แจกเงินฟรีที่ฟรีไม่จริง แล้วพรรคการเมืองเอาเงินจากไหนมาแจก? (ตอนที่ 2)

12 เม.ย. 2566 - 09:31

  • แต่ละพรรคอ้างว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีแบบนี้ แต่ว่ามันมีผลอะไรที่ตามมาบ้าง?

  • เราต้องตระหนักว่าการแจกเงินไม่ใช่ยาครอบจักรวาล และอาจเป็นปัญหาด้วยซ้ำ

TAGCLOUD-who-produce-money-and-where-does-money-come-from-part2-SPACEBAR-Thumbnail
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 คือ หลายพรรคสัญญาว่าจะอัดฉีดเงินให้ประชาชน (หรือนัยหนึ่งคือปั๊มเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ) ทั้งแจกทางตรงและทางอ้อม ทั้งเป็นเงินตรายุคเก่า (ธนบัตร) และเงินตรายุคใหม่ (ดิจิทัล)  

คำถามก็คือ จะเอาเงินมาจากไหน? คำตอบอยู่ที่คำอธิบายเรื่องที่มาของเงินในบทความเรื่อง “คนไทยต้องรู้ เงินมาจากไหนให้พรรคการเมืองเอามาแจก ตอนที่ 1” แต่เราจะต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่าเงินจะหมุนเวียนอย่างไรหลังจากแจกเงินแล้ว 

เก็บภาษีให้ครบทุกคน 

จากคำอธิบายในบทความเรื่อง “คนไทยต้องรู้ เงินมาจากไหนให้พรรคการเมืองเอามาแจก ตอนที่ 1” เราจะเห็นว่ารัฐจะอัดเงินเข้ามาก่อนเพื่อเป็น ‘เชื้อ’ ให้เศรษฐกิจฟูขึ้นมา เมื่อเศรษฐกิจฟูขึ้น ประชาชนมีเงินมากขึ้นก็จะจ่ายภาษีได้มากขึ้น ซึ่งภาษีก็คือ ‘หนี้’ ที่ประชาชนมีพันธะต่อรัฐบาล (ดังนั้นบนธนบัตรจึงมีข้อความว่า ‘ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย’)  

เงินที่ประชาชนทำได้นั้นมาจากทั้งเงินที่รัฐปล่อยเข้ามาเอง และการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญของไทย เพราะรายได้ของไทยส่วนใหญ่มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว  

ปัญหาก็คือ แม้จะมีเงินหมุนเวียนมาก แต่รัฐบาลไทยมีระบบจัดเก็บภาษีที่มีช่องโหว่ เพราะผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีแค่ 4 ล้านคนเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่นอกระบบจัดเก็บภาษี หรือที่เรียกว่า 'เศรษฐกิจเงา' หรือ 'เศรษฐกิจนอกระบบ' (Shadow economy) ในระบบนี้มีเงินมหาศาล คือ 8.54 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 29 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 46.2% ของเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ แต่รัฐไม่สามารถเรียก 'หนี้' หรือภาษี เหล่านี้คืนมาหมุนเวียนได้ 

เงินดิจิทัลคือระบอบใหม่ 

ดังนั้น รัฐบาลไทยในยุคดิจิทัลจึงพยายามดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ โดยต้อนเข้ามาให้อยู่ในโครงการคนละครึ่งหรือโครงการที่ใช้อีวอลเล็ตทั้งหลาย เพื่อที่จะสามารถติดตามเม็ดเงินที่เคยไหลออกนอกระบบ แต่เงินนอกระบบภาษีเหล่านี้ก็ยังไม่ยอมเข้าระบบอยู่ดี พยายามไม่เข้าร่วมโครงการโดยอ้างว่า ‘ถูกเก็บภาษี’ เสียอย่างนั้น 

บางพรรคการเมืองจึงเสนอที่จะใช้ระบบเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นการต้อนให้เงินนอกระบบเข้าสู่ระบบนั่นเอง ยิ่งปูทางไปสู่การใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือระบบบล็อคเชน ที่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ ระบบสร้างเงิน หมุนเงิน และเก็บเงินของไทยจะยิ่งสมบูรณ์แบบ  

แต่ก็มีผู้แย้งว่าไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี DLT ระบบอีวอลเล็ตที่มีอยู่ก็สามารถทำแบบนั้นได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องใช้หรือไม่ใช้ DLT ไม่ใช่ประเด็นหลักในที่นี้ สิ่งที่เราต้องรู้ก็คือ เงินจะหมุนเวียนอย่างไร และเรารู้แล้วว่ามันจะหมุนผ่านการงอกเงยขึ้นมาของภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ ซึ่งมันจะยิ่งเก็บได้มากหากทุกคนอยู่ในระบบภาษี ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีอยู่ในสภาพแบบนั้น 

ทุกอย่างตั้งอยู่บนความเชื่อ 

อีกสาเหตุที่จะรัฐบาลจะคืนทุนได้มากก็คือเศรษฐกิจจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนประชาชนมีเงินเสียภาษีได้มาก เราจึงเห็นพรรคเพื่อไทย ‘ยอมรับ’ ว่าแหล่งเงินที่จะนำมาแจกส่วนหนึ่งจะมาจากการเก็บภาษีที่คาดว่าจะมากขึ้นในปี 2567 และจะสามารถดำเนินการแจกเงินได้ในปีถัดไป  

สมมติฐานก็คือ รัฐบาล (สมมติว่าเป็นเพื่อไทย) มีเศรษฐกิจดีขึ้น → รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น → มีเงินไปแจกประชาชนคนละ 10,000 บาท → ประชาชนนำเงินไปจับจ่ายกับภาคธุรกิจ → ธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น → การใช้จ่ายของประชาชนกับธุรกิจทำให้เกิดภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น → ธุรกิจมีรายได้และทำให้เสียภาษีให้รัฐมากขึ้น → รัฐมีรายได้มากขึ้น  

ย้ำว่ามันเป็นแค่สมมติฐาน ในสถานการณ์จริงอาจเป็นคนละเรื่อง เพราะการแจกเงินไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่จะกระต้นเศรษฐกิจได้ มันยังมีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (ไม่อยากใช้จ่าย) ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ (ไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะดีแค่ไหน?) สถานการณ์การเมืองของประเทศ (จะมีประท้วงอีกหรือเปล่า?) และอีกมากมาย ถ้าปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งเกิดสะดุดขึ้นมา สมมติฐานข้างต้นก็อาจพังทั้งหมดได้เหมือนกัน   

ในโลกนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ 

ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในสภาพเป็นง่อย (Stagnation) มา 30 ปีแล้ว สาเหตุหนึ่งคือประชาชนไม่ยอมใช้จ่ายและออมเงินมากเกินไป เหตุที่ออมมากไปเพราะกังวลเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี แต่พอออมมากๆ เศรษฐกิจก็ยิ่งไม่ดีเพราะเงินฝืด (Deflation) ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นจึงคิดที่จะเพิ่มภาษี เพื่อรีดเอา ‘หนี้’ จากประชาชนกลับคืนมาสู่รัฐ แล้วรัฐจะได้มีเงินมาปั๊มเข้าสู่ระบบต่อไป  

แต่การเพิ่มภาษีคือความเสี่ยงทางการเมืองที่ร้ายแรงมาก ถึงแม้ว่าภาษีจะถือเป็นหนี้ที่ประชาชนจะต้องจ่ายให้รัฐ แต่การติดหนี้หมายความว่ารัฐบาลต้องยื่นหมูยื่นแมวอะไรบางอย่างกับประชาชนด้วย เหมือนกับที่เราก่อหนี้ด้วยการซื้อบ้านมาสักหลัง แม้ว่าเรามีหนี้แต่ก็ยังได้บ้านมาครอบครอง หนี้ระหว่างประชาชนกับรัฐก็เช่นกัน ยังไม่นับปัญหาเรื่องคนไทยเสียภาษีแค่ไม่กี่ล้านคน แต่เกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจบ้านเราอยู่นอกภาษี คนที่แบกรับการจ่ายหนี้ให้รัฐแต่ฝ่ายเดียวแบบนี้ย่อมไม่แฮปปี้แน่ๆ  

ดังนั้น การแจกเงินก็อาจเกิดสมมติฐานอันเลวร้ายแบบนี้ได้เหมือนกัน คือ เศรษฐกิจไม่ดี → รัฐบาลแจกเงินกระตุ้น → ประชาชนกังวลเรื่องเศรษฐกิจจนไม่กล้าใช้จ่าย → เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นแถมยังแย่ลง → รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง → เพื่อรักษาคะแนนเสียงในหมู่คนไม่เสียภาษี รัฐจึงเก็บภาษีมาแจกมากขึ้น → ผู้เสียภาษีไม่พอใจเพราะมีแต่เสียเงินแต่ไม่ได้อะไรกลับมา → เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาล → รัฐบาลล่มสลาย 

นี่เป็นแค่เรื่องสมมติบางเรื่องเท่านั้น มันอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์