ถ้ามีคนดีมากไป เราจะไม่ได้กำไร เปิดโปงอุตสาหกรรมจับคนเข้าคุก

2 มิ.ย. 2566 - 10:49

  • อุตสาหกรรมเรือนจำคือการผนึกกำลังของภาคธุรกิจและการเมืองที่คาดไม่ถึง

  • มันทำกำไรได้ถ้าหากสังคมเต็มไปด้วยผู้กระทำผิด

TAGCLOUD-the-lucrative-world-of-prison-for-profit-SPACEBAR-Thumbnail
ในขณะที่บ้านเมืองอื่น ผู้ที่บริหารจัดการเรือนจำคือรัฐบาล แต่ในบางประเทศ เช่น ในสหรัฐฯ รัฐไม่สามารถดูแลเรือนจำได้ทั้งหมด จึงต้องให้สัมปทานกับเอกชนเข้ามาช่วยดูแล กลายเป็นธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า เรือนจำเอกชน (Private prison) แต่มันยังถูกเรียกด้วยว่า เรือนจำเพื่อทำกำไร (for-profit prison) 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า รัฐมีหน้าที่จับผู้ต้องหา ดำเนินคดีคนเหล่านั้น แล้วลงโทษผู้กระทำผิด เมื่อกำหนดโทษแล้ว ส่งตัวไปเรือนจำ หลังจากนั้นแล้วเป็นหน้าที่ของเรือนจำเอกชนที่จะควบคุมตัวนักโทษ  

เรือนจำเอกชน (หรือบริษัทที่ทำธุรกิจเรือนจำ) จะทำสัญญากับรัฐบาล (ในกรณีของสหรัฐฯ คือทำสัญญากับมลรัฐต่างๆ) เพื่อตกลงกันว่าในแต่ละปีเรือนจำจะได้เงินจากรัฐแค่ไหน  

เว็บไซต์ Investopedia อธิบายวิธีการตกลงเรื่องเงินระหว่างรัฐกับเอกชนในบทความชื่อ The Business Model of Private Prisons จะขอสรุปสั้นๆ ดังนี้   
  • สมมติว่านักโทษ 1 คนใช้งบประมาณดูแลคนละ 100 ดอลลาร์ (รวมค่ากิน ค่าสาธารณูปโภค ค่าผู้คุม ค่าธุรการ ฯลฯ)  
  • บริษัทเรือนจำอาจจะเรียกร้องจากรัฐบาลเป็น 150 ดอลลาร์ต่อหัวนักโทษ โดย 50 ดอลลาร์ คือ ค่าบริการหรือกำไรของเอกชน  
  • สมมติว่าเรือนจำแห่งนั้นมีนักโทษ 1,000 คน บริษัทเรือนจำก็จะได้ 50,000 ดอลลาร์ต่อวัน หากมีนักโทษเข้ามาอีก กำไรก็จะยิ่งเพิ่ม 
  • และเพราะนี่คือธุรกิจ บริษัทเรือนจำมีแรงจูงใจที่จะต้องทำกำไรเพิ่ม ดังนั้น ถ้ามีโอกาสพวกเขาจะต้องขอทำสัญญากับรัฐต่อไป เพื่อขยายเรือนจำ  
เราจะเห็นว่า เมื่อเรือนจำทำกันแบบธุรกิจ ก็จะต้องมีการทำกำไร และ  ‘สินค้า’ ที่ทำกำไรของธุรกิจนี้ก็คือ ‘นักโทษ’ ยิ่งมีนักโทษมากเท่าไร ธุรกิจเรือนจำยิ่งชอบใจมากขึ้นเท่านั้น  

คำถามก็คือจะทำอย่างไรที่จะให้มีนักโทษมากขึ้น?  

เมื่อมีคนตาย คนขายโลงศพได้กำไร 

ธุรกิจเรือนจำก็เหมือนกับการขายโลงศพ สำหรับร้านขายโลงแล้ว ถ้าไม่มีคนตายพวกเขาก็คงทำกิจการต่อไปไม่ได้ เรือนจำที่ไม่มีนักโทษก็เช่นกัน ดังนั้น ธุรกิจเรือนจำจะต้อง ‘เดินสาย’ กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจของพวกเขาอยู่ต่อไปได้ ต่อไปนี้คือวิธีการของพวกเขา  
  • ธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่บริษัทรายบ่อย แต่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมด้านความมั่นคงของชาติ ดังนั้นจึงมีอีกชื่อว่า Prison–industrial complex (PIC) 
  • ด้วยความที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทรงอิทธิพล PIC จึงมีพลังต่อรองกับรัฐได้ และพวกเขามักเข้าหานักการเมืองด้วยการ ‘ล็อบบี้’ ผ่านเงินสนับสนุนพรรคการเมือง หรือให้หุ้นกับนักการเมือง 
  • สิ่งที่ PIC ล็อบบี้ให้นักการเองและรัฐทำ คือเรียกร้องให้รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีลดหย่อน แม้แต่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถจับเข้าคุกได้ หรืออาจล็อบบี้ให้ผ่านกฎหมายที่เคร่งครัดขึ้น 
  • เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด จำนวนผู้กระทำความผิดที่เข้าเกณฑ์ต้องติดคุกจึงมากขึ้น เรือนจำเอกชนจึงมีนักโทษ (หรือสินค้า) หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย และหมายถึงมีกำไรไม่หยุดหย่อนด้วย  

โมเดลนรกที่ทำให้คนตกนรกทั้งเป็น 

นี่คือโมเดลการทำธุรกิจที่ดูเหมือนจะดี (สนับสนุนกฎหมายที่เคร่งครัด) แต่การใช้กฎหมายที่เข้มงวดไม่ได้หมายความว่าสังคมจะปลอดจากอาชญากรรม และมันอาจให้ผลตรงกันข้ามได้ จะยกตัวอย่างจากทศวรรษที่ 70 ที่เป็นจุดเริ่มความรุ่งเรืองของ PIC  
  • ช่วงทศวรรษที่ 70 สหรัฐฯ มีปัญหายาเสพติดรุนแรง รัฐบาลจึงประกาศสงครามยาเสพติด (War on Drug) และมีการผ่านกฎหมายที่กำหนดโทษรุนแรง แม้แต่กับคนที่ครอบครองยาเสพติดเพียงเล็กน้อย  
  • หลังจากนั้นจำนวนนักโทษในเรือนจำเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เท่านั้นยังไม่พอ ในทศวรรษที่ 80 มีการผ่านกฎหมายปฏิรูปการลงโทษ ผลก็คือ จำนวนนักโทษในเรือนจำพุ่งพรวด 
        ⁃ ปี 1980 จำนวนนักโทษ 503,600 คน 
        ⁃ ปี 1990 จำนวนนักโทษ 1,148,700 คน เพิ่ม 128% 
        ⁃ ปี 2000 จำนวนนักโทษ 1,945,400 คน เพิ่ม 69% 
        ⁃ ปี 2010 จำนวนนักโทษ 2,279,100 คน เพิ่ม 17% 
  • จำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น ตรงกันข้าม นักโทษส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำที่มีฐานะยากจน เมื่อถูกจับเขาคุก โอกาสในชีวิตก็หมดลง เมื่อออกจากคุกพวกเขาที่ไม่มีอนาคตอีก ก็ต้องใช้ชีวิตวนเวียนกับอาชญากรรมอีก นั่นเองเป็นเหตุผลว่าทำไมอาชญากรรมถึงไม่ลดลง และจำนวนนักโทษยิ่งเพิ่มขึ้น  
แต่เราจะเห็นว่าจำนวนนักโทษเมื่อแตะหลัก 2 ล้านแล้วก็เริ่มลดลง เพราะหลังเข้าสู่ทศวรรษที่ 2010 รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนนโยบาย โดยเฉพาะในสมัยอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่เริ่มตระหนักว่าอุตสาหกรรมที่หากินกับการกักขังอาชญากรอาจจะเป็นภัยต่อสังคมมากกว่า   

บริษัทเรือนจำรวยกันแค่ไหน? 

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐเริ่มลดการสนับสนุน  PIC บริษัทพวกนี้ยังไม่ยอมแพ้ และเดินหน้าล็อบบี้ต่อไป บริษัทใหญ่ๆ ในกลุ่ม  PIC เช่น CoreCivic กับ GEO Group จึงให้การสนับสนุนพรรครีพับลิกัน เช่น อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายที่เป็นคุณกับ PIC  

แล้วบริษัทพวกนี้ร่ำรวยแค่ไหน? แต่คำถามนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าใครที่ถือหุ้นของบริษัทเหล่านี้บ้าง เพราะจะทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่าโครงสร้างการจัดการอาชญากรรมลักษณะนี้เกิดจากอิทธิพลของใครบ้าง? 
  • ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกของ CoreCivic  
        ⁃ BlackRock Fund Advisors (สัดส่วนหุ้น 15.40%) 
        ⁃ Vanguard Group Inc (สัดส่วนหุ้น 10.94%) 
        ⁃ River Road Asset Management (สัดส่วนหุ้น 7.70%) 
        ⁃ Fidelity Management & Research Co (สัดส่วนหุ้น 6.80%) 
  • ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกของ GEO Group 
        ⁃ BlackRock Fund Advisors (สัดส่วนหุ้น 15.26%) 
        ⁃ The Vanguard Group, Inc. (สัดส่วนหุ้น 10.84%)  
        ⁃ Mason Capital Management LLC (สัดส่วนหุ้น 4.35%) 
        ⁃ Fidelity Management & Research Co (สัดส่วนหุ้น 3.99%)     

น่าสังเกตว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในอันดับต้นๆ ของบริษัทกลุ่ม PIC คือบริษัทการลงทุนชั้นนำของโลกทั้งสิ้น ซึ่งน่าจะสะท้อนว่าธุรกิจ PIC มีความสมเหตุสมผลทางธุรกิจ (หรือแง่หนึ่งคือทำกำไรได้มาก) ถึงขนาดที่นักลงทุนระดับโลกไว้วางใจขนาดนี้ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์