ข่าวที่เราเสพกันทุกวันนี้อาจเป็นฝีมือของ AI

8 พ.ค. 2566 - 03:02

  • เว็บไซต์ NewsGuard ตรวจพบเกือบ 50 เว็บไซต์ใช้ AI ในการเขียนบทความ โดยเน้นผลิตเนื้อหาจำนวนมากเพื่อค่าโฆษณา

  • การค้นพบครั้งนี้ทำให้การเกิดตั้งคำถามว่าต่อจากนี้เราจะเชื่อถือข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้มากน้อยแค่ไหน

Tagcloud-AI-generated-content-farms-detected-SPACEBAR-Thumbnail
เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยใช้แชตบ็อตที่เชี่ยวชาญด้านภาษาธรรมชาติอย่าง ChatGPT Bard หรือ Bing ในการค้นหาข้อมูลและทำงานเบสิกกันมาบ้าง เช่น เขียนอีเมล วางแผนการทำงาน ร่างพรีเซนเทชัน 

แต่รู้ไหมว่าทุกวันนี้มีคอนเทนต์มากมายที่ผลิตขึ้นโดย AI และมันไม่ได้ ‘น่าเชื่อถือ’ เสมอไป ล่าสุดเว็บไซต์ NewsGuard ได้เปิดเผยการตรวจสอบเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด พบว่า มีแหล่งผลิตคอนเทนต์ประมาณ 49 เว็บไซต์ที่ใช้ AI สร้างเนื้อหาเป็นร้อยๆ บทความต่อวัน (AI-generated content farms) ซึ่งมักจะใช้ภาษากับรูปประโยคและวลีซ้ำๆ กัน จึงสังเกตได้ไม่ยากว่าเป็นแพทเทิร์นการเขียนของ AI 

เรื่องนี้น่ากังวลอย่างไร?

การใช้ AI ช่วยเขียนบทความไม่ใช่เรื่องใหม่ และพบเห็นได้ทั่วไป แต่เรากำลังพูดถึงการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก (อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘อุตสาหกรรม’ หรือฐานการผลิต) ที่ใช้บ็อตเขียนทั้งเว็บไซต์หรือเกือบทุกบทความ โดยแทบไม่ผ่านบรรณาธิการเลย 

นักวิจัยของ NewsGuard ชี้ว่า เว็บไซต์เหล่านี้มักจะผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเงิน และเทคโนโลยี โดยเน้น ‘ปริมาณ’ เป็นหลัก ซึ่งก็คือ การผลิตบทความออกมาเยอะๆ ให้คนเห็นเนื้อหาใหม่ตลอดเวลา เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อโฆษณาและทำกำไร 

จากการตรวจสอบพบว่า 49 เว็บไซต์มีเนื้อหาภาษาอังกฤษ จีน เชก ฝรั่งเศส โปรตุเกส ตากาล็อก และไทย เกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้ระบุชัดว่าใครเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแล มีแค่ 4 เว็บเท่านั้นที่สามารถติดต่อได้จริงๆ 

ที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือ บทความเหล่านี้มักจะมีข้อความของ ‘บ็อต’ ปะปนอยู่ในเนื้อหาด้วย เช่น “ในฐานะระบบ AI ที่เรียนรู้ด้านภาษา ฉันคิดว่า…” และ “ฉันไม่สามารถทำตามคำสั่งนี้ได้” บางบทความเรียบเรียงมาจาก 2-3 ข้อความในทวิตเตอร์ของผู้ใช้งานที่ใช้นามแฝง และมักจะทวีตข้อความต่อต้านการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังมีบทความที่กล่าวอ้างว่า ‘เรียบเรียง’ มาจากบทความของ CNN อีกทีหนึ่ง ทำให้คนอ่านไม่ทันสังเกต ขณะที่ทีมวิจัยก็ไม่สามารถสืบค้นที่มาของข้อมูลที่แท้จริงได้ 

แม้ว่าบางเว็บไซต์จะชี้แจงว่าพวกเขาใช้ AI เข้ามาช่วยในบางส่วน แต่ก็ยังมีคนควบคุมดูแลเนื้อหาอีกที แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่เข้าถึงข้อมูลมหาศาลได้ง่ายดายและรวดเร็ว อาจเป็นชุดข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือมีส่วนผสมของข้อเท็จจริงและไม่จริงปะปนกัน  

ถ้าไม่แน่ใจว่าบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้เขียนขึ้นโดยคน หรือบ็อตกันแน่ ลองใช้ Tools ที่ใช้ AI ช่วยตรวจสอบได้ เช่น https://writer.com/ai-content-detector กับ https://copyleaks.com/ai-content-detector

ที่แน่ๆ นี่คือความท้าทายของการเสพสื่อคอนเทนต์ที่เราจะต้องใช้วิจารณญาณและมีความตระหนักรู้ (AI Literacy) หาข้อมูลสนับสนุนจากหลายๆ ด้าน และไม่ปักใจเชื่อทันที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์