะโต้เถียงได้ง่ายๆ ดังนั้นผู้เขียนจึงเลือกอธิบายว่าการแจกเงินของพรรคต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับ ‘นโยบายสวัสดิการ’ ซึ่งมีทั้งการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจด้วยการให้เงินตรงๆ กับประชาชน และช่วยทางอ้อมในรูปแบบของโครงการต่างๆ ที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน หรือจ่ายน้อยที่สุด 

แบบนี้มันถึงหวือหวา แต่ที่สุ่มเสี่ยงก็คือบางนโยบายของบางพรรคหวุดหวิดจะเข้าข่ายผิดกฎหมายการเลือกตั้ง  

เรากำลังพูดถึงคำประกาศของ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศจะแจกเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน  

ความฝันของเศรษฐาและเพื่อไทย 

1. ทำไมต้องเงินดิจิทัล?  

เงินที่จะแจกเป็นเงินดิจิทัล ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (ดิจิทัลวอลเล็ต) จำนวน 10,000 บาท      
  • มาจากเทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) โดยเพื่อไทยอธิบายว่า เงินที่มาจากบล็อคเชนสามารถเขียนโค้ด (Code) กำหนดได้ว่าต้องการนำไปใช้เพื่อกระตุ้นภาคส่วนไหน  
  • เพราะเงินดิจิทัลสามารถเขียนโค้ดเพื่อจำกัดวิธีการใช้ได้ นั่นคือเน้นเอาไปใช้จ่ายสิ่งของจำเป็นในชีวิตเท่านั้น ส่วนการแจกเงินสดอาจถูกนำไปใช้ในเรื่องที่ไม่เหมาะสม เช่น การพนันและยาเสพติด 
  • เพื่อไทยหวังว่าการริเริ่มนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การใช้เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) และใช้ CBDC เป็นเงินหลักในการทำธุรกรรมทุกอย่างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  
  • เพื่อไทยหวังแผนการแจกดงินดิจิทัลนี้ จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียที่ใช้ CBDC อย่างจริงจังต่อจากจีน และไม่เกินอันดับ 10 ของโลกที่มีระบบการเงินยุคใหม่ลักษณะนี้  
  • พวกเขายังหวังว่าประเทศไทยยังจะกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) และศูนย์กลางบล็อคเชน และศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของโลก 

2. แจกเงินไปทำไม?  

เพื่อไทยบอกว่าการแจกเงินดิจิทัลเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ให้เกิดผลดีอย่างรวดเร็วต่อเศรษฐกิจ  
  • ดังนั้น ต้องใช้เงินดิจิทัล เพราะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม สามารถเข้ารหัสให้เงินที่แจกไปมีอายุเพียง 6 เดือน เกินกว่านั้นจะใช้การไม่ได้ ตามเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน 
  • เงินที่แจกไปจะเข้ารหัสให้สามารถใช้ได้เฉพาะที่ โดยเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะเมืองหลวง, เมืองใหญ่ๆ หรือเมืองท่องเที่ยวที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนสูง   
  • เพื่อไทยบอกว่าต่อไปคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะมีบัญชีเงินออม 2 บัญชี คือบัญชีเงินปกติผูกกับธนาคารพาณิชย์ และบัญชีดิจิทัลวอลเล็ตโดยผูกกับบัตรประชาชนโดยอัตโนมัติ เพื่อสร้างแรงจูงใจใหคนหันมาใช้ระบบเงินดิจิทัล 

3. ใช้เงินกันยังไง? 

เงินนี้ไม่ได้ใช้ได้ทุกที่ทั่วไทย (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเวลาไปใช้นอกไทย) เงินดิจิทัลที่จะแจกนี้นำไปจับจ่ายได้ในรัศมี 4 กิโลเมตรเท่านั้น โดยเข้ารหัสตามที่อยู่ในบัตรประชาชน 
  • แต่ถ้ามีที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนหรือไม่มีร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตร ก็จะเพิ่มวงรัศมีการใช้จ่ายให้ เช่น เพิ่มเป็นรัศมี 7 กิโลเมตร 
  • แต่ถ้ามีที่อยู่ตามบัตรประชาชนในต่างจังหวัด แต่ตัวเองอยู่ในกรุงเทพฯ จะใช้เงินไมได้ เพราะเป้าหมายต้องการให้ใช้เงินในท้องถิ่น 
  • ถ้าได้รับเงินแล้ว ภายใน 6 เดือนไม่ได้กลับไปใช้ตามที่อยู่ เงินนั้นก็จะหายไป  
4. เงินมาจากไหน 
  • จากภาษี หากเศรษฐกิจกลับมาดีแล้ว รายได้จากการจัดเก็บภาษีน่าจะเพิ่มขึ้น 26,000 ล้านบาทในปี 2567  
  • จากการจัดงบประมาณภาครัฐ จากการลดงบประมาณภาครัฐที่ไม่จำเป็น รวมถึงสวัสดิการรัฐที่ลดลงไป จะได้เงินเหลือจำนวนหลายแสนล้านบาท  
  • ให้ประชาชนเลือกว่าจะใช้บัตรคนจนหรือว่าดิจิทัลวอลเล็ต แต่เพื่อไทยคาดว่าเมื่อคนไทยไม่อยากใช้บัตรคนจน (หรือหลุดจากเกณฑ์ขึ้นทะเบียนบัตรคนจนแล้วเพราะมีรายได้มากขึ้นจากเงินดิจิทัลของพวกเขา) ก็จะหันมาใช้ดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อนั้นมันจะช่วยรัฐประหยัดเงินได้ 50,000 ล้านบาท  
  • เมื่อใช้จ่ายเงินนี้แล้ว รัฐจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายกลับคืนมาเป็นงบประมาณของรัฐ 

ความเป็นไปได้ในโลกความจริง 

1. ในแง่คริปโทฯ ศาสตร์ 

เราจะมาลองวิเคราะห์ความเป็นได้ของแผนแจกเงินดิจิทัลของเพื่อไทย ก่อนอื่นในแง่เทคนิค มีคำถามชวนให้คิดหลายเรื่อง  
  • ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ กำลังศึกษาเรื่องเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) แต่ยังไม่มีประเทศหลักๆ ประเทศไหนที่ประกาศจะใช้บล็อคเชน 
  • อาจเป็นเพราะ CBDC ไม่จำเป็นต้องเป็นบล็อคเชน และถ้ามันเป็นบล็อคเชน (หรือที่จริงคือระบบ DLT) มันอาจต้องเป็นบล็อคเชนที่ไม่สามารถเข้าถึงดาต้าอย่างเสรี (permissioned blockchain) แต่เปิดให้เข้าถึงระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน และท้ายที่สุดต้องถูกกำหนดและควบคุมโดยธนาคารกลาง 
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโครงการทดลองอยู่ก่อนแล้ว ในชื่อ ‘โครงการอินทนนท์’ ร่วมกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง โดยเริ่มจากการสร้างเครือข่าย DLT โดยแปลงเงินฝากของสถาบันการเงินเหล่านี้กับ ธปท. ให้อยู่ในรูปของเงินดิจิทัลของ ธปท. (CBDC) จากนั้นจึงจะพัฒนาการทำธุรกรรมด้วย CBDC เป็นลำดับต่อไป โดยไปจบที่การทดลองใช้กับธุรกิจเอกชน (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) 
  • เงินดิจิทัลของเพื่อไทยดูเหมือนจะไม่ต่างจากแอปเป๋าตังหรือพร้อมเพย์สักเท่าไร ซึ่งอย่างหลังมีรูปแบบเป็นอีวอลเล็ต ซึ่งก็เป็นเพียงอีกคำเรียกหนึ่งของดิจิทัลวอลเล็ตที่เพื่อไทยใช้ 
  • เพื่อไทยบอกว่าจะผลักดันให้ไทยตามรอยจีนที่เริ่มใช้ CBDC ไปแล้ว แต่ หยวนดิจิทัล (e-CNY) นอกจากจะไม่ใช่ระบบบล็อคเชน (หรือ DLT) แล้ว ยังมีความเป็นแอปเป๋าตังหรือพร้อมเพย์มากกว่า เพราะมันเป็นแค่เวอร์ชั่นดิจิทัลของเงินที่จับต้องได้ (Fiat currency) เท่านั้นจากการระบุของธนาคารกลางของจีน (PBC) 

2. ในแง่เศรษฐศาสตร์ 

เพียงแค่ตั้งข้อสังเกตในเทคนิค เราจะเห็นว่าดิจิทัลวอลเล็ตของเพื่อไทยอาจจะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว แต่แค่เรียกให้ต่างออกไป และนำบล็อคเชนเสริมเข้ามา แต่ความจำเป็นเรื่องการใช้บล็อคเชนเป็นเรื่องที่น่ากังขามาก 
  • ในแง่เศรษฐศาสตร์ ที่มาของเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐ CBDC ควรจะเป็นแค่เวอร์ชั่นดิจิทัลของเงินที่จับต้องได้ (Fiat currency) เหมือนอย่าง e-CNY ของจีน เพราะคริปโทเคอเรนซี่มีสภาพที่คล้ายกับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่มีอยู่อย่างจำกัดและบางประเภทยังต้อง ‘ถลุง’ (Mining) มากกว่าที่จะเป็นสกุลเงิน (Currency) ที่รัฐสามารถ ‘ปั๊ม’ (Issue) ออกมาได้ไม่จำกัดจำนวนและเวลา 
  • แต่ต้องเข้าใจว่าเงินตรา (Currency) ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจออกมาโดยธนาคารกลาง โดยไม่ได้อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีค่า (เช่น ทองคำ) แต่อิงกับความเชื่อมั่นต่อรัฐและสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ต่อให้เงินมีสภาพเป็นดิจิทัล มันก็ยังหลีกหนีกฎนี้ไม่พ้น 
  • แม้ว่า CBDC จะไม่ใช่เงินคริปโทฯ ที่อิงกับเทคโนโลยีบล็อคเชน แต่เทคโนโลยีของบล็อคเชน หรือ DLT จะมีความสำคัญอย่างมากต่อระบอบการเงินยุคใหม่ อย่างที่เราเห็นในโครงการอินทนนท์ของ ธปท.  

3. ในแง่รัฐศาสตร์ 

แน่นอนว่านโยบายนี้มีจุดประสงค์เพื่อหาเสียง อย่างที่เพื่อไทยกล่าวย้ำแล้วย้ำอีกในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ว่าการจะผลักดันแผนแจกเงินดิจิทัลให้สำเร็จได้ จะต้องอาศัย ‘อำนาจรัฐ’ ซึ่งหมายความว่าเพื่อไทยจะต้องได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น 
  • มีความสุ่มเสี่ยงที่การประกาศนโยบายโดยใช้คำว่า ‘แจกเงิน’ อาจจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่เพื่อไทยอธิบายว่า นี่คือนโบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์จะได้เท่าเทียมกัน (หมายความว่า ไม่ใช่การแจกเงินเฉพาะบุคคลเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง) 
  •  ส่วนผลต่อการเมือง มีข้อสังเกตว่า การแจกเงินรูปแบบนี้คล้ายกับการแจกเงินสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (เช็คช่วยชาติ) เมื่อปี 2552 ซึ่งแม้เงินของอภิสิทธิ์อยู่ในรูปของเช็ค ส่วนเงินของเพื่อไทยเป็นเงินดิจิทัล แต่ทั้งสองต่างก็สามารถตั้งเงื่อนไขการใช้ได้ ตั้งระยะเวลาที่ใช้ สถานที่ใช้ และเป้าหมายก็เหมือนกันมาก สิ่งที่ควรทราบก็คือ หลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้นโยบายแจกเงินแบบนี้แล้ว พรรคของเขาไมได้ชะนการเลือกตั้งแต่อย่างใด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์