“ทุนนิยมมันก็ยังงี้แหละ” เราต้องเตรียมใจแค่ไหนกับแรงกระแทกของวิกฤต SVB?

15 มีนาคม 2566 - 09:23

This-is-how-capitalism-work-get-prepare-for-SVB-after-shock-SPACEBAR-Thumbnail
  • กองทุนของเรายังปลอดภัยอยู่ไหมในช่วงเวลาธนาคารในสหรัฐฯ เริ่มสั่นคลอนอย่างหนัก

  • สรุปข้อมูลเบื้องต้น พร้อมกับการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ ถึงผลกระทบจากวิกฤต SVB

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2023 ธนาคารแห่งซิลิคอนวัลเลย์ (SVB) ไม่สามารถจ่ายเงินให้ลูกค้าได้ทัน หรือเกิด bank run กลายเป็นการล้มของธนาคารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 และใหญ่เป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ  

ก่อนจะไปถึงสิ่งที่ต้องกังวลเป็นสเต็ปต่อไป เรามาดูกันก่อนว่าวิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นจากออะไร 

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว 

• ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ธนาคารต่างๆ มีเงินฝากไหลเข้ามามากขึ้น เพราะความกังวลของผู้คนเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้มีการออมเงินเป็นจำนวนมาก SVB ก็เช่นกัน เงินที่ไหลเข้ามา SVB ทำไปลงทุนด้วยการซื้อพันธบัตรระยะยาวกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งตามปกติถือเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ปลอดภัยสูง  

• เพราะโควิด-19 เช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก รัฐบาลสหรัฐฯ และธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำการกระตุ้นด้วยการอัดฉีดเงินที่เป็นการทั้งช่วยเหลือประชาชนโดยตรงและเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจ จนกระทั่งเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาพร้อมๆ กับที่เงินเฟ้อสูงขึ้น และเงินยังเฟ้อมากขึ้น (หรือข้าวของแพงขึ้น) เพราะสงครามในยูเครน 

• เพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อรุนแรงไปกว่านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงหันมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในอัตราหลายหลัก แต่การขึ้นดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อพันธบัตรตรง นี่คือจุดเริ่มต้นของหายนะต่อสินทรัพย์การลงทุนที่มั่นคง ดอกเบี้ยทำให้มันไม่มั่นคง แต่สหรัฐฯ ต้องยอมเสียสละมัน เพราะภาวะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงกว่า พูดง่ายๆ คือสหรัฐฯ กำลังเดิมพันเศรษฐกิจของตัวเองด้วยดอกเบี้ย 

• ตามปกติ เมื่อดอกเบี้ยต่ำ ราคาพันธบัตรจะสูงแต่ผลตอบแทนการลงทุนจากพันธบัตรจะต่ำ (เพราะนักลงทุนต้องถือพันธบัตรมากกว่าเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยให้ผลตอบแทนน้อยกว่า) แต่เมื่อดอกเบี้ยขึ้นสูง พันธบัตรจะราคาถูกลง ส่วนผลตอบแทนจะสูงขึ้นมา (ผลก็คือนักลงทุนจะทิ้งพันธบัตร ไปลงทุนกับสิ่งที่โยงกับดอกเบี้ยที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น ดอลลาร์สหรัฐ)   

• เมื่อ SVB นำเงินฝากไปซื้อพันธบัตรเอาไว้มาก และเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุด พันธบัตรจึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม แต่พวกเขากลับตัวไม่ทัน เงินสดในมือจึงมีน้อย เมื่อลูกค้าคนใดคนหนึ่งต้องการถอนเงินก้อนใหญ่อย่างฉับพลัน SVB จึงมีเงินไม่พอจ่าย เมื่อลูกค้าคนอื่นๆ เกิดอาการตื่นตระหนกว่าจะถอนเงินไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาคือ bank run (out of cash) คือ ไม่มีเงินสดจะจ่ายคือผู้ฝากเงิน 

• ลูกค้าของ SVB คือใคร? คือ บริษัทสตาร์ทอัพ (หรือวงการเทคแห่งซิลิคอนวัลเลย์) บริษัทเหล่านี้นำเงินมาฝากกับ SVB เป็นจำนวนมาก แต่เริ่มถอนเงินฝาก เนื่องจากหาเงินทุนได้ยากขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงขาลงของธุรกิจเทค สตาร์ทอัพและบิ๊กเทคยังเริ่มลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานจำนวนมากที่เริ่มในปี 2022 ยังทำให้ผู้ฝากเงินที่เป็นรายย่อย (หรือผู้ที่ถูกปลดจากงาน) ถอนเงินออมออกด้วย 

ทั้งหมดนี้คือ "สูตรสำเร็จของหายนะ" (Recipe for Disaster) ที่เกิดขึ้นกับ SVB ซึ่งสามารถอธิบายคร่าวๆ ด้วย Infographic ต่อไปนี้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/51ySjrBhC2rJjKr6EvUwQ2/123a89ebd8877af27c6e95e2424d5f9e/Info-_______________________-SVB

สิ่งกำลังเกิดขึ้น 

• บริษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลาง (FDIC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามากอบกู้สถานการณ์ ด้วยการเข้าเทคโอเวอร์กิจการของ SVB และเข้าดำเนินการแทนในสาขาที่ยังพอไปไหว เพื่อรับประกันว่าลูกค้าจะถอนเงินได้ และขายกิจการของ SVB ที่ไปไม่ไหว ทั้งหมดนี้เพื่อรับประกันความเชื่อมั่นของประชาชน เพราะหากเกิดความตื่นตระหนกขึ้น วิกฤตนี้จะลุกลามไปธนาคารอื่นๆ ด้วย  

• สิ่งที่ FDIC คือ ระบบประกันเงินฝาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกจนแห่ถอนเงิน บางครั้ง FDIC ถึงกับต้องเข้าไปเทคโอเวอร์กิจการเงียบๆ โดยไม่ให้ใครรู้ แล้วรีบเคลียร์ปัญหาเพื่อเปิดกิจการธนาคารนั้นๆ ต่อไปในวันรุ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนตื่นตระหนก เพราะความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก มันอาจทำให้เกิด “การระบาดทางการเงิน” (Financial contagion) ที่เกิดจากความกลัวจนกระทั่งคนแห่ไปถอนเงินในธนาคารอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดปัญหาด้วย  

• ประธานธิบดี โจ ไบเดน จึงต้องกล่าวย้ำกับประชาชนว่า “ชาวอเมริกันสามารถมั่นใจได้ว่าระบบธนาคารปลอดภัย เงินฝากของคุณจะอยู่ที่นั่นเมื่อคุณต้องการ” เพราะถ้าไม่บอกอย่างนี้ ธนาคารจะเกิด bank run แล้วล้มกันต่อๆ ไปเหมือนโดมิโน ไบเดน ยังย้ำด้วยว่า เงินที่นำไปอุ้ม SVB ไม่ได้มาจากภาษีประชาชน แต่มาจากค่าธรรมเนียมที่เก็บจากสถาบันการเงินที่ร่วมในกองทุนเงินฝาก (Deposit Insurance Fund) และเขายังย้ำด้วยว่า ฝ่ายบริหารชั้นนำของธนาคารที่ถูกอุ้มจะต้องถูกไล่ออกหลังการเทคโอเวอร์โดย FDIC  

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น 

• ไบเดน มีเหตุผลที่จะต้องย้ำว่าเงินอุ้มธนาคารไม่ได้มาจากภาษีประชาชน และย้ำว่าผู้บริหารธนาคารใหญ่ๆ จะต้องถูกไล่ออกไป เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ เคยถูกโจมตีอย่างหนัก หลังเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินต่างๆ ช่วงวิกฤตการเงินปี 2007-2008 นอกจากจะใช้ภาษีประชาชนไปอุ้มคนรวยแล้ว ผู้บริหารสถาบันการเงินยังอยู่ดีมีสุขกันต่อไป และยังเงินโบนัสด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ระบบการเงินของประเทศพังยับเยิน  

• ไบเดนจึงย้ำว่า “นักลงทุนในธนาคารจะไม่ได้รับการคุ้มครอง พวกเขารู้เท่าทันความเสี่ยง และเมื่อความเสี่ยงไม่ได้ผล นักลงทุนก็ต้องสูญเสียเงินของพวกเขา นั่นคือวิธีการทำงานของระบบทุนนิยม” คำพูดนี้ถ้าฟังแบบไม่คิดมาก อาจจะหมายถึงเฉพาะนักลงทุนของ SVB แต่เอาจริงๆ คงไม่ได้หมายถึงนักลงทุนแค่นั้นแน่ๆ เพราะต้นตอปัญหาที่แท้จริงๆ ไม่ใช่การบริหารที่ผิดพลาด แต่มาจากการขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่ยั้งมือจากทางการสหรัฐฯ เอง 

• ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ทางที่ดีสรุปกันก่อนว่านักลงทุนนอกสหรัฐฯ เจอผลกระทบจาก SVB แค่ไหน? ส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างคือพวกกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำนาญ บางกองทุนมีความเสี่ยง (Exposure) จากวิกฤตนี้ แต่โดยรวมแล้วไม่มีกองทุนไหนที่ถึงกับล่มสลายตามกันไป    

• อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงไม่ได้มีแค่จาก SVB แต่ตัวการใหญ่อยู่ที่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และผลของมันต่อตลาดพันธบัตร และตลาดพันธบัตรคือการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยและมั่นคง ทว่า หลังการขึ้นดอกเบี้ยแบบเอาเป็นเอาตาย มันทำให้นักลงทุนที่เชื่อมั่นกันพันธบัตรกลายเป็นพวกที่เดิมพันพลาด (ทั้งที่ไม่ควรพลาด) และนักลงทุนเหล่านี้มักเป็นนักลงทุนสถาบันด้วย ผลก็คือมันทำให้เกิด Financial contagion ได้ง่าย และอาจส่งผลต่อกองทุนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนนับพันล้านในที่สุด 

• ความน่ากลัวของเรื่องนี้ก็คือ มันเกิดขึ้นมาแล้วกับกองทุนบำนาญขอสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงปลายปี 2022 ซึ่งเป็นคอขาดบาดตายมาก เพราะหากมันล้มขึ้นมา เงินออมของคนอังกฤษจะพินาศในพลัน ถามว่าอะไรที่ทำให้กองทันบำนาญเกือบจะพินาศ? คำตอบก็อยู่ที่ความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาล เชื่อมั่นเสียจนไม่คาดคิดว่ามันจะถูกธนาคารกลางต่างๆ เอามาเป็นเครื่องสังเวยการขึ้นดอกเบี้ยนั่นเอง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์