โควิด ปิดฉากลงแล้ว คาด ปีใหม่ 2566 เงินสะพัดทะลุแสนล้าน

23 ธ.ค. 2565 - 04:19

  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้า พบประชาชนเตรียมใช้จ่ายปีใหม่ 2566 สุดคึก

  • คาด ยอดเงินสะพัดกว่า 103,000 ล้านบาท ขยายตัวสูงสุด รอบ 17 ปี

UTCC-new-year-2023-spending-surpassed-100-billion-baht-SPACEBAR-Thumbnail
ม.หอการค้าไทย เผย ปีใหม่ 2566 คึกคักเงินสะพัดกว่า 1 แสนล้านบาท ประชาชนไม่กังวลโควิด-19 ออกมาจับจ่ายใช้สอยปกติ คาด เศรษฐกิจไตรมาสแรก ขยายตัว 3.5% จากความพยายามใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผย ‘พฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 และทัศนะต่อประเด็นต่างๆ’ โดยพบว่า การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 มีเงินสะพัดอยู่ที่ 103,039 ล้านบาท ขยายตัว 20.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดครั้งแรกในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 และเป็นครั้งแรกที่มียอดเงินสะพัดทะลุแสนล้านบาท 

นอกจากนี้ จะพบว่าประชาชนมีการจับจ่ายในช่วงเทศกาลอย่างคึกคักและเป็นกลับมาจับจ่ายที่มีความสุขในรอบ 3 ปี และจะส่งผลให้เศรษฐกิจทะยานขึ้นอย่างสดใส และประกอบกับการให้ของขวัญปีใหม่ประชาชนที่รัฐบาลประกาศออกมา อย่างช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน ถือเป็น 1 ในมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 โดยคาดว่า จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเฉลี่ยกว่า 60,000 บาท จะส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ขยายตัวเพิ่ม 0.1- 1% จะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัว 3.5% 

“เงินสะพัดในช่วงปีใหม่ 2566 ที่ทะลุ 1 แสนล้านบาท กลับมามีมูลค่าใกล้เคียงปกติก่อนสถานการณ์โควิด -19  สะท้อนว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้ปิดฉากลงแล้ว ให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง ประกอบกับการท่องเที่ยวเริ่มกลับ และและยังไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกทรุดตัวลง จึงเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว” ธนวรรธน์ กล่าว 
 

สรุป ประชาชนใช้จ่ายอะไรบ้าง? ช่วงปีใหม่ 

เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย เผยผลสำรวจฯ ครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม 2565 จำนวน 1,345 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบ ประชาชนจะใช้จ่ายให้ตัวเองและผู้อื่น 69.8% โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของการสังสรรค์ จัดเลี้ยง เดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ทำบุญทางศาสนา และพบว่าจะมีการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้นและของขวัญที่นิยมซื้อในช่วงปีใหม่ ยังเป็นการซื้อกระเช้าของขวัญเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย 

ขณะที่การวางแผนออกนอกพื้นที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนใหญ่จะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด โดยภูมิภาคที่นิยมไปเที่ยวมากสุด คือ ภาคเหนือ รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเวลาที่วางแผนท่องเที่ยวอยู่ในช่วง 29 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 

ในด้านผลกระทบต่อการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ นั้น ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ประชาชน 54.4% บอกว่า มีผล ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด 80.4% ไม่มีผล ภาระหนี้สิน 55.6% มีผล สำหรับแหล่งที่มาของการใช้จ่าย 63.6% ยังมาจากเงินเดือนรายได้ตามปกติ บรรยากาศในช่วงเทศกาลปีใหม่ 48.3% มองว่าคึกคักกว่าปีที่แล้ว และการใช้จ่ายโดยรวมของประชาชนอยู่ที่ประมาณ 103,039 ล้านบาท 
 

ของขวัญอะไร? ที่ประชาชนต้องการ 

อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผย สิ่งที่ประชาชนต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาลมากที่สุด ประกอบด้วย 

- การปฏิรูปภาครัฐปราบปรามการทุจริต รัฐบาลควรมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 37.6%  

- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเงินภายในประเทศ อาทิ คนละครึ่ง 26.7%  

- ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน 12.9%  

- เพิ่มการจ้างงานและค่าแรงให้กับประชาชน 7.9% 

โดยยังมีปัจจัยที่น่าเป็นห่วงในปี 2566 ประกอบด้วย เรื่อง ‘ยาเสพติด เศรษฐกิจ ค่าครองชีพ การตกงาน หนี้สินในปัจจุบัน คอร์รัปชัน และการแพร่ระบาดของโควิด-19’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3oc4N2cqxIYV23KbzG8T0L/a9867bbdec81686779a60343d7d4fae0/UTCC-new-year-2023-spending-surpassed-100-billion-baht-SPACEBAR-Photo01
Photo: ม.หอการค้าไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์