ฟังเสียงคนไทย เหนื่อยใจมหากาพย์ซื้อสิทธิดูบอลโลก

19 พ.ย. 2565 - 03:50

  • เต็มไปด้วยความรู้สึกด้านลบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • ความไม่พอใจที่รัฐบาลจะนำงบประมาณแผ่นดินมาซื้อลิขสิทธิ์ 

TAGFOCUS-why-macron-visit-thailand-and-attend-apec-SPACEBAR-Thumbnail
ถึงแม้ว่าคนไทยจะโล่งอกได้เสียที หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บรรลุข้อตกลงการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 กับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เรียบร้อยซะทีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่มูลค่า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยคนไทยจะได้รับชมครบทั้ง 64 แมตซ์   

นี่ คือการดีลแบบฉิวเฉียด ประมาณว่าหลายคนทำใจไปเรียบร้อยแล้วว่าอาจจะไม่ได้ดูบอลโลกปีนี้ และบางคนก็ไม่พอใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ล่าช้า ไม่พอใจกับมูลค่าดีลที่สูงเกินไป หรือไม่ก็เข้มงวดกับระเบียบการถ่ายทอดเกินไปจนทำให้คนไทยเกือบจะพลาดโอกาส   

ดังนั้น แม้ว่า ดีลนี้จะผ่านสำเร็จแต่ในสังคมคนลูกหนังก็ยังอบอวลไปด้วยความรู้สึกคับข้องใจและไม่พอใจกับการจัดการลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลกครั้งนี้   

จากการทำ Social listening โดยทีม SPACEBAR•DATOPS และวิเคราะห์ข้อมูลโดยทีม SPACEBAR•TAGCLOUD ผลที่ออกมาไม่เหนือความคาดหมาย   

ความรู้สึก (Sentiments) ต่อกระแสข่าวการจัดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ออกมาในทางลบมากที่สุดถึง 58% ตามด้วยความรู้สึกกลางๆ 39% และน้อยที่สุดคือความรู้ด้านบวก 5%  

เราจะมาดูที่ความรู้สึกด้านลบ (Negative) เป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่  กระแสนี้ส่วนใหญ่มาจากรายงานข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับดีลครั้งนี้ ซึ่งความรู้สึกเชิงลบต่อการที่จะงบประมาณของภาครัฐมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่สูงมาก  

ทีมงาน SPACEBAR ได้สรุปจากมิติของความรู้สึกด้านลบในประเด็นนี้ว่า ไม่มีใครสนับสนุนการใช้เงินจำนวน 1,600 ล้านบาทในการซื้อลิขสิทธิ์ เนื่องจากราคาสูงมากถ้าเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ อันเนื่องจากความล่าช้าในการดำเนินการและกฎ  Must Have Must Carry ของ กสทช. ซึ่งหมายความว่าผู้ซื้อลิขสิทธิ์มาจะถูกบังคับให้ถ่ายทอดทางฟรีทีวี ทำให้ไม่มีเอกชนรายไหนกล้าลงทุนหรือลงขัน เพราะซื้อมาถ่ายทอดก็เท่ากับขาดทุนจากการเก็บรายได้  

เพราะกฎอันเข้มงวดของ กสทช. ทำให้ทุกความไม่พอใจจะพุ่งไปที่ กสทช.  ว่าเป็นต้นเหตุของความติดขัดทั้งมวล เช่น มาดามเดียร์ ตำหนิกฎ must have Must Carry ต้นเหตุปัญหา​ และจากการทำ Social listening ของเรา ยังพบว่าช่วงที่กระแสลบรุนแรงที่สุดคือวันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ กสทช. จะต้องฟันธงแล้วว่าจเอายังไงกับดีลนี้ ซึ่งปรากฏว่าข้อสรุปก็ยังไม่เป็นที่พอใจของประชาชน  

อีกรายที่ถูกถล่มไม่น้อยไปกว่ากัน คือ รัฐบาลในฐานที่ทำงานล่าช้าแบบไฟลนก้นก็ยังดีลไม่สำเร็จ จนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้ดีลกดันหมดแล้วยกเว้นไทย จึงมีทั้งเสียงตำหนิและเสียงค่อนขอดรัฐบาล  

เช่น ไม่มีความเตรียมพร้อมทั้งที่มีเวลา 4 ปี ซึ่งชาติอื่นๆ ตกลงเรื่องลิขสิทธิ์เสร็จไปนานแล้ว​, เสียดสีความสามารถของรัฐบาลประยุทธ์จากอดีตถึงความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องจนถึงเรื่องลิขสิทธิ์​ และมีการอ้างถึง ตูน บอดี้สแลม กับ โตโน่ ให้มาช่วยหาเงินค่าลิขสิทธิ์​แทนรัฐบาล  

อีกประเด็นที่ถูกติงมาก คือ งบประมาณที่จะนำมาซื้อสิทธิถ่ายทอด มาดูกันก่อนว่า เงินมาจากไหนบ้าง   

1. กสทช. อนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มาซื้อสิทธิถ่ายทอดในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท จากที่ กกท. เสนอขอรับการสนับสนุน 1,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนเต็มที่แสดงความจำนงค์ไป  

2. เมื่อได้เงินมาไม่ครบ กกท. ต้องหาภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนอีก 1,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะสนับสนุนเงินราว 500 ล้านบาท รวมแล้วยังขาดอีก 300 ล้านบาท  

3. เงินที่เหลือจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ  

ประเด็นที่คนไทยสะท้อนออกมาตั้งแต่ก่อนที่จะปิดดีลนี้ ก็คือกระแสข่าวว่าจะมีการนำงบประมาณแผ่นดินมาใช้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ทำให้ประชาชน นักการเมือง นักวิชาการบางส่วนไม่พอใจ เพราะเห็นว่าเป็นการนำงบประมาณของชาติมาใช้เฉพาะกลุ่ม ไม่จำเป็น และควรจะนำเงินไปใช้พัฒนาบ้านเมืองมากกว่า   

เสียงสะท้อนนี้ SPACEBAR มองเห็นและพบว่าอยู่ในกลุ่มของกระแส Negative และเชื่อว่าแม้ดีลถ่ายทอดฟุตบอลโลกจะได้ข้อสรุปแล้ว แต่วิวาทะเรื่องความจำเป็นในการใช้งบประมาณรัฐมาใช้กับเรื่องนี้ ก็ยังจะเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันต่อไป 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์