ด้วยเชื่อว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้านแบบนี้แล่ะ จะเป็นไม้เด็ดใช้มัดใจประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย ในปี 2023
และหากเรา จะมาตั้งคำถามว่า ทำไม? ต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะได้คำตอบที่เรียบง่ายว่า เพื่อเพิ่มอำนาจการจับจ่ายใช้สอยให้กับกลุ่มชนชั้นกลาง โดยเฉพาะแรงงานรายวันคนไทยให้ได้มี ‘มากขึ้น’ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ (มูลค่าเงินเท่าเดิมแต่ได้สินค้า/บริการน้อยลง)
ค่าแรงเพิ่มต้องหารายได้เพิ่มตาม
ขณะเดียวกัน ก็ยังน่าคิดกันต่อไปว่า แล้วแหล่งเงิน? ที่จะเอามาปรับเพิ่มค่าแรงรายวันนั้น จะมาจากที่ไหน?คำตอบง่ายสุดอีกเช่นกัน คือ ก็มาจากนายจ้าง!! นั่นแล่ะ และเมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว นายจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ องค์กร ขนาดต่างๆ ก็อาจต้องทบทวนแหล่งรายได้ของตัวเองอีกชั้นหนึ่งว่า แล้วจะหายรายได้ให้เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร? เพื่อมาเติมต้นทุนในส่วนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกกำลังผันผวนและี่สวนทางกับโปรดักทีฟที่ชะลอตัว แบบนี้
สูตรหลักๆ ในตำราการทำธุรกิจ คือ การลีน (Lean) เพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ตัดทิ้งค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น และหันไปเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า/บริการที่มีคุณภาพ แล้วตั้งราคางามๆ เพื่อเอาไปขายในตลาด
ในจุดนี้ องค์กร ธุรกิจ แบรนด์สินค้า ก็อาจต้องรับบท ‘นางแบก’ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นรอบด้านตามมา
และแน่นอนว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็จะถูกบวกไปอยู่ในราคาสินค้า/บริการเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่า ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ดี และ ‘เรา’ ในฐานะผู้บริโภคเมื่อได้ค่าแรงขึ้นแล้ว ก็จะต้องไปซื้อของกินของใช้ที่ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ฟังดูแล้วก็’เมค เซนส์’ เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ
ขณะที่อีกมุมหนึ่ง ยังไม่ได้มองไปถึงการหาตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจ ว่าจะไปต่ออย่างไร? ในช่วงเศรษฐกิจไทยที่ในปีหน้าอาจเข้าสู่ภาวะ K-Shaped คือ มีทั้งกลุ่มธุรกิจขาขึ้น และ ขาลง
แต่เรื่องเหล่านี้ ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ของไทยที่เก่งๆ มักเตรียมตัวกันล่วงหน้า โดยวางแผนธุรกิจพร้อมบริหารจัดการความเสี่ยงในอนาคตกันอยู่แล้ว ทั้งเพื่อกำหนดต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรขององค์กรในภาพรวมที่อาจงอกมาโดยไม่รู้ตัว จากต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงาน และ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิต
หุ่นยนต์ยึดพื้นที่การทำงานรูทีน
และเมื่อมาถึงในยุคที่โลกกำลังขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เราเริ่มเห็นการใช้ ‘หุ่นยนต์’ (Robot) เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ที่ต้องใช้สกิลงาน ประเภทที่ต้องทำซ้ำๆเป็นกิจวัตร แต่ได้ฝีมีที่แม่นยำแถมเป๊ะ! กว่าฝีมือคนมากเห็นได้ชัดทั้งในภาคการผลิตโรงงานต่างๆ ที่ให้บทบาทกับแรงงานหุ่นยนต์ มากขึ้น รวมไปถึงภาคธุรกิจบริการต่างๆ อย่าง บริการทางการแพทย์ ร้านอาหาร ต่างเริ่มเอาโรบ็อต มาเป็นผู้ช่วยในการให้บริการเป็นจำนวนมาก แถมยังปฏิบัติหน้าที่ได้ตรงตามโปรแกรมที่ได้รับมอบหมายได้อย่างน่าทึ่ง
อนาคต หุ่นยนต์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ปัจจุบันฐานการผลิตหุ่นยนต์ใหญ่ๆทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีนได้เร่งสปีดผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้งานด้านต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาใช้งานทดแทนแรงงานมนุษย์ที่ใช้ทักษะทำงานซ้ำๆ ทั่วไปแล้ว โดยเฉพาะหุ่นยนต์ภาคบริการ
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวการใช้งานหุ่นยนต์ล่าสุด เมื่อ Uber Eats และ Cartken นำเทคโนโลยีไร้คนขับมาใส่ไว้ในหุ่นยนต์ขับเคลื่อน 6 ล้อ มีขนาดเล็กสำหรับวิ่งบนทางเท้า พร้อมติดตั้งกล้องและเซ็นเซอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการชนและเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพื่อให้ทำงานได้ทั้งในที่ร่มและกลางแจ้งสำหรับจัดส่งอาหาร (Delivery) โดยนำร่องให้บริการในไมอามี่ แห่งแรกก่อนขยายไปยังพื้นที่เมืองอื่นๆ ในปี 2566 ต่อการเข้ามาทำแทนที่ของหุ่นยนต์เดลิเวอรี ของ Uber Eats ในครั้งนี้ อาจสร้างความหนักใจในเส้นทางอาชีพการทำงานเหล่าไรเดอร์ บริการจัดส่งอาหาร ไม่ใช่น้อยด้วยเช่นกัน
สอดคล้องกับบทความของ จอห์น เทอร์รา ใน simplilearn.com ได้กล่าวถึงบทบาทของหุ่นยนต์ในอนาคต ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งชองผู้คน พร้อมเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มผลผลิต ไปจนถึงการสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ ให้กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก พร้อมกับคำเตือนอันน่าตกใจ เกี่ยวกับการสูญเสียงานของผู้คนจำนวนมากตามมา
โดยคาดการณ์ว่า จะมีการสูญเสียงานในภาคการผลิต 20 ล้านตำแหน่งภายในปี 2573 หรือ 30% ของงานทั้งหมด หรือไม่อย่างนั้นการทำงานจะเปลี่ยนมาสู่รูปแบบอัตโนมัติ ภายในปี 2573
ลองนับนิ้วดูเหลือเวลาราวๆ 7 ปี ที่หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น ถึงตอนนี้หากย้อนกลับไปคำถามข้างต้นอีกครั้งว่า ‘นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงรายวัน ของพรรคการเมืองยังจะทันสมัยอยู่หรือไม่?’ ในทศวรรษหน้านี้
หากแรงงานหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานโลก ครั้งใหญ่!!
