สงครามเพื่อจักรวรรดิที่ผลักดันความยิ่งใหญ่ของ Mitsubishi (ตอนที่ 2)

7 มิ.ย. 2566 - 08:02

  • Mitsubishi ถือเป็นหนึ่งในสี่ Big four บริษัทที่ค้ำชูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเอาไว้

  • เส้นทางความยิ่งใหญ่ของ Mitsubishi เกี่ยวข้องกับการสร้างชาติและการขยายดินแดน

TAGCOUD-from-wars-to-economic-miracle-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Thumbnail
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/cD0BYjn49jtKhRKjgfWxn/f1a6a833f8e50759e823d6d5fe9ed7c5/TAGCOUD-from-wars-to-economic-miracle-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Photo01

Background Data  

1. ระหว่างปี 1930 – 1945 หรือระหว่างที่ญี่ปุ่นขยายจักรวรรดิอย่างเร่งรีบจนถึงปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 Mitsubishi ไม่ขาดทุนจากทุนที่ออกและชำระ (Paid-up capital) และยังได้กำไรจากทุนที่ออกและชำระโดยเฉลี่ย 10% จนถึงก่อนถึงช่วงต้นปี 1945 หรือไม่กี่เดือนก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 

2. ในปี 1940 ซึ่งเป็นช่วงพีคของการรุกรานเอเชียโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น Mitsubishi มีกำไรสูงถึง 20% ในปีเดียวกันนั้น Mitsubishi สร้างเรือประจัญบานมูซาชิ (Musashi) ซึ่งเป็นเรือชั้นยามาโตะ (Yamato-class) ที่มีขนาดใหญ่มาก ระวางขับน้ำถึง 72,800 ตัน 

3. ระหว่างปี 1941 – 1945 Mitsubishi ผลิตเครื่องบินมากถึง 12,513 ลำ คิดเป็น 17.9% ของจำนวนเครื่องบินที่ผลิตในญี่ปุ่น และในช่วงเวลาเดียวกัน Mitsubishi ผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินรบมากถึง 14,534 เครื่อง คิดเป็น 35.6% ของเครื่องยนต์เครื่องบินที่ผลิตในญี่ปุ่น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2a63ht5SR3Xmu2kuwWVeTp/8ca691c0cb55e4eff359078949aeb6ae/TAGCOUD-from-wars-to-economic-miracle-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Photo02
Photo: หอบังคับการเรือประจัญบานมูซาชิ เรือรบขนาดมหึมาที่ผลิตโดย Mitsubishi ถ่ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1942

ผลกำไรจากการรุกราน 

สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1894-1895 ทำให้เกิดความต้องการเรือเป็นจำนวนมาก รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตรากฎหมายกระตุ้นการสร้างเรือ ซึ่งจะช่วยอุดหนุนธุรกิจชนิดนี้ ปรากฏว่า Mitsubishi ได้เงินอุดหนุนมากที่สุดถึง 40% จากเงินอุดหนุนทั้งหมดที่รัฐให้กับบริษัทต่อเรือ (ซึ่งมีแค่ 3 บริษัทที่ได้)  
 
สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีน ทำให้จีนต้องเสียไต้หวัน คาบสมุทรเหลียวตง และเสียเขตอิทธิพลในเกาหลี 
 
ต่อมาเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ. 1904-1905 ความต้องการเรือก็ยิ่งเพิ่มขึ้นและ Mitsubishi ก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการป้อนเรือให้กับกองทัพ และในสงครามครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะเหนือฝรั่งแบบช็อคโลก จนทำให้ชาติตะวันตกต้องยอมซูฮกในความก้าวหน้าของญี่ปุ่น คราวนี้ดินแดนของญี่ปุ่นยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับภูมิภาคแมนจูเรียของจีนมาครอง ได้เกาะซัคคาลินของรัสเซียมาครองครึ่งเกาะ พร้อมกับผนวกเกาหลีเป็นอาณานิคม  
 
Mitsubishi ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีบางอย่างด้านการต่อเรือจากอังกฤษในก่อนสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นไม่นาน เรื่องนี้ถือว่าไม่ปกตินักที่ประเทศหนึ่งๆ จะยอมบอกความลับด้านยุทธปัจจัยให่ใคร แต่ที่อังกฤษยอมให้ Mitsubishi ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนรัฐบาลญี่ปุ่นให้เผชิญหน้ากับรัสเซีย เพื่อที่จะบั่นทอนอิทธิพลของรัสเซียไม่ให้เป็นภัยกับอังกฤษนั่นเอง  
 
ในช่วงสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น นี่เองที่เรือขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นที่สร้างโดย Mitsubishi คือเรือ Hitachi Maru ถูกรัสเซียโจมตีจนอัปปางพร้อมกับลูกเรือที่ส่วนใหญ่เป็นทหารนับพันชีวิต การจมเรือลำนี้จะถูกใช้เป็นเรื่องราวปลุกใจให้คนญี่ปุ่นรู้สึกฮึดสู้เพื่อชาติในสงครามอีกหลายครั้ง จนกระทั่งถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจะเห็นได้ว่า ‘ชาตินิยมญี่ปุ่น’ ที่เป็นกลไกสำคัญของการขยายจักรวรรดิ ถูกยึดโยงกับภาคธุรกิจที่เป็นตัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนจักรวรรดิด้วย  
 
หลังจากผ่านสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นต่อมาอีก 10 ปี เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ระหว่างปี ค.ศ. 1914-1918) ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร เมื่อชนะแล้วจึงได้ส่วนแบ่งเป็นดินแดนของเยอรมนี โดยเฉพาะหมู่เกาะในแปซิฟิกซึ่งเป็นอาณานิคมของเยอรมนี จักรวรรดิญี่ปุ่นยิ่งกว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมน่านน้ำที่กว้างขวาง จึงต้องการกองเรือขนาดใหญ่มารองรับ  
 
คนที่จะตอบสนองความจำเป็นนี้ได้ก็ไม่ใช่ใคร นอกจาก Mitsubishi เจ้าของอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2mZM8odjKnmP2VCzpL83z4/6463dc3b9bd1e3fe0e621cc39eed3e29/TAGCOUD-from-wars-to-economic-miracle-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Photo03
Photo: หอบังคับการเรือประจัญบานมูซาชิ เรือรบขนาดมหึมาที่ผลิตโดย Mitsubishi ถ่ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1942

กำเนิด Zero Fighter 

อิวาซากิ ยะทาโร เริ่มต้นจากการเป็นคนดูแลกิจการเรือของแคว้น แต่ก็ยังจัดการเรื่องอาวุธด้วย ในเวลาต่อมาบริษัทของเขาก็ยังกลายเป็นผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของประเทศ (และเอเชีย) ด้วย ซึ่งมันสะท้อนถึงวิวัฒนาการความเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้ว ที่มักจะมีรากฐานมาจากเครืออุตสาหกรรมทางการทหาร (Military–industrial complex) 
 
เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดมันก็เริ่มกระทบกับจักรวรรดิอื่นๆ ความจำเป็นจะต้องมีกองเรือและกองบินที่แข็งแกร่งก็ต้องตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของญี่ปุ่นในแปซิฟิกเริ่มไปเบียดกับอิทธิพลของสหรัฐฯ ซึ่งถือตัวว่าเป็น ‘เจ้าแห่งแปซิฟิก’ 
 
สิ่งที่ทำให้สหรัฐครอบแปซิฟิกได้ก็คือกองเรือขนาดใหญ่ที่มีตัวเอกคือเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งสามารถเดินทะเลระยะไกล และยังส่งเครื่องบินไปโจมตีเป้าหมายยังภาคพื้นได้โดยที่กองเรือเสี่ยงที่จะถูกโจมตีน้อยลง   
 
ดังนั้นญี่ปุ่นจึงต้องมีกองเรือแบบนั้นบ้าง Mitsubishi ไม่ใช่แค่มีอู่ต่อเรือใหญ่ แต่ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตเครื่องบินรบชั้นเลิศได้ด้วย และพวกเขาให้กำเนิดเครื่องบินรบ Mitsubishi A6M Zero หรือ Zero Fighter 
 
Zero Fighter คือจุดสุดยอดของเครื่องบินรบที่ปราดเปรียวจนเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่ศัตรู แต่กว่าจะมาถึงรุ่น Zero Fighter ได้ Mitsubishi มีส่วนในการพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ให้กองทัพเรือญี่ปุ่นมายาวนานกว่านั้น พวกเขาเป็นผู้ปฏิวัติการบินของญี่ปุ่น ด้วยการเสนอโมเดลเครื่องบินปีกเดี่ยวมาแทนที่เครื่องบินรบปีกสองชั้น นั่นคือ Mitsubishi 1MF10 แม้ว่าจะไม่ผ่านการพิจารณา แต่โมเดลนี้จะกลายมาเป็น Zero Fighter ในที่สุด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2k5kWzK1o3TuTb61Zu7ZKp/cbbbbcb1a742b0fe13fd3afda30ea40a/TAGCOUD-from-wars-to-economic-miracle-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Photo04
Photo: สภาพของเมืองนางาซากิหลังถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู ที่นางาซากิเป็นที่ตั้งของอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ที่ดำเนินการโดย Mitsubishi จึงสร้างความเสียหายให้กับบริษัทอย่างมาก ภาพถ่ายโดย Cpl. Lynn P. Walker, Jr. (Marine Corps) ทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ

เพราะทุนพวกเขาจึงรอด 

ด้วยความที่ Mitsubishi เกี่ยวพันกับการปฏิวัติ สงคราม การรุกราน และสร้างจักรวรรดิญี่ปุ่น ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นเป้าหมายแรกที่จะต้องเล่นงานจากฝ่ายคู่สงคราม  
 
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 Mitsubishi และบริษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวพันกับจักรวรรดิจึงถูกสหรัฐฯ ในฐานะผู้ชนะสงครามสั่งแบนและแยกบริษัทลูกในเครือออกเป็นเอกเทศ ห้ามติดต่อกัน ซึ่งในแง่หนึ่งยังถือว่าโชคดีมากแล้วที่ไม่ถูกยุบไปตลอดกาล สาเหตุสำคัญก็เพราะสหรัฐฯ ยังต้องการรักษารากฐานทุนนิยมและสังคมญี่ปุ่นแบบอนุรักษ์นิยมเอาไว้ เพื่อเป็นฐานต่อต้านการขยายตัวของลิทธิคอมมิวนิสต์  
 
ดังนั้น เพราะความเป็นทุนยักษ์ใหญ่ที่ค้ำชูประเทศเอาไว้ จึงทำให้ Mitsubishi รอดพ้นจากความพินาศมาได้ ทั้งๆ ที่เป็นตัวจักรสำคัญของอุตสาหกรรมสงคราม  
 
และความเป็นจักรกลแห่งอุตสาหกรรมสงครามนี่เองที่ทำให้ Mitsubishi กลับมายืนได้อีกครั้งในทศวรรษที่ 1950 เมื่อสหรัฐฯ อนุญาตให้พวกเขากลับมารวมเป็นกลุ่มบริษัทได้อีก เพระมีความจำเป็นที่จะต้องใช้รากฐานอุตสาหกรรมของพวกเขาในการทำสงครามเกาหลี  
 
ปรากฎว่า Mitsubishi ทำกำไรมากมายจากการรับสัมปทานที่เกี่ยวกับสงครามเกาหลี และคือจุดสตาร์ทครั้งใหม่ของพวกเขา และจะติดลมบนในอีกทศวรรษต่อไป เมื่อญี่ปุ่นผ่านจากยุคฟื้นฟูหลังสงคราม สู่ยุคมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มต้นในทศวรรษที่ 1950 และเราอาจกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของยุค Japanese economic miracle ส่วนหนึ่งมาจากแรงขับเคลื่อนจากสงครามเกาหลี 
 
หลังจากนั้น ชาวโลกก็รู้จัก Mitsubishi ในฐานะบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น จากผู้ผลิตอาวุธ พวกเขากลายเป็นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของโลกในทศวรรษที่ 1960 และเป็นผู้ต่อเรือรายใหญ่ที่สุดในโลกในทศวรรษที่ 1970 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์