สาแหรกที่ยึดโยงความยิ่งใหญ่
• ตระกูล ซูมิโตโม สืบที่มาย้อนหลังได้ถึงจักรพรรดิคัมมู (ครองราชย์ ค.ศ.781-806) ซึ่งทรงมีพระโอรสคือเจ้าชายคาซุระวาระ เจ้าชายคะซุระวะระมีพระโอรสคือเจ้าชายทาคามิ เจ้าชายทาคามิมีพระโอรสคือเจ้าชายทาคาโมจิ• เจ้าชายทาคาโมจิ ถูกปลดจากฐานันดรเจ้านายลงมาเป็นชั้นศักดินา มีนามสกุลว่า ไทระ ดังนั้นประวัติศาสตร์จึงจารึกไว้ว่า ไทระ โนะ ทาคาโมจิ คือต้นตระกูลไทระ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในเวลาต่อมา
• ลูกหลาน รุ่นที่ 22 ของ ไทระ โนะ ทาคาโมจิ คือ ซูมิโตโม ทาดาชิเงะ คือผู้เริ่มต้นสายตระกูลใหม่ในชื่อตระกูลซูมิโตโม และเป็นซามูไรหรือชนชั้นนักรบที่รับใช้โชกุน (ขุนศึกที่ทำหน้าที่เสมือนนายกรัฐมนตรี) โดยเฉพาะโชกุนตระกูลอะชิคางะ
• ทาดาชิเงะ มีลูกชายชื่อ โยริซาดะ (รับใช้โชกุน) มีลูกชายชื่อ ซาดะโนบุ มีลูกชายชื่อ ซาดาชิเงะ (รับใช้ขุนศึกตระกูลอิมางาวะ) มีลูกชายชื่อ มาซาโตชิ (รับใช้ขุนศึกตระกูลชิบาตะ) มีลูกชายชื่อ นางะยูกิ (รับใช้ขุนศึกตระกูลมัตสึไดระ)
จากจับดาบมาดีดลูกคิด
เส้นทางของตระกูลซูมิโตโม เริ่มจากการเป็นชนชั้นนักรบและขุนนางมาตลอดพันกว่าปี แต่ต่อ ซูมิโตโม นางะยูกิ มาเห็นว่าการเป็นซามูไรมีแต่ทำให้ตระกูลมีแต่ความวุ่นวาย เขาจึงสั่งให้ลูกหลานเลิกเป็นนักรบ แล้วเดินบนเส้นทางของสามัญชนความไม่จีรังของอาชีพซามูไรเห็นได้ชัดจากตระกูลขุนศึกที่พวกซูมิโตโมคอยรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลอิมางาวะที่เคยยิ่งใหญ่ ก็ถูกโค่นล้มโดยตระกูลโอดะ (ที่เคยเป็นบริวาร) ตระกูลชิบาตะที่ยิ่งใหญ่ได้เพราะรับใช้ตระกูลโอดะก็ล่มสลายลงไปในศึกชิงอำนาจ ส่วนตระกูลมัตสึไดระ ต่อมาจะยิ่งใหญ่นานกว่าใครเพื่อน เพราะเป็นญาติกับโชกุนตระกูลโทกุกาวะ แต่สุดท้ายก็ต้องหมดวาสนาไปตามครรลองประวัติศาสตร์
ลูกชายของ นางะยูกิ คือ ซูมิโตโม มาซาโตโม รับคำสั่งจากบิดา ไม่ใช่แค่เลิกเป็นซามูไร แต่ยังสละทางโลกมุ่งสู่การเป็นพระสงฆ์ เข้าร่วมกับนิกายนิพพาน (นิกายเนฮังชู) ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในยุคที่ผู้คนโหยหาที่พึ่งทางใจ ต่อมานิกายนี้รวมเข้ากับนิกายที่ใหญ่กว่าคือนิกายเทนได มาซาโตโม ไม่ยอมเข้าสังกัดใหม่ จึงสึกออกมาแล้วเริ่มต้นวิถีของพ่อค้า ด้วยการเปิดร้านขายหนังสือและยาในนครเกียวโต นี่คือจุดเริ่มต้นบนเส้นทางธุรกิจของตระกูลซูมิโตโม
กำเนิดยักษ์ทองแดง
ซูมิโตโม มาซาโตโม อาจจะเป็นคนเริ่มเส้นทางการค้าของตระกูล และเขายังถือว่าเป็นต้นตระกูลซูมิโตโมสายใหม่ (สายธุรกิจ) แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนที่ให้กำเนิดกลุ่มบริษัทซูมิโตโม คือ พี่เขยของ มาซาโตโม ที่ชื่อ โซงะ ริเอะมง พ่อค้าทองแดง ผู้ทำการค้าขายกับต่างชาติ และพัฒนาเทคนิคการหลอมทองแดงที่เขาค้นพบ นั่นคือการแยกแร่เงินออกจากทองแดง ซึ่งทำให้ธุรกิจของเขาก้าวล้ำกว่าใครในยุคเซนโกกุ (ยุคสงครามระหว่างแคว้นของญี่ปุ่น) ทองแดงเป็นยุทธภัณฑ์ที่มีค่ามากโดยเฉพาะในการผลิตปืน และทองแดงญี่ปุ่นยังมีคุณภาพสูงมากและเป็นที่ต้องการของต่างชาติ เช่น ประเทศสยามในสมัยอยุธยาก็สั่งทองแดงจากญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก
ความเชี่ยวชาญในธุรกิจทองแดงจึงเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของตระกูลซูมิโตโม ตั้งแต่ยุคเซนโกกุ จนมาถึงยุคเอโดะ (ยุคสันติ) จวบจนถึงยุคสมัยใหม่ มันก็ยังเป็นธุรกิจหลักของตระกูลและกลุ่มบริษัทนี้
ตระกูลโซงะของพี่เขย และซูมิโตโมของน้องเขยจะกลายมาเป็นตระกูลเดียวกัน เมื่อลูกชายคนโตของ โซงะ ริเอะมง แต่งงานกับลูกสาวของของ ซูมิโตโม มาซาโตโม แล้วเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของพ่อตา กลายเป็นทายาทของตระกูลซูมิโตโมไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของญี่ปุ่นที่จะให้ลูกเขยเปลี่ยนนามสกุลมาใช้ของภรรยา หากตระกูลของภรรยาไม่มีผู้ชายสืบทอด
นอกจากจะมีเทคโนโลยีการหลอมทองของตัวเองแล้ว ซูมิโตโมจะยิ่งแข็งแกร่งเข้าไปอีก เมื่อพวกเขาพัฒนาเหมืองทองแดงเบชชิ ในมณฑลเอฮิเมะ ในปี ค.ศ. 1690 (สมัยเอโดะ) ซึ่งกลายเป็นเหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น
ปกครองแต่ไม่บริหาร
ดูเหมือนว่า ซูมิโตโม จะทำธุรกิจทองแดงยาวนานกว่าใครในโลกนี้ ซึ่งไม่ได้ทำให้พวกเขาล้าหลังหรืดติดกับดักอยู่ในผลิตภัณฑ์เดิมๆ เพราะทองแดงคือสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่มีวันล้าสมัย และเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่ รูปแบบการบริหารธุรกิจของซูมิโตโมก็ปรับเปลี่ยนตามไปด้วยในปี 1877 หัวหน้าตระกูลซูมิโตโม รุ่นที่ 12 ล้มป่วยลง จึงแต่งตั้งให้พนักงานที่ไต่เต้าขึ้นมาจากการดูแลเหมืองทองแดงเบชชิ มารับหน้าที่บริหารแทนเขา นั่นคือ ฮิโรเสะ ไซเฮ รับตำแหน่ง ‘ผู้จัดการทั่วไป’ ที่เป็นตัวแทนบริหารทุกมิติของกลุ่มบริษัท หรือเป็นผู้ควบคุมซูมิโตโมในแง่ธุรกิจ ส่วนในตระกูลยังเป็นเจ้าบ้านที่เป็นหัวหน้าตระกูลซูมิโตโมที่ควบคุมสูงสุดต่อไป เรียกว่าระบอบ ‘ปกครองแต่ไม่บริหาร’
ระบอบปกครองแต่ไม่บริหาร คล้ายกับระบอบโชกุน ซึ่งมีโชกุนทำหน้าที่เสมือนนายกรัฐนตรีบริหารประเทศ ส่วนผู้ปกครองแท้จริงคือจักรพรรดิ ที่ทรงเป็นประมุขแต่ไม่ทรงบริหาร ขณะที่ระบอบโชกุนทำแบบนี้ก็เพื่อยึดอำนาจจักรพรรดิมาอยู่ในกำมือของตนเอง แต่ซูมิโตโมใช้ระบอบนี้เพื่อแก้ปัญหาเจ้าตระกูลไม่พร้อมที่จะบริหาร เพราะเด็กเกินไปหรือล้มป่วย
ระบอบนี้จะทำให้ซูมิโตโมต่างจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ (ไซบัตสึ หรือ Big Four) รายอื่นๆ ของญี่ปุ่นที่คนในตระกูลผู้ก่อตั้งไม่ได้มีอิทธิพลต่อบริษัทสักเท่าไรแล้ว
เลือดยังข้นกว่าน้ำ
ถ้าเราจะพูดถึงซูมิโตโมในแง่ธุรกิจก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดาเกินไป เรารู้อยู่แล้วว่ากลุ่มบริษัทนี้ขยายกิจการจนมีธุรกิจครอบจักรวาลเหมือนไซบัตสึบริษัทอื่นๆ ที่บางแห่งเริ่มจากจักรกลจนกระทั่งทำการเงินก็มี ซูมิโตโมก็เช่นกัน พวกเขาเริ่มจากเหมืองทองแดง จนวันนี้มีทั้งการเงิน อสังหาฯ เคมี แม้แต่ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯแต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าอาณาจักรธุรกิจก็คือ พวกเขาทำอย่างไรคนในตระกูลผู้ก่อตั้งถึงยังมีบารมีไม่เสื่อมคลาย? ซึ่งต่างจากไซบัตสึอื่นๆ ที่ผู้ก่อตั้งต้องหลีกทางให้กับการบริหารยุคใหม่ โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบโชกุนมาเป็นระบอบรัฐสภาในสมัยเมจิ มีการตรากฎหมายถือครองธุรกิจแบบตะวันตก ที่ไม่เอื้อต่อระบอบเจ้าตระกูลอีก
แต่สิ่งที่ทำลายระบอบตระกูลที่ปกครองกลุ่มบริษัทไซบัตสึแบบถาวรยิ่งกว่าสมัยเมจิ ก็คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตรากฎหมายสลายอิทธิพลบริษัทไซบัตสึ ฐานที่บริษัทเหล่านี้รับใช้ระบอบอำนาจนิยม การขยายดินแดน และการทำสงครามของจักรวรรดิญี่ปุ่น กฎหมายนี้มีชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติกำจัดอำนาจการควบคุมของตระกูลเหนือไซบัตสึ’ ทั้งนี้ ก็เพื่อขจัดการผูกขาด และสร้างระบอบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ปรากฎว่าตระกูลซูมิโตโมก็เข้าข่ายไปด้วย และทำให้เจ้าตระกูลคนสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับระบอบ ‘ปกครองแต่ไม่บริหาร’ อย่างเป็นทางการ คือเจ้าบ้านรุ่นที่ 16
แต่เพราะระบอบ ‘ปกครองแต่ไม่บริหาร’ เช่นเดียวกัน ที่ทำให้ตระกูลซูมิโตโมยังมีอิทธิพลในบริษัทต่อไปในแบบไม่เป็นทางการ เพราะระบอบนี้แยกเจ้าบ้าน (เสมือนประมุข) ออกจากเจ้าของธุรกิจ (เสมือนนายกรัฐมนตรี) มานับร้อยปีแล้ว ถึงไม่มีการตรากฎหมาย พวกเขาก็แยกตัวเองออกในฉากหน้ามาตั้งนานนม แต่ในฉากหลังคนในตระกูลยังได้รับความจงรักภักดีไม่เสื่อมคลาย
ไม่มีวันถูกทำลายได้
และทุกวันนี้ ตระกูลซูมิโตโมยังมีเจ้าบ้านรุ่นที่ 17 ต่อไป นั่นคือ ซูมิโตโม โยชิโอะ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิซูมิโตโม (Sumitomo Foundation)แม้ว่าตำแหน่งประธานมูลนิธิอาจจะดูเหมือนไม่มีพลังอำนาจ แต่เราต้องทราบด้วยว่าซูมิโตโมยังมี ‘องค์กรภายใน’ ที่ไม่เหมือนใครที่คอยผสานระบอบ ‘ปกครองแต่ไม่บริหาร’ เอาไว้ คือ ‘ฮะกุซุยไค’ (สมาคมธารน้ำร้อยสาย) ที่ประกอบไปด้วยประธานบริษัทลูกในเครือ Sumitomo Group ทั้งหลาย
สมาคมนี้ตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทำหน้าที่เป็น ‘คณะกรรมการบริหารฝ่ายบริหารอย่างไม่เป็นทางการ’ ซึ่งนัยหนึ่งก็เพื่อรักษาระบอบดั้งเดิมของกลุ่มบริษัทเอาไว้ไม่ให้ถูกทำลายลงเพราะกฎหมายกำจัดระบบไซบัตสึ โดยที่แกนกลางหรือดาวฤกษ์ของ ‘ฮะกุซุยไค’ ยังคงเป็นบริษัทอุตสาหกรรมทองแดงอันเป็นรากฐานเดิมของซูมิโตโม ขณะที่บริษัทธุรกิจอื่นๆ เป็นเหมือนดาวเคราะห์ที่โคจรไปรอบๆ ดาวฤกษ์
เงื่อนไขสำคัญของ ‘ฮะกุซุยไค’ ก็คือ ผู้เข้าประชุมจะต้องเป็นระดับประธานเท่านั้น จะให้คนอื่นมาแทนไม่ได้ และจะต้องมีความภักดีอย่างยิ่งยวดต่อเจ้าบ้านตระกูลซูมิโตโม และเจ้าตระกูลจะมอบ ‘พันธสัญญา’ เพื่อผูกมัดพวกเขาเอาไว้ในความภักดี นั่นคือการมอบกฎบัตรประจำตระกูลที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคของ ซูมิโตโม มาซาโตโม ผู้ก่อตั้งตระกูลคนแรก
เราจะเห็นว่า แท็คติกการแบ่งอำนาจและแยกส่วนปกครอง คือดีเอ็นเอของซูมิโตโมที่ทำให้พวกเขาดำรงอยู่ได้ตลอดมาและตลอดไป