NFTs ‘สินทรัพย์รอฟื้น’ หรือ ‘ค่าโง่’ เมื่อ 95% ไร้มูลค่า

3 ตุลาคม 2566 - 05:27

NFT, NFTs, worthless, ไร้มูลค่า, เจ๊ง, พัง, จบ, ขาดทุน, ตายแล้ว, dead, น่าสนใจ
  • ตอนนี้ NFTs มากถึง 95% นั้นไม่มีมูลค่าใดๆ

  • อีก 5% ที่เหลือมูลค่าลดฮวบ เหลือเพียงหลักร้อยถึงหลักพันบาท

  • บิล เกตส์ พูดเมื่อปี 2022 ว่า NFTs เป็นเรื่องหลอกลวง วางอยู่บนทฤษฎีคนโง่กว่า ที่ยินดีซื้อเพื่อหวังกำไรที่สูงขึ้น

  • มูลค่าของ NFTs วางอยู่บนเทคโนโลยีและความเชื่อที่ถูกตั้งคำถามถึงมูลค่าที่แท้จริง

  • ส่องกระแสราคา NFTs และความสนใจบน Google Trends สะท้อนภาวะความเชื่อผู้คนวันนี้

ตอนนี้หลายคนคงรู้แล้วว่า NFTs กำลังมีสถานะเป็น ‘ทรัพย์สินที่ไร้ค่า’

หลัง Business Insider รายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (20 กันยายน) ว่า NFTs มากถึง 95% นั้นไม่มีมูลค่าใดๆ

ตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจของ dappGambl แพลตฟอร์มชุมชนคนที่ชื่นชอบบล็อคเชนและให้คำแนะนำการพนันในโลกคริปโทที่พบว่า NFTs จำนวน 69,795 คอลเลคชันจาก 73,257 คอลเลคชัน มีมูลค่าตลาด (market cap) เป็น 0

“โดยประมาณการณ์ว่า คนเกือบ 23 ล้านคนที่ครอบครอง NFTs กำลังครอบครองสินทรัพย์ที่ไร้ค่า”

dappGambl

ขณะที่อีก 5% ที่เหลือ มีมูลค่าลดฮวบกันถ้วนหน้า ส่วนใหญ่เหลือเพียง 5-100 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (ราว 180-3,600 บาท)

หากย้อนไปดูบท วิเคราะห์ตลาด NFTs ในปี 2023: มุมมองจากวงใน ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ coinmarketcap.com ช่วงกลางปีที่ผ่านมา จะพบข้อสังเกตว่า 

การทำธุรกรรม NFTs ที่ลดลง มาพร้อมแนวโน้มที่มี ‘ผู้ซื้อ’ น้อยกว่า ‘ผู้ขาย’ 

โครงการ NFTs ‘บลูชิป’ (Blue Chip) หรือ NFTs ที่มีมูลค่าสูง เจอปัญหาราคาพื้นฐานที่ลดลง เช่น Bored Ape Yacht Club ราคาพื้นฐานลดลง 2 ใน 3 จากจุดสูงสุดที่ 153.7 ETH (เมษายน ปี 2022) เหลือต่ำกว่า 50 ETH และลดลงเหลือ 24 ETH (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน ปี 2023)

NFT, NFTs , Bored Ape Yacht Club, ราคา, กราฟ, กราฟราคา
Photo: กราฟแสดงราคา NFTs - Bored Ape Yacht Club ตั้งแต่เมษายน ปี 2021 - 29 กันยายน ปี 2023
  • ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาด NFTs และจำนวนผู้ถือ NFTs เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า แม้จะมีการเติบโตที่โดดเด่นขนาดนี้ แต่ตลาด NFTs ก็ยังค่อนข้างเล็ก
  • อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาด NFTs แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่สำคัญในการเติบโตและการยอมรับในอนาคต (?)

แต่จากสถานการณ์ล่าสุด แนวโน้มตลาด NFTs อาจไม่ได้มีศักยภาพเติบโตอย่างที่บทวิเคราะห์ (จากวงใจ) พยายามชี้ให้เห็น และชวนให้นึกถึงคำเตือนของหลายคนที่ตั้งข้อกังขากับมูลค่าของ NFTs ที่ดูเกินจริง และไม่วางอยู่บนพื้นฐานใด นอกจากความเชื่อ (และความโลภ)

บิล เกตส์ (Bill Gates) คือหนึ่งในนั้น เขาเคยพูดเมื่อมิถุนายน ปี 2022 ว่า NFTs รวมถึงบรรดาคริปโทนั้นเป็นเรื่อง “หลอกลวง”

เกตส์บอกว่า กระแสสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดขึ้นวางอยู่บน ทฤษฎีคนโง่กว่า 100% หรือแนวคิดที่ว่านักลงทุนสามารถสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ไม่มีค่าหรือมีมูลค่าเกินจริง ตราบใดที่มีคน (โง่กว่า) ยินดีที่จะเสนอราคาที่สูงขึ้น

พร้อมพูดติดตลกถึงภาพ Bored Apes Yacht Club ว่า “ภาพดิจิทัลรูปลิงที่ราคาแพง” (คง) จะ “ช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้นมาก”

Bored Ape Yacht Club, Bored Ape #3562, ราคาแพงที่สุด
Photo: Bored Ape #3562 มีการซื้อขายราคาแพงที่สุด สนนราคา 1.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 60 ล้านบาท (moneymade.io)

นอกจากงานศิลปะในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล (Digital Art) แล้ว NFTs ยังรวมถึงสิ่งใดๆ ก็ตามที่อยู่ในรูปไฟล์ดิจิทัล เช่น ภาพมีม รูปถ่าย ไอเท็มเกม หรือแม้แต่ทวีตในทวิตเตอร์

ถ้าจำกันได้ช่วงต้นปี มีนาคม 2021 แจ็ก ดอร์ซี (Jack Dorsey) ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ เปิดประมูลทวีตแรกในทวิตเตอร์ของเขาในรูปแบบ NFTs โดยมีคนประมูลที่ราคา 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 105 ล้านบาท

ช่วงนั้นเป็นช่วงต้นของกระแส NFTs ผู้คนมองมันเป็นสิ่งใหม่ที่ ‘ทำเงิน’ ได้ ถึงขั้นที่มีการสร้าง ‘ที่ดิน’ บนแพลตฟอร์มในโลกเสมือนจริงขาย โดยมูลค่าที่ดินที่ซื้อขายกันราคาสูงที่สุด เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม Sandbox วันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2021

ที่ดินผืนนั้นชื่อ 24×24 Estate Land ถูกขายในราคา 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 156 ล้านบาท

Sandbox, NFTs, NFT, 24×24 Estate Land, ที่ดิน, ราคา
Photo: แผนที่ที่ดินในโลกเสมือนบนแพลตฟอร์ม Sandbox

ถามว่าทำไม NFTs ถึงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าขึ้นมาได้ เหตุผลมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ

1. เทคโนโลยี NFT หรือ Non-Fungible Token ทำให้ไฟล์ดิจิทัลที่ปกติสามารถ ‘ทำซ้ำ’ (copy) ได้ไม่รู้จบ ให้เป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว’

Fungible แปลว่า ทดแทนกันได้ คือสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนหรือแทนที่กันได้ เช่น แบงค์ 100 บาทสามารถแลกเป็นเหรียญสิบบาท 10 เหรียญ หรือแบงค์ห้าสิบบาท 2 ใบ

ขณะที่ Non-Fungible มีลักษณะตรงกันข้าม คือสินทรัพย์นั้น “ไม่มีสิ่งใดสามารถทดแทนกันได้” ยกตัวอย่างผลงานศิลปะหรือของเก่าที่ประมูลกันในโลกจริง สิ่งเหล่านี้มีมูลค่าสูงเพราะมี ‘ชิ้นเดียวในโลก’

ซึ่ง NFTs ช่วยเปลี่ยนให้ไฟล์ดิจิทัลธรรมดาให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มี ‘ชิ้นเดียวในโลก’ ด้วยคุณสมบัติการเป็นเหรียญดิจิทัลที่มีมูลค่าเฉพาะ (ต่างจากเหรียญคริปโททั่วไปที่เป็น Fungible คือแลกเปลี่ยนกันได้ เหมือนสกุลเงิน) โดยจัดเก็บข้อมูลที่แสดงอัตลักษณ์ของสินทรัพย์ลงในระบบบล็อกเชน (Blockchain)

ภาพมีม ‘ชิบะ’ (Doge) บน Dogecoin ที่มาจากภาพต้นฉบับหมาชิบะนั่งไขว้ขาเหล่มองมาที่กล้องที่โด่งดังในอินเทอร์เน็ต (เชื่อว่าหลายคนคงเคยแชร์กันสนุกๆ ในโซเชียลมีเดีย) จึงถูกประมูลขายในมูลค่า 1696.9 ETH หรือราว 126 ล้านบาท

Doge, มีมชิบะ, มีม, meme, NFTs, NFT
Photo: ภาพมีม ‘ชิบะ’ (Doge)

ทั้งที่จริงๆ แค่กดเซฟรูปนี้ลงคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน คุณก็ได้เป็นเจ้าของรูปมีมชิบะแล้ว เพียงแต่รูปที่คุณมี ไม่ได้มีมูลค่าใดๆ เพราะไม่มี code ที่ระบุว่า มันเป็น ‘ภาพต้นฉบับ’

คำถามคือ ทำไมไฟล์ดิจิทัลที่แค่พิสูจน์ได้ว่ามีความเป็นต้นฉบับถึงมีมูลค่าขนาดนั้น ซึ่งคำตอบอยู่ที่ปัจจัยต่อมา

2. ความเชื่อ หรือที่ ยูวาล โนอาห์ ฮารารี (Yuval Noah Harari) ผู้เขียนหนังสือ Sapiens A Brief History of Humankind ใช้คำว่า ‘จินตนาการร่วม’ ของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้มนุษยชาติทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันได้มากมาย

เงินตรา คือตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด ทำไมธนบัตรจึงไม่ใช่แค่กระดาษ ทำไมตัวเลขในบัญชีบน mobile banking ที่เสมือนสิ่งไร้ตัวตนถึงมีมูลค่า เหตุผลก็เพราะมนุษย์สมมติร่วมกันขึ้นมาให้มันเป็นเงินตรา ที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือสิ่งใดๆ ก็ตามในชีวิต

เช่นเดียวกับ บิทคอยน์ (Bitcoin) เงินดิจิทัลอีกหลายสกุล รวมถึง NFTs ที่จู่ๆ มีค่าขึ้นมหาศาลในเวลาไม่นาน เมื่อความเชื่อของคนหมู่มาก เชื่อว่ามันมีมูลค่า

ไฟล์ดิจิทัลที่มีรหัสเฉพาะแสดงความเป็นต้นฉบับที่มีชิ้นเดียวในโลก แม้ว่าจะมีคนนับล้านที่มีไฟล์แบบเดียวกันในครอบครอง จึงมีมูลค่ามหาศาล เมื่อคนจำนวนหนึ่งเริ่มทำกำไรได้จากการซื้อขาย คนอีกจำนวนมากจึงแห่เข้ามาทำการซื้อขายหวังเก็งกำไร

แต่กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่า ความเชื่อในมูลค่าของ NFTs นั้นแสนเปราะบาง มูลค่าของมันพุ่งขึ้นวูบวาบรวดเร็วราวดอกไม้ไฟ (มูลค่า NFTs เพิ่มสูงอย่างมากช่วงกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ปี 2021 โดยขึ้นสูงจุดสูงสุดวันที่ 17 มีนาคมในปีเดียวกัน) แต่หลังสามเดือนผ่านไป มูลค่าของมันก็มีแนวโน้มซบเซาลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

NFTs, NFT, กราฟ, กราฟราคา, ราคา, ร่วง, ขาดทุน, เจ๊ง
Photo: กราฟแสดงราคา NFTs ขึ้นสู่จุดสูงสุดวันที่ 17 มีนาคม 2021 (CoinMarketCap)

บทความ 10 เหตุผลทำไม NFTs ถึงเป็นเรื่องโง่เง่า (10 Reasons Why NFTs Are Stupid) ที่เผยแพร่ในวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 2021 หลังมูลค่า NFTs ร่วงต่ำกว่าราคาเปิดขายครั้งแรก (ติดลบ) ราวสองสามวัน ระบุเหตุผลที่มูลค่า NFTs นั้นอาจดูเกินจริง

เช่น เป็นยากที่จะอธิบายว่า ภาพไฟล์ดิจิทัลนี้มีเพียงชิ้นเดียว เพียงเพราะมันเป็น NFTs ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็สามารถคัดลอก แชร์ หรือดูรูปนี้ได้ฟรีๆ บนอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกัน NFTs ก็ไม่ใช่เนื้อหาสาระของสิ่งนั้น มันเป็นเพียงแค่รหัส (code) บางอย่างที่แสดงความเป็นเจ้าของหรือการอ้างสิทธิ์ แต่คนที่ผลิตมันขึ้นมา (creator) ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และตัวงาน

NFTs, NFT, Google Trends, ความสนใจ
Photo: การสืบค้น NFTs ของคนทั่วโลกบน Google Trends ลดลงตั้งแต่กลางปี 2022 เป็นต้นมา แสดงถึงกระแสความสนใจที่เกิดขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว

มูลค่า NFTs ที่ยังดูเหมือนวางตัวอยู่บนพื้นฐานแค่ ‘ความเชื่อ’ จึงเหมือน House of Cards ที่ดูเปราะบางเหลือทน และเมื่อความเชื่อเริ่มสั่นคลอน มูลค่าของมันจึงสั่นไหว และอาจนำไปสู่การพังครืนได้

ปัจจุบัน สถานการณ์ NFTs ยังไม่สู้ดี และยังคงมีคนที่เชื่อและไม่เชื่อในตลาดนี้ บ้างว่าซบเซาชั่วคราว บ้างก็ซึมยาวกู่ไม่กลับ และเป็นตลาดกำลังจะตาย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ NFTs ชวนให้นึกถึงกรณีศึกษา ‘ภาวะฟองสบู่จากเก็งกำไร’ สุดคลาสสิกอย่าง Tulip mania (ความคลั่งทิวลิป) ที่เกิดในเนเธอร์แลนด์ช่วงศตวรรษที่ 17

Semper Augustus, Tulip Mania, ความคลั่งทิวลิป, ฟองสบู่, เก็งกำไร
Photo: ภาพเขียนสีน้ำ Semper Augustus โดยจิตรกรนิรนามในศตวรรษที่ 17 ว่ากันว่าเป็นทิวลิปที่มีราคาสูงที่สุดในระหว่างความคลั่งทิวลิป

เวลานั้นทิวลิปกลายป็นสินค้าหรูหราที่บรรดาคนรวยต่างอยากได้มาครอบครอง ความต้องการดอกทิวลิปขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาดอกทิวลิปเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว พ่อค้าบางคนทำสัญญาจะรับซื้อดอกทิวลิปล่วงหน้าด้วยราคาที่สูง เพื่อนำไปเก็งกำไรขายในราคาที่สูงกว่า 

และเมื่อผู้คนเห็นว่า ดอกทิวลิปสามารถทำกำไรได้มหาศาล ก็บ้าคลั่งกันแก่งแย่งดอกทิวลิปมาขาย โดยหวังจะรวยง่ายๆ เพียงชั่วข้ามคืน ว่ากันว่ามีประกาศรับซื้อดอกทิวลิปที่มีสีสันพิเศษ ด้วยราคาที่สูงเท่ากับบ้านหนึ่งหลังเลยทีเดียว

Tulip Mania, ความคลั่งทิวลิป, ฟองสบู่, เก็งกำไร, ราคา
Photo: แนวโน้มราคาดอกทิวลิปในเหตุการณ์ Tulip Mania ปี 1637

แต่ทว่าก่อนจะถึงฤดูใบไม้ผลิที่ทิวลิปจะผลิบาน ตลาดดอกทิวลิปก็ล่มสลาย เมื่อนักลงทุนและผู้ซื้อเริ่มได้สติ ตระหนักได้ว่าราคาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการหลงในมายาแห่งความโลภ ราคาจึงเฟ้อเกินจริง ราคาดอกทิวลิปแพงเกินไป

หรือ NFTs จะเป็นดอกทิวลิปในศตวรรษที่ 21

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์