การปฏิวัติและสงคราม เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Mitsubishi (ตอนที่ 1)

6 มิ.ย. 2566 - 11:43

  • Mitsubishi ถือเป็นหนึ่งในสี่ Big four บริษัทที่ค้ำชูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเอาไว้

  • เส้นทางความยิ่งใหญ่ของ Mitsubishi เกี่ยวข้องกับการสร้างชาติและการขยายดินแดน

TAGCOUD-wars-and-revolutions-that-drove-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Thumbnail (1)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3PFO7tAfaBIcFbiuUvoifH/487621d218580f89ed4555a08513a995/TAGCOUD-wars-and-revolutions-that-drove-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Photo01__1_
Photo: อิวาซากิ ยะทาโร เป็นนักอุตสาหกรรมและนักการเงินชาวญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งบริษัทมิตซูบิชิ

Background data 

  1. ในสมัยเอโดะ ญี่ปุ่นแบ่งการปกครองเป็นแคว้น หรือ ‘ฮัง’ มีทั้งหมดราวๆ 280 ฮัง แต่ละฮังมีเจ้าแคว้นปกครอง ซึ่งแต่งตั้งโดยโชกุน แต่จะแต่งตั้งคนในตระกูลเดิมสืบทอดกันไป 
  2. แต่ละฮังมีอัตราศักดินาที่เรียกว่า ‘โคกุ’ (ซึ่งเท่ากับข้าว 150 กิโลกรัม) ต่างกัน ขึ้นกับความใกล้ชิดกับโชกุนและรัฐบาลกลาง และขึ้นกับความดีความชอบด้านการปกครอง 
  3. ดังนั้นแต่ละฮังจึงมีความมั่งคั่งที่กับ ‘โคกุ’ ต่างกันมาก เช่น ตระกูลโทกุกาวะ ญาติของโชกุนที่ปกครองแคว้นโอวาริ มีจำนวนโคกุถึง 619,000 โคกุ คิดเป็นค่าเงินปัจจุบันคือ 1.8 แสนล้านเยน 
  4. ในขณะที่แคว้นโทะซะมีศักดินา 202,600 โคกุในทางนิตินัย แต่อาจมีสูงถึง 494,000 โคกุ ในทางปฏิบัติ เพราะมีเจ้าแคว้นที่ใกล้ชิดกับโชกุน   
จุดเริ่มต้นบนเส้นทางธุรกิจของบริษัท  มิตซูบิชิ (Mitsubishi) ไม่เหมือนกับบริษัทอื่นๆ ที่รุ่งเรืองในยุคแห่งสันติภาพ ตรงกันข้าม Mitsubishi เติบโตขึ้น แข็งแกร่งขึ้น และรุ่งเรืองขึ้นมาจากยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ การทำสงคราม การขยายดินแดน พวกเขาผงาดขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อตัวของจักรวรรดิญี่ปุ่น  

และแม้ว่าจักรวรรดิญี่ปุ่นจะล่มสลายไปหลังความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ Mitsubishi ไม่ใช่แค่รอดมาได้ แต่ยังยิ่งใหญ่กว่าเดิมด้วยซ้ำ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม? 

ผู้ที่ให้กำเนิด Mitsubishi คือซามูไรปลายแถวในแคว้นโทะซะ ที่ชื่อ อิวาซากิ ยะทาโร ในยุคสมัยที่แคว้นโทะซะกำลังขัดขืนการปกครองของรัฐบาลกลางที่ปกครองด้วยระบบโชกุน และคนหนุ่มในแคว้นโทะซะก่อหวอดเพื่อจะล้มล้างรัฐบาลโชกุน เพื่อสร้างระบอบการปกครองใหม่ขึ้นมา พร้อมกับสร้างโลกใหม่ที่ก้าวทันโลกภายนอก 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1Az8098MjhBKL5f5foYWw9/f84ff18c30215087d8f21575a74bb45b/TAGCOUD-wars-and-revolutions-that-drove-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Photo02__1_
Photo: ซากาโมโตะ เรียวมะ ถ่ายเมื่อราวปี ค.ศ. 1866 ภาพจาก Kochi Prefectural Museum of History

นักปฏิวัติจากโทะซะ 

แม้ว่าแคว้นโทะซะจะมีศักดินาสูงมากและใกล้ชิดกับรัฐบาลโชกุน แต่ซามูไรบริวารของแคว้นนี้ไม่จงรักภักดีต่อเจ้าแคว้นและคิดที่จะท้าทายอำนาจของรัฐบาลโชกุน พวกเขาเริ่มวางรากฐานการปฏิวัติ ด้วยการศึกษาวิทยาการตะวันตก และเริ่มสร้างองค์กรที่จะเป็นท่อน้ำเลี้ยงการปฏิวัติ 

แกนนำคนหนุ่มนักปฏิวัติแห่งแคว้นโทะซะ คือ ชายหนุ่มชื่อ ซากาโมโตะ เรียวมะ ผู้ที่คนญี่ปุ่นทุกวันนี้ยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ 

เรียวมะ ไม่ใช่แค่นักฝัน แต่เขาเป็นนักปฏิวัติที่อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง เขารู้ว่าการจะเปลี่ยนประเทศได้จะต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสร้างธุรกิจที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับขบวนการ และผลลัพธ์ก็คือบริษัทเดินเรือไคเอ็นไต (Kaientai) 

อิวาซากิ ยะทาโร ก็ตระหนักในพลังแห่งเทคโนโลยีเช่นกัน เขาเรียนวิชาการสมัยใหม่กับนักปราชญ์ที่สอนวิทยาการตะวันตก และถือเป็นคนญี่ปุ่นรุ่นแรกๆ ที่ได้เรียนรู้ความเป็นสมัยใหม่ ต่อมาเขายังได้รับมอบหมายให้ไปทำงานสร้างเรือกลไฟอันเป็นจักรกลสมัยใหม่ และสร้างอาวุธแบบใหม่ พร้อมกับประสานงานงานกับบริษัทไคเอ็นไต 

และนี่เองที่ ยะทาโร ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับวีรบุรุษแห่งยุคสมัยที่กำลังจะเปิดฉากสงครามที่จะเปลี่ยนญี่ปุ่นไปตลอดกาล เขาเล่าถึงความประทับใจเมื่อพบกับ เรียวมะ เอาไว้ว่า “เราดื่มเหล้าสาเกและพูดคุยกันฉันท์มิตร ผมแบ่งปันความคิดที่ผมคิดมานานแล้ว และ เรียวมะ ก็แสดงความเห็นด้วยอย่างกระตือรือร้น” 

แต่หลังจากร่วมงานกันอยู่พักหนึ่ง เรียวมะ ก็จากไปเพื่อเคลื่อนไหวการปฏิรูปในระดับชาติ ยะทาโร ไปส่งด้วยน้ำตานองหน้า เหมือนกับจะรู้ว่านั่นเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย ก่อนที่ เรียวมะ จะถูกฝ่ายตรงข้ามลอบสังหาร 

แต่การปฏิรูปที่ เรียวมะ ผลักดันไม่ได้ตายตามเขาไปด้วย ตรงกันข้ามมันแข็งแกร่งขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลโชกุนได้สำเร็จ เช่นเดียวกับบริษัทไคเอ็นไต หลังจากที่ เรียวมะ จากไป ยะทาโร มาช่วยดูแลกิจการเดินเรือต่อไป  

ความฝันของ เรียวมะ ที่จะล่องเรือไปทั่วเจ็ดคาบสมุทร ตัวเขาไม่มีโอกาสได้ทำอีกต่อไป ต่เขาคงไม่รู้ว่า ซามูไรหนุ่มร่วมอุดมการณ์ที่ชื่อ ยะทาโร จะทำมันได้สำเร็จ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3NJ14PfO2mdqHPpN1P8vjE/d4e0a4b7cad8eda5d4a50c7889db894e/TAGCOUD-wars-and-revolutions-that-drove-the-rise-of-mitsubishi-SPACEBAR-Photo03__1_
Photo: เรือริวโจ เรือธงของราชนาวีญี่ปุ่น ในการทำสงครามที่ไต้หวัน

สงครามที่สร้างจักรวรรดิ 

การปฏิวัติที่ เรียวมะ เป็นคนขับเคลื่อนลุกลามจนกลายเป็นสงคราม และจบลงด้วยการสิ้นสุดของรัฐบาลโชกุน ญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ต้องการจะยิ่งใหญ่ทัดทียมชาติตะวันตก และเทคโนโลยีที่ต้องการมากเป็นพิเศษ คือการเดินเรือ  

ยะทาโร ช่ำชองในธุรกิจเดินเรือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาจึงตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมาในปี ค.ศ. 1870  ชื่อว่า Mitsubishi ที่ประกอบด้วยคำว่า ‘สาม’ (mitsu) กับคำว่า ‘เพชร’ (bishi) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามสัญลักษณ์ของบริษัทโดยเลียนแบบตราสัญลักษณ์ของตระกูลเจ้าแคว้นโทซะ ที่ทำให้เขามีวันนี้ขึ้นมาได้ และคำว่า ‘เพชร’ สะท้อนความแข็งแกร่งและความยิ่งใหญ่ของบริษัทได้อย่างดีเยี่ยม 

ยะทาโร แสดงความแกร่งดั่งเพชรออกมา เมื่อเขารอจังหวะจนบริษัทเดินเรือคู่แข่งที่ได้สัมปทานของรัฐบาลประสบกับความล้มเหลว เขาจึงนำ Mitsubishi มาแทนที่ พร้อมด้วยกองเรือมากถึง 40 ลำ และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 350,000 เยนต่อปี ซึ่งเป็นเงินมหาศาลในเวลานั้น  

ตอนนี้ญี่ปุ่นพร้อมที่จะท่องโลกกว้างด้วยกองเรือของ Mitsubishi แล้ว  

เมื่อมีธุรกิจเดินเรือก็ต้องมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกับการเดินเรือ Mitsubishi จึงเริ่มขยับขยายสู่ธุรกิจประกันภัย (จากการเดินเรือ) ธุรกิจเหมืองถ่านหิน (เพราะเรือกลไฟต้องใช้ถ่านหิน) ธุรกิจโกดังสินค้า และการค้า และการค้านำไปสู่ธุรกิจธนาคาร 

และจาก ‘อาณาจักร’ ธุรกิจเดินเรือ มันทำให้ Mitsubishi ต้องไปเกี่ยวพันกับกระบวนการสร้าง ‘จักรวรรดิ’ ของญี่ปุ่น เพราะการสร้างชาติสมัยใหม่จะต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล และญี่ปุ่นมีข้อจำกัดในเรื่องนั้น จึงเริ่มมีการหารือกันถึงการขยายดินแดนไปยังดินแดนใกล้เคียง 

ไต้หวัน เกาะใหญ่ของจีนสมัยราชวงศ์ชิง คือเป้าหมายแรกที่ญี่ปุ่นต้องการครอบครอง เผอิญว่าในเวลานั้นเรือของญี่ปุ่นถูกชนพื้นเมืองไต้หวันโจมตี ญี่ปุ่นจะใช้โอกาสนี้ยกทัพไปปราบ และรัฐบาลญี่ปุ่นสั่งซื้อเรือเป็นจำนวนมากจาก Mitsubishi และเมื่อเสร็จสิ้นสงครามแล้ว รัฐบาลก็คืนเรือกลับไปให้ Mitsubishi ทำให้ได้ทั้งกำไร และสายสัมพันธ์กับรัฐบาล 

ในเวลาต่อมา ไต้หวันจะตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น หลังจากที่ราชวงศ์ชิงแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 

แต่ก่อนที่จะถึงเหตุการณ์นั้น ในญี่ปุ่นเกิดความวุ่นวายขึ้นเสียก่อน เพราะเกิดความวุ่นวายจากกลุ่มซามูไรของแคว้นซัตสึมะที่เคยรวมพลังกับแคว้นโทะซะทำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลโชกุน แต่คราวนี้ซามูไรของซัตสึมะก่อกบฏขัดขืนรัฐบาลใหม่ รัฐบาลจึงต้องยกทัพไปปราบ  

และคราวนี้อีกเช่นกันที่ที่ Mitsubishi (ซึ่งเป็นบริษัทของแคว้นโทะซะ) ได้รับการว่าจ้างให้ขนส่งยุทธปัจจัยและทหารให้  เมื่อกบฏถูกปราบลงไป รัฐบาลก็ยิ่งไว้วางใจ Mitsubishi ยิ่งขึ้น 

นั่นเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นรุกเข้ายึดครองเอเชียทีละน้อยๆ พอดี 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์