ความเดิมจากตอนที่ในบทความเรื่อง ‘เปิดตำนานทุนจีนรุ่นแรก ขุนนางเจ้าสัว สู่นายทุนการเมือง’ ซึ่งปิดท้ายที่การสิ้นสุดอิทธิพลของกลุ่มจีนหลวงที่เคยช่วยราชสำนักบริหารการค้ากับประเทศจีน รวมถึงกลุ่มจีนที่สัมปทานการเก็บภาษีอากรให้กับราชสำนัก จีนหลวงกลุ่มนี้ต่อมาจะขยับบทบาทจากด้านเศรษฐกิจมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง หรือไม่ก็เป็นชนชั้นสูงในสังคมแทน
มาถึงตอนนี้เกิดจีนกลุ่มใหม่ที่เติบโตพร้อมกับเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมและการเงินการธนาคาร
ถึงตอนนี้ คนจีนจำนวนหนึ่งกระโจนเข้าสู่กระแสธารแห่งการค้าเสรีได้ก่อนคนอื่น พวกเขาจึงสร้างระบบการค้าข้าวที่ตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในสยาม ผ่านการเป็นพ่อค้าคนกลางซื้อขาวจขากชาวนาคนไทย จากนั้นส่งข้าวเข้าโรงสีของคนจีนด้วยกันเอง จากนั้นยังผูกขาดอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ เรียกได้ว่า ทุกมิติของการค้า (ข้าว) ถูกครอบงำโดยทุนจีน คนไทยเป็นเพียงคนปลูกเท่านั้น และนอกจากจะไม่ได้กำไรแล้ว ยังเป็นหนี้ด้วยซ้ำ
เพื่อที่จะให้เห็นการเก็บเกี่ยวส่วนเกิน (หรือกำไร) ของนายทุนจีนจากเกษตรกรคนไทย จะขอสรุปจากหนังสือ Capital and Entrepreneurship in South-East Asia
มาถึงตอนนี้เกิดจีนกลุ่มใหม่ที่เติบโตพร้อมกับเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมและการเงินการธนาคาร
กำเนิดพ่อค้าคนกลาง
ในยุคที่จีนหลวงมีบทบาทในทางเศรษฐกิจ ในเวลานั้นรายได้เข้ารัฐมาจากการค้าขายกับจีนและการสัมปทานการเก็บภาษีโดยคนจีนในสยาม แต่เมื่อประเทศจีนประสบกับวิกฤต การค้ากับจรีนจึงลดลง ราชสำนักจึงต้องหารายได้เพิ่ม เผอิญว่า ชาติตะวันตกมาเชื้อเชิญให้สยามเข้าสู่โลกแห่งการค้าเสรีพอดี โดยผ่านสนธิสัญญาการค้าต่างๆ โดยเฉพาะสนธิสัญญาบาวริ่ง ทำให้สยามมีรายได้แบบใหม่เข้ามา นั่นคือการค้าข้าวถึงตอนนี้ คนจีนจำนวนหนึ่งกระโจนเข้าสู่กระแสธารแห่งการค้าเสรีได้ก่อนคนอื่น พวกเขาจึงสร้างระบบการค้าข้าวที่ตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในสยาม ผ่านการเป็นพ่อค้าคนกลางซื้อขาวจขากชาวนาคนไทย จากนั้นส่งข้าวเข้าโรงสีของคนจีนด้วยกันเอง จากนั้นยังผูกขาดอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ เรียกได้ว่า ทุกมิติของการค้า (ข้าว) ถูกครอบงำโดยทุนจีน คนไทยเป็นเพียงคนปลูกเท่านั้น และนอกจากจะไม่ได้กำไรแล้ว ยังเป็นหนี้ด้วยซ้ำ
เพื่อที่จะให้เห็นการเก็บเกี่ยวส่วนเกิน (หรือกำไร) ของนายทุนจีนจากเกษตรกรคนไทย จะขอสรุปจากหนังสือ Capital and Entrepreneurship in South-East Asia
- ชาวบ้านคนไทยจะขายข้าวให้กับนายหน้าขายข้าวท้องถิ่น หรือผู้ปล่อยเงินกู้ หรือเจ้าของร้านชำชาวจีน
- จากนั้นข้าวจากนักธุรกิจจีนในท้องถิ่นจะถูกส่งไปยังพ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดผ่านเรือและโกดังของเสี่ยใหญ่
- จากนั้นข้าวจะถูกส่งมายังกรุงเทพฯ มาถึงมือของนายหน้าค้าข้าวและโรงสีรายใหญ่ ซึ่งมีแค่ 5 กลุ่มใหญ่และส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋ว
- โครงสร้างการค้าข้าวแบบนี้ทำลายทุนเกษตรไทยและทุนท้องถิ่น และดึงเงินทุนจากท้องถิ่นมายังจีนที่กรุงเทพฯ จากนั้นจีนในเมืองหลวงจะส่งเงินบางส่วนกลับไปยังประเทศจีน

จากเม็ดข้าวสู่มหาอำนาจธนาคาร
ในทศวรรษที่ 1920 โรงสีของฝรั่งเสื่อมอิทธิพลลง กลุ่มทุนโรงสีจีนจึงสวมแทนที่เครือข่ายข้าวที่เคยเป็นของฝรั่ง ยิ่งทำให้ทุนจีนแข็งแกร่งขึ้นไปอีกจนยากที่เกษตรกรจะต่อรองได้ และแม้ว่าจะมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มทุนจีนกับกลุ่มชนชั้นสูงที่ปกครองประเทศ แต่อาจจะมีการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งกัน โดยทุนจีนเอื้อผลประโยชน์ทางการเงินให้กลุ่มชนชั้นสูง ทำให้ความขัดแย้งยุติลง (หมายเหตุ 1) แต่มันหมายความว่าเกษตรกรถูกขูดรีดต่อไปโดยไร้ผู้เหลียวแลด้วยผลประโยชน์จากการผูกขาดการค้าข้าว ทุนก้อนใหญ่จึงก่อตัวขึ้นมา นี่คือการก่อตัวครั้งแรกของทุนในประเทศไทย และทำให้เกิดกระแสเงินมหาศาลที่อยู่ในมือคนจีน คนจีนจึงมีความต้องการระบบจัดเก็บเงิน และส่งเงินไปต่างประเทศ (ระบบส่งเงินโพยก๊วน) คนจีนจึงมีบทบาทสำคัญในการตั้งธนาคารแห่งแรกในประเทศสยามไปโดยปริยาย คือ ธนาคารจูเซ่งเฮง ของคนตระกูลเซียว (นายเซียวยู่เส็ง) ต่อมายังมีธนาคารจีโนสยาม ซึ่งเป็นนายอากรคนสำคัญ (อากรค้าฝิ่น) ของคนตระกูลหลี (นายหลีเต็กโอ) เป็นผู้กุมธุรกิจโรงสีข้าว
ธนาคารทั้งสองและเจ้าสัวจีนทั้งสองนี้คือตัวอย่างอันดีของการเอื้อเฟื้อกันของทุนโรงสีข้าวกับทำทุนโครงการเก็บภาษี จนทำให้เกิดธุรกิจที่คนจีนจะผูกขาดต่อไปในอนาคต คือธุรกิจการเงินสมัยใหม่
แม้ว่าต่อมาธนาคารจีนแห่งแรกทั้งสองจะล้มไป และตระกูลเซียวและคนแซ่หลีจะต้องวางมือไปก็ตาม แต่ก็จะมีทุนจีนอื่นๆ ยืนยงอยู่ต่อไป และเติบใหญ่จนเป็นเจ้าสัวการเงินการธนาคารที่แข็งแกร่งจนถึงทุกวันนี้

คนไทยทำ คนจีนรวย
แต่การผูกขาดของคนจีนในโครงการประมูลการเก็บภาษีและการค้าข้าว รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนต้องอยู่อย่างแร้นแค้น และทำให้เศรษฐกิจของไทยไม่ก้าวหน้าไปไหนผู้กุมเศรษฐกิจไทยในยุคนั้น คือ ตระกูลหวั่งหลี (แซ่ตัน) ล่ำซำ (แซ่อึ้ง) บูลสุข (แซ่โล่ว) บูลกุล (แซ่เบ๊) ตระกูลเหล่านี้ทำธุรกิจ ‘ยี่ปั๊ว’ คือคนกลางค้าขาย เช่น ข้าว และยังเมื่อมีเงินไหลเวียนในมือมากๆ ก็ยังทำธุรกิจ ‘โพยก๊วน’ คือคนกลางรับส่ง รับฝากเงินจากคนจีนในสยาม ส่งไปยังบ้านเกิดเมืองนอนที่จีนหรือที่อื่นๆ
ขณะที่ธนาคารจีนที่บริหารแบบตะวันตกรุ่นแรกๆ ล้มไป ตระกูลจีนรายอื่นๆ ยังทำธุรกิจโพยก๊วนต่อไป และผูกขาดการค้าของประเทศสยามต่อไป การผูกขาดแบบทั้งขึ้นทั้งล่องแบบนี้ทำให้ตระกูลจีนไม่กี่ตระกูลรวยเอาๆ ส่วนคนไทยที่ทำเกษตรและคนจีนขายแรง (กุลี) และธุรกิจรายย่อย ไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้
และยังมีประเด็นปัญหาในเชิงสังคมตามมาก เพราะแต่ก่อนคนจีนที่อพยพมาไทยมักจะมาแต่ผู้ชาย แล้วมาปักหลักที่นี่จากนั้นสมรสกับหญิงไทย สร้างครอบครัวไฮบริดขึ้นมา แต่หลังจากปี 2453 ลงมา เริ่มมีผู้หญิงจีนอพยพมายังสยามมากขึ้น ทำให้การกลืนกลันทางสายเลือดเริ่มลดลง (หมายเหตุ 2)
ประกอบกับจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบสาธารณรัฐที่ปกครองโดยขีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) ซึ่งโฆษณาชวนเชื่อให้คนจีนโพ้นทะเลตระหนักในความเป็นจีน การทำเช่นนี้ทำให้ทางการสยามกังขาต่อคนจีนมากขึ้นว่า ตกลงแล้วคนจีนที่สยาม ภักดีต่อใครกันแน่?
แต่สายลมแห่งกาลเวลาไม่เคยปราณีใคร ธุรกิจจีนที่ผูกขาดเศรษฐกิจสยามก็หนีความเปลี่ยนแปลงไม่พ้น

จีนกุมทุน ไทยกลืนจีน
แน่นอนว่า ชนชั้นนำของไทยจำนวนหนึ่งมองการยึดกุมเศรษฐกิจของจีนด้วยความกังวล โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิพากษ์วิจารณ์ชาวจีนอย่างรุนแรง พร้อมๆ กับที่ทรงสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ชาตินิยมไทย’ ขึ้นมาที่ทรงต้องสร้างชาตินิยมขึ้นมา เพราะ ‘ประชาชนไทยแท้’ ไม่ได้มีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมืองสักเท่าไร แต่เศรษฐกิจอยู่ในมือของคนที่พระองค์เรียกว่า “ไทยโดยกำเนิด เป็นจีนโดยอาชีวะ เป็นอังกฤษโดยทะเบียน” ซึ่งหมายถึงคนจีนที่เกิดในไทย ตามกฎหมายก็ควรจะเป็นคนไทย แต่กลับภักดีต่อบ้านเกิดบรรพบุรุษโดยทำอาชีพที่ผูกขาดในไทยแต่ส่งเงินส่งทองที่ทำได้ในไทยกลับไปจีน ที่สำคัญคนเหล่านี้ยังไม่ยอมขึ้นทะเบียนเป็นคนสัญชาติไทย แต่กลับไปขอเป็นคนสัญชาติอังกฤษหรือฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นคู่กรณีเรื่องดินแดนกับสยาม) หรือที่เรียกว่า ‘คนในบังคับ’ หรือ ‘สัปเยก’ (Subject) ของฝรั่ง จะได้ไม่ต้องขึ้นศาลไทยและสามารถทำธุรกิจได้สะดวก
ตัวอย่างเช่น เซียวฮุดเส็ง (แซ่เซียว นามสกุลไทยคือ สีบุญเรือง) เจ้าของหนังสือพิมพ์จีโนสยามวารศัพท์ เป็นคนจีนที่เกิดในสยาม แต่เป็นสัปเยกของอังกฤษ และภักดีต่อบ้านเกิดของบรรพชนคือเมืองจีน ตัวเขานั้นเป็นตัวแทนพรรคปฏิวัติจีนในสยาม ถือเป็น ‘คนจีน’ ที่มีคุณูปการต่อการปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในประเทศจีน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้ทางการสยามไม่ไว้ใจคนจีน เพราะมักจะทำมาหากินในสยาม แต่ส่งเงินกลับจีนไปช่วยการโค่นล้มกษัตริย์
เซียวฮุดเส็ง นั้นถึงกับขัดแย้งกับในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงเขียนบทความโจมตีชาวจีนเรื่อง ‘พวกยิวแห่งบุรพาทิศ’ ส่วนหนังสือพิมพ์จีโนสยามวารศัพท์ก็ตอบโต้ในหลวงอย่างเผ็ดร้อนเช่นกัน
ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ว่า “บางคนยึดถือเป็นความเห็นกันจริงจังเสียว่า จีนเป็นส่วนอันจำเป็นแท้แก่ความเป็นอยู่แห่งชาติไทยเรา และด้วยเหตุนี้ไทยจะก่อเหตุให้บาดหมางกับจีนไม่ได้” แต่ทรงไม่เห็นด้วย “การที่ยอมรับเช่นนั้น เป็นที่น่าสังเวชอยาวใจหาย ขอให้คิดดูเถิด ท่านเป็นสหายทั้งหลาย ไม่มีจีนเราจะอยู่ไม่ได้ฉะนั้นเจียวหรือ ถ้าเช่นนั้นเราเป็รชาติอยู้ทำอะไร ชาติใดๆ ก็ดี ถ้าเป็นอยู่ไม่ได้โดยตนเองแล้วก็ไม่สมควรจะมีชื่อว่าชาติ” (หมายเหตุ 3)
สิ่งที่พระองค์ทำก็คือ ตราพระราชบัญญัติสัญชาติ 2456 กำหนดให้ผู้ที่เกิดในประเทศสยามก่อนวันที่ 18 พฤษภาคม 2456 ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด เท่ากับเป็นการตัดโอกาสให้คนจีนที่เกิดในไทย ไปถือสัญชาติฝรั่ง หรือมีความภักดีต่อแผ่นดินจีน สิ่งนี้จะสะเทือนไปถึงการควบคุมทุนและความมั่งคั่งในสยาม ซึ่งแต่ก่อนถูกเจ้าสัวรุ่นใหม่ส่งกลับไปยังจีนเป็นจำนวนมหาศาล
สิ่งที่เจ้าสัวใหม่ต่างจากจีนหลวงยุคเก่าก็คือ พวกจีนหลวงมักไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนเป็นคนไทย เพราะความเกี่ยวพันกับราชสำนัก และยังมักแต่งงานกับคนไทย แต่เจ้าสัวทุนใหม่ไม่เพียงไม่อยากเป็นสัปเยกสยาม แต่ยังวิ่งเต้นเพื่อเป็นคนของฝรั่ง ทั้งๆ ที่ทำมาหากินบนแผ่นดินสยาม นี่เป็นเหตุผลที่รัฐบาลสยามจะต้องสร้างชาตินิยมขึ้นมา และทำกันต่อเนื่องจนถึงหลังสมัยศักดินา

จีนเป็นไทย เงินไม่ไหลไปไหน
เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของชาติล้าหลังมาก รัฐบาลสยามจึงจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ คือ Carle C. Zimmerman นักสังคมศาสตร์ชาวอมริกัน มาสำรวจสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และได้เป็นรายงานชื่อ Siam Rural Economic Survey 1930-31 (การสำรวจเศรษฐกิจชนบทสยาม พ.ศ. 2473-74)รายงานนี้ระบุว่า เกษตรกรสยามต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สิน เพราะดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินไป และพ่อค้าคนกลาง เช่น พ่อค้าข้าว ก็เอาเปรียบเกษตรกร เพราะมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าทั้งการเข้าถึงตลาดและการเข้าถึงเงิน พวกยี่ปั๊วเหล่านี้สามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ ส่วนเกษตรกรได้แต่ยอมรับ
รายงานของ Zimmerman เหมือนเป็นการเตรียมตัวที่ปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่ยังไม่มีการลงไม้ลงมือกับธุรกิจจีน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 คราวนี้ คณะราษฎรไม่เพียงแค่พลิกระบอบการปกครอง แต่จะปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการทำลายการผูกขาดของทุนจีนเสีย
รัฐบาลคณะราษฏรพยายามออกพระราชบัญญัติเพื่อ ‘ริบ’ อำนาจทางเศรษฐกิจจากคนจีน เช่น
- พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 เพื่อบั่นทอนอิทธิพลการค้าของคนจีน
- พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พุทธศักราช 2482 เพื่อยุติการผูกขาดธุรกิจรังนกในมือคนจีนที่มีมาอย่างยาวนาน
- พระราชบัญญัติเกลือ พุทธศักราช 2481 เพื่อยุติการผูกขาดการค้าเกลือที่เคยเป็นของคนจีน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต (หมายเหตุ 2)
คณะราษฎรยังตั้งบริษัทค้าข้าวของรัฐเพื่อทำลายการผูกขาดของคนจีน คือ บริษัทข้าวไทย และยังตัดท่อน้ำเลี้ยงอีกเด้ง ด้วยการตราพระราชบัญญัติการธนาคาร และการประกันภัย เพื่อทำลายอิทธิพลของระบบการเงินจีน (และคนในคณะราษฎร คือ ปรีดี พนมยงค์ ตั้งธนาคารของไทยขึ้นมาคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา)
คนสำคัญที่ต่อต้านการปฏิรูปครั้งนี้คือ ตันซิวเม้ง ผู้นำตระกูลหวั่งหลี ผู้ทรงอิทธิพลในหอการค้าจีน และหอการค้าจีนคือศูนย์กลางอำนาจที่ควบคุมทุนข้าวและธนาคารในสยาม รัฐบาลและนายทุนใหญ่จึงต้องแสดงท่าทีต่อต้านและต่อรองกันอยู่เนืองๆ
รัฐบาลคณะราษฎรลงมือต่อทุนจีนอย่างหนักแล้วยังไม่สาแก่ใจ เมื่อนายทหารคนหนึ่งในคณะราษฎรก้าวขึ้นมามีอำนาจ นั่นคือ พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (ในเวลาต่อมาคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) การเล่นงานทุนจีนยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก
หลวงพิบูลสงครามใช้นโยบายชาตินิยมอย่างเข้มข้นยิ่งกว่าในหลวงรัชกาลที่ 6 เสียอีก ไม่เพียงแต่บีบให้คนจีนต้องกลายเป็นเป็นคนไทย บังคับให้ใช้ชื่อไทย แต่ยังสั่งปิดโรงเรียนจีน 31 แห่ง ปิดหนังสือพิมพ์จีน 11 แห่ง
รัฐบาลนี้ยังตั้งกฎควบคุมการเงินในมือคนจีน กฎเหล่านั้นทำลายธุรกิจการเงินจีนแบบดั้งเดิม และยังจับกุมและเนรเทศผู้จัดการของธนาคารโพ้นทะเลจีน (Oversea Chinese Bank) และธนาคารกวางโจว (Bank of Canton)
ผลก็คือเหลือธนาคารจีนที่แกร่งจริงๆ แค่ 2 แห่ง คือ ธนาคารหวั่งหลี (ของตระกูลหวั่งหลี ต่อมาจะกลายเป็นธนาคารนครธน) กับธนาคารตันเปงชุน (ต่อมาจะกลายเป็นธนาคารมหานคร)

เศรษฐีเซ็งลี้ และเหยื่อสงคราม
อีกหนึ่งตัวแปรที่แทรกเข้ามาในเวลานี้คือการรุกรานไทยของกองทัพญี่ปุ่น ผลกระทบอย่างแรกของสงครามต่อบ้านเมืองเราก็คือ สินค้าขาดแคลนอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเพราะการขนส่งและการผลิตสะดุดลง อีกส่วนหนึ่งเพราะพ่อค้ากักตุนสินค้าเพื่อปั่นราคาให้สูงขึ้น หรือการทำ ‘เซ็งลี้’ (ภาษาจีนแปลว่า หากำไร) พ่อค้าพวกนี้ร่ำรวยกันจนผิดหูผิดตา ขณะที่ประชาชนแร้นแค้นจนกระทั่งไม่มีเสื้อผ้าจะใส่กันพ่อค้าที่ร่ำรวยเพราะฉวยโอกาสจากสงครามเหล่านี้เรียกว่า ‘นักเซ็งลี้’ อย่างที่คนร่วมสมัยบางคนบอกว่า “รวมความแล้วใครๆ ก็เกลียดสงคราม นอกจาพวก ศ.ส. (เศรษฐีสงคราม) นักเซ็งลี้ที่ไม่อยากให้สงครามสิ้นสุดลง” (หมายเหตุ 4)
ในขณะที่นักเซ็งลี้กำลังรวยเอาๆ แต่เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาก็ทำการเบียดเบียนคนจีนในไทยอย่างหนัก เพราะคนจีนในไทยคือแหล่งทุนใหญ่ที่ส่งเงินกลับไปจีนเพื่อทำสงครามต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น
ผลก็คือ ทางการไทยที่เล่นงานทุนจีนหนักอยู่แล้วยิ่งรวมมือกับญี่ปุ่นกวาดล้างทุนจีนหนักขึ้น ทุนจีนจึงมีแค่ 2 ทางเลือก คือ หากไม่ร่วมมือกับญี่ปุ่นและไทย ก็ต้องร่วมกับขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้าน
ตันซิวเม้ง ผู้นำตระกูลหวั่งหลีและประธานหอการค้าจีน อยู่ในฐานะที่ใหญ่เกินกว่าจะลงใต้ดิน เขาจึงต้องประสานงานกับญี่ปุ่น จึงถูกมองว่าสมคบกับญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่เขาพยายามปกป้องคนจีนไม่ให้ถูกญี่ปุ่นคุกคาม ผลก็คือ ตันซิวเม้ง ถูกคนร้าย (ซึ่งคาดว่าเป็นขบวนการใต้ดินจีนต่อต้านญี่ปุ่น) บุกยิงจนเสียชีวิต ไม่กี่วันหลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม
แม้ว่า ตันซิวเม้ง จะตายไป แต่ตระกูลหวั่งหลีไม่ได้ตายตามไปด้วย มันกลับแข็งแกร่งขึ้น และวิวัฒนาการกลายเป็นนายทุนธนาคารสมัยใหม่ พร้อมๆ กับที่คนจีนในไทยกลายเป็นคนไทยมากขึ้นทุกที
การทำลายทุนจีนของหลวงพิบูลสงครามไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะทุนจีนครอบงำไทยมานานเกินไป และอีกอย่างหนึ่งซึ่งดูจะยอกย้อนชอบกลก็คือ ทุนจีนเหล่านี้ได้กลายเป็น ‘คนไทยเต็มตัว’ เพราะนโยบายชาตินิยมของหลวงพิบูลสงครามนั่นเอง
ฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ในฐานะรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งในฐานะนักธุรกิจ ซึ่งหากลงตัวมันจะกลายเป็นการรวมพลังที่แข็งแกร่งอย่างมาก
การรวมพลังนี้จะเกิดขึ้นในเฟสต่อไปของประวัติศาสตร์ทุนจีนในไทย
หมายเหตุ
1. Brown, Rajeswary Ampalavanar. (2016). “Capital and Entrepreneurship in South-East Asia”. Palgrave Macmillan UK. p. 32.2. Best, Antony. Great Britain. Foreign Office. Partridge, Michael. Pau, Preston. (2000). “British Documents on Foreign Affairs--reports and Papers from the Foreign Office Confidential Print: Japan, Korea and Southeast Asia, January 1948-December 1948”. University of California, Berkeley. p.295- 296.
3. มงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2515). “ปกิณกคดี พระราชนิพินธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว”. ศิลปาบรรณาคาร. p.21.
4. ณ ป้อมเพชร, วิชิตวงศ์. (2001). “วิวัฒนาการสังคมไทยกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต”. สำนักพิมพ์แสงดาว. p. 90.