‘ไข่เศรษฐา’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ ‘ไข่นายก’ กับ ‘ราคาไข่’ ที่ควรทำความเข้าใจ

11 ก.ย. 2566 - 03:49

  • ราคาไข่ยุคเศรษฐาทำ ‘นิวไฮ’ เป็นประวัติการณ์

  • ไข่เบอร์ 0 ราคาแตะ 4.50 บาทต่อฟอง ส่วนไข่เบอร์ 2 ไซซ์ยอดนิยม แตะที่ 4.10 บาทต่อฟอง

  • ‘ไข่นายก’ แต่ละยุค สะท้อนภาวะเศรษฐกิจ มากกว่าสะท้อนฝีมือการบริหารของนายกฯ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ มากมาย

TAGCLOUD-prime-minister-egg-index-is-work-or-not-B-SPACEBAR-Hero
หลังได้รัฐบาลใหม่ ‘เศรษฐา 1’ สื่อก็เริ่มทำหน้าที่ต้อนรับทันที หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘ราคาไข่’ 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากพรรคเพื่อไทย เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับตำแหน่ง ‘ผู้นำ’ ประเทศคนใหม่ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 กันยายน) 

“...รัฐบาลนี้เรามีความตั้งใจครับ ปัญหามีมากมาย เราจะทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย ทุกวัน ทุกนาที เราจะเอาความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง...”

หลังกล่าวคำถวายสัตย์ เศรษฐาและ ครม. ได้ถวายความเคารพองค์ราชาและราชินีประมุขแห่งรัฐ รัฐบาลใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ พร้อมกับโจทย์ของประเทศมากมายที่ต้องแก้ไข โดยมีสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียเป็นเสียงสะท้อนสังคมรายวัน 

หนึ่งในนั้นคือ ราคาไข่ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

ราคาไข่ ‘นิวไฮ’ ต้อนรับเศรษฐา

พูดอย่างแฟร์กับ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนใหม่ ต้องบอกว่าราคาไข่ (คิดจากไข่เบอร์ 2) เพิ่งปรับขึ้นสูงในช่วงเดือนพฤษภาคม ทำนิวไฮไปอยู่ที่ 3.90 บาท ก่อนจะทำนิวไฮอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมที่ 4.10 บาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เศรษฐาจะเข้ามารับตำแหน่ง 

ถามว่า ราคาไข่ขึ้นสูงแค่ไหน ลองย้อนดูราคาไข่ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2551-2566)  

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7AquzmaSCkq85sS26nTcuJ/c8f2482728bf699e676a23cf030cd630/Info-TAGCLOUD-prime-minister-egg-index-is-work-or-not_B-02__1_
ราคาไข่ในกราฟด้านบนเป็นราคาไข่ เบอร์ 2 (อ้างอิง: สุนทรฟาร์ม) เหตุที่ใช้ เบอร์ 2 เนื่องจากเป็นขนาดไข่ที่ ‘แมส’ ที่สุด คือ แม่ไก่ออกเยอะ คนบริโภคมาก 

ถ้าวัดตามสายตาของ สุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย ที่เคยให้สัมภาษณ์ ไทยรัฐออนไลน์ ไข่แต่ละขนาด เวลาไปซื้อคละหน้าฟาร์ม จะมีสัดส่วนดังนี้ 
  • 10% - เบอร์ 0 ‘ไข่ยักษ์จัมโบ้’ (น้ำหนัก 70 กรัมขึ้นไป) 
  • 25% - เบอร์ 1 ‘ไข่ใหญ่พิเศษ’ (น้ำหนัก 65-69 กรัม) 
  • 35% - เบอร์ 2 ‘ไข่ใหญ่’ (น้ำหนัก 60-64 กรัม) 
  • 25% - เบอร์ 3 ‘ไข่กลาง’ (น้ำหนัก 55-59 กรัม) 
  • 5% - เบอร์ 4 ‘ไข่เล็ก’ (น้ำหนัก 50-54 กรัม) 
จากกราฟ ถ้าเทียบช่วงที่ราคาสูงสุด จะเห็นว่าราคาไข่เริ่มดีดตัวตั้งแต่ พ.ศ.2565 ยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ 3.80 บาท ในช่วงเดือนสิงหาคม 

ก่อนจะขึ้นสู่จุดสูงสุด 4.10 บาท ทำลายสถิติ ‘Thai Record’ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือราวสองเดือนก่อนหน้า เศรษฐา จะนั่งเก้าอี้นายกฯ 
3.80 บาท ราคาขึ้นมาที่ 4.10 บาท 
ขึ้นมาฟองละ 30 สตางค์ 
เห็นเป็นฟองอาจดูไม่เยอะ แต่ถ้ามองเป็น ‘แผง’ ถือว่า ‘ไม่เบา’ 
คิดเป็นราคาต่อแผง (1 แผง = 30 ฟอง) เพิ่มขึ้นถึง 9 บาท 

นั่งเก้าอี้นายกฯ ยังไม่ทันอุ่น สื่อและประชาชนก็โยนโจทย์ปากท้องเรื่องราคาไข่ หวังให้เศรษฐา และ ครม.ที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไข 

วานให้ ‘ไข่เศรษฐา’ ที่แพงตอนนี้ ถูกลงได้ไหม 

‘วาทกรรมไข่นายก’ เรื่องชวนขำที่ควรคิด 

คนที่พอมีอายุ ติดตามข่าวสารมาพอสมควร จะรู้ว่า ‘ไข่เศรษฐา’ ไม่ใช่คำทะลึ่งหรือมีเจตนา ‘แกง’ นายกฯ คนใหม่ 

เพราะก่อนหน้าไข่เศรษฐา ก็เคยมีคำว่า ‘ไข่ประยุทธ์’, ‘ไข่ชวน’, ‘ไข่ทักษิณ’ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าเวลานั้นใครกำลังนั่งเก้าอี้นายกฯ 

โดยคำดังกล่าว สื่อใช้เพื่อเปรียบเทียบราคาไข่ของนายกรัฐมนตรีในแต่ละยุคว่า ไข่ในช่วงนั้นราคาแพงหรือถูกอย่างไร โดยมักจะเชื่อมโยงถึงความสามารถในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในยุคนั้น

ว่ากันว่า ‘วาทกรรมไข่นายก’ ที่เชื่อมโยง ‘ราคาไข่’ กับ ‘ฝีมือนายกฯ’ เริ่มมีในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2518-2519) 

คำถามจากหลังแก้วกาแฟดำร้อนผสมยี่สิบแปดดีกรี 
ไข่ถนอมเจ็ดสิบห้า ไข่สัญญาห้าสลึง ไข่คึกฤทธิ์ใบละเท่าไหร่ครับ?
 

เราพบประโยคข้างต้นในหนังสือ 'คึกฤทธิ์แสบสันต์' โดย 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2518 ช่วงที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นนายกฯ 

แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้แน่ว่า ‘รงค์’ เป็นคนแรกที่ใช้คำนี้ หรือนักเขียนคนอื่นใช้มาก่อน และใครเป็นคนให้กำเนิด ‘วาทกรรมไข่นายก’ ยังคงเป็นปริศนา (ถ้าใครรู้ข้อมูลนี้รบกวนไขปริศนาด้วยแสงไฟแห่งคำตอบ) 

นอกจากนี้ ข้อเขียนจำนวนมากที่พูดถึงไข่นายกล้วนตั้งต้นหมุดหมายที่ ‘ไข่คุณชาย’ โดยระบุราคา 1.50-1.60 บาทต่อฟอง ก่อนจะไล่เรียงราคาไข่นายกฯ แต่ละคนจนถึงนายกฯ คนล่าสุด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5tADTOCiCooLq13IqjSTJJ/09b28ae442eb8bb08537ce162a587b9d/Info-TAGCLOUD-prime-minister-egg-index-is-work-or-not_B-01__1_
การสื่อสารในรูป ‘ไข่นายก’ ดูเป็นเรื่องชวนขำที่แฝงด้วยข้อมูลราคาไข่ และบางครั้งท็อปอัพด้วยท่าทีการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ ในมุมหนึ่งนับเป็นครีเอทีฟของคนทำงานด้านการสื่อสาร ที่ใช้การยก ‘ราคาไข่’ เป็นตัวอย่าง เทียบเคียงภาวะเศรษฐกิจ การบริหารงานของรัฐบาล โดยใช้โวหารชวนขำ ปรุงเรื่องยากให้เข้าถึงง่ายและดูสนุก 

แต่ในอีกมุมก็มีจุดที่ควรระวัง เพราะการใช้ ‘ราคาไข่’ เป็นดัชนีชี้วัดดังกล่าว อาจไม่ได้เชื่อมโยงหรือสะท้อนฝีมือของนายกฯ หรือรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เท่ากับการชี้วัดสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ 

เพราะราคาไข่ขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัยในห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน ที่ผู้อ่านควรรู้ไว้ จะได้มอง 'ไข่นายก' ด้วยความเข้าใจ ว่าเบื้องหลังไข่ยังมีอะไรๆ ซ่อนอยู่ 

‘ราคาไข่’ ราคาใคร 

ราคาไข่ เป็นหนึ่งสิ่งที่ถูกนับอยู่ใน ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index: CPI) ที่สะท้อนให้เห็น ‘ราคา’ สินค้าและบริการพื้นฐานที่จำเป็นและผู้คนใช้เป็นประจำ ซึ่งบ่งบอกถึงสถานการณ์ปากท้องของประชาชน 

แต่อย่างที่บอกไว้ ราคาไข่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้ แต่อาจไม่ใช่กระจกที่สะท้อนถึง 'ฝีมือของนายกฯ' ในเรื่องเศรษฐกิจที่จะนำไปข้อสรุปได้ว่า 

ไข่แพง = นายกฯ ห่วย 
ไข่ถูก = นายกฯ เก่ง 

เพราะไข่จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมาก เช่น
  • ต้นทุน คำนี้ครอบคลุมทุกสิ่งที่นำมาสู่การผลิตไข่หนึ่งฟอง ตั้งแต่ราคาไก่ไข่ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าไฟฟ้า ค่ายา ต้นทุนการขนส่ง ฯลฯ เช่น นับตั้งแต่สงครามยูเครน-รัสเซีย (สงครามปะทุ กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565) อาหารสัตว์ราคาแพงขึ้น เพราะยูเครนที่เป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชแหล่งใหญ่ของโลก ผลิตได้น้อยลง 
  • ฤดูกาล ถ้าอากาศร้อน (เกิน 35 องศาเซลเซียส) แม่ไก่จะ 'เครียด' (Heat Stress) กินอาหารได้น้อยลง พอกินน้อย ก็ได้รับสารอาหารไม่พอที่จะสร้างไข่ ทำให้ออกไข่ลดลง ขนาดไข่เล็กลง 
  • เทศกาล หากเข้าช่วงเทศกาลหรือวาระที่มีการนำไข่ไก่มาใช้เยอะ ถ้าความต้องการมาก (อุปสงค์) ก็ส่งผลให้ราคาไข่สูง ขณะเดียวกัน ถ้ามีไข่ล้นตลาด ราคาก็ลดลงเช่นกัน 
  • ภัยพิบัติ น้ำท่วม ไข้หวัดนก โรคระบาด สงคราม ภาวะโลกร้อน เหตุใดๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันล้วนส่งผลต่อราคาไข่ 
ราคา ‘ไข่เศรษฐา’ วันนี้ ทำ ‘นิวไฮ’ แตะจุดสูงสุดไปแล้ว หลังจากนี้เมื่อเข้าฤดูที่อากาศเริ่มเย็นลงกว่านี้ ราคาไข่จะลดระดับลงมาหรือไม่
 
เพราะจากสถิติย้อนหลังในรอบ 16 ปี ราคาไข่มีแนวโน้มลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในช่วงปลายปี (หลังตุลาคม) จนถึงช่วงต้นปี (มกราคม-กุมภาพันธ์)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Z11JuF5McxIkmRpszCFm0/edae45cd413fbca7475b5da34b35a79b/Info-TAGCLOUD-prime-minister-egg-index-is-work-or-not_B-03__1_
ถ้าราคาไข่จะไม่ลด และทำนิวไฮใหม่หลังจากนี้จนถึงปลายปี ‘ไข่เศรษฐา’ คงกลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่เศรษฐาต้องเร่งจัดการ 

เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า หรือจะถึงเวลาที่นายกฯ เศรษฐา ต้องผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ 

อย่าง ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ให้เกิดขึ้นจริง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์