‘วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ’ ชายธรรมดาที่ไม่ธรรมดา หลังชนฝาฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้ง

16 พ.ย. 2565 - 09:19

  • ‘วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ’ ชายผู้มีบทเรียน ‘สู้วิกฤต’ ยุคทรัพย์สินไม่มีค่า เงินหายาก

  • เปิดตลาดนัด ‘คนเคยรวย’ ช่วยนักธุรกิจ เปลี่ยนทรัพย์สินเป็นเงิน กลับไปเยียวยาธุรกิจ

Wason-Benz-Thonglor-Died-age-76-Mercedes-Benz-Thailand-SPACEBAR-Main
“นึกถึง Mercedes Benz คิดถึงเบนซ์ทองหล่อ ผมอยู่ทุกวันแหละครับ”

แม้วลีนี้ จะกลายเป็นอดีต และคงเหลือไว้เพียง ‘ภาพจำ’ ภายหลังเจ้าของวลี ‘วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ’ (หรือสกุลเดิม โพธิพิมพานนท์) ผู้ก่อตั้งโชว์รูมเบนซ์ทองหล่อ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ จากบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 76 ปี หลังเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งตับมาระยะหนึ่ง ท่ามกลางการกล่าวขานถึง การเป็นแบบอย่างนักธุรกิจที่มีความมุ่งมั่น ขยัน อดทน เป็นนักต่อสู้ที่เปี่ยมไปด้วยบทเรียนสำคัญ

กล่าวได้ว่า ช่วงวิกฤตทางการเงินปี 2540 หรือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ชื่อของ ‘วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ’ มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเสมอ ด้วยเพราะวสันต์ เป็น ‘นักต่อสู้’ ที่มีแนวคิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเมื่อรู้ว่า วิกฤตครั้งนั้น ‘เงิน’ เป็นสิ่งสำคัญ ประเทศขาดเงิน นักธุรกิจขาดเงิน ผู้คนขาดเงิน สภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเงินฝืด แม้แต่แบงก์ชาติก็ยังขาดเงิน ดังนั้น วิธีการหาเงินสำหรับเขาขณะนั้น คือ ‘ทำอะไรก็ได้ เพื่อมีรีเทิร์นเป็นเงิน’

ขณะนั้น วสันต์มียอดหนี้สะสมถึง 4,000 ล้านบาท เป็นภาวะกดดัน หลังไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ ถูกแบงก์เกอร์ทวงถามเป็นระยะ แม้จะเจรจาต่อรองขอใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรถเบนซ์หลังบ้านที่มีกว่า 500 คัน หรือแม้แต่ตึกโชว์รูม 8 ชั้น ใจกลางย่านทองหล่อมูลค่าสูง ขอให้แบงก์นำไปขัดดอก ตีเป็นมูลค่าต่ำก็ไม่ว่า แต่ผลที่ตามมาคือ ‘แบงก์ก็ไม่รับ’ กล่าวย้ำ รับเพียง ‘เงินสด’ เท่านั้น

วสันต์รับโจทย์ ‘เงินเท่านั้นเยียวยาทุกสิ่ง’ แต่เงินในตอนนั้นเป็นสิ่งหาไม่ได้ เหตุการณ์นี้ วสันต์ถึงกลับกล่าว ‘อิจฉาหมา’ ที่มันเดินไปไหนก็ได้อย่างอิสระ นอนที่ไหนก็ได้อย่างสบายใจ ไม่มีหนี้ให้ถูกทวงถาม แถมยังจะมีคนประคบประหงมดูแลเป็นอย่างดี ผิดกับตัวเองที่ไม่ได้มีค่าอะไร มีทรัพย์สิน แต่นำมาช่วยคลี่คลายหนี้ไม่ได้ แถมยังไม่มีวิธีเปลี่ยนสภาพให้เป็นเงิน

ความเชื่อมั่น ยังไงเสีย ‘ทรัพย์สินที่มี ก็เป็นสิ่งมีค่า’ เมื่อแปรเปลี่ยนเป็นเงินในขณะนี้ไม่ได้ ก็ควรสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิธีอื่น ก่อนจะแบ่งพื้นที่ของโชว์รูม มาเปิด ‘ร้านขายส้มตำ’ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องขายส้มตำ คำตอบอาจเป็นเพราะ วสันต์มีแบบอย่างจากเตี่ยกับแม่ ผู้มีแนวทางสร้างเงินคือ ‘การขายทุกอย่างที่มีคนซื้อ’ และส้มตำก็เป็นสินค้าที่วสันต์เชื่อว่า คนเข้าถึงง่าย สร้างเงินงอกเงยง่ายขึ้นตาม และส้มตำก็ตอบโจทย์ได้จริงๆ

ไม่นานหลังจากนั้น วสันต์ ก็เปิดพื้นที่เพิ่มสร้าง ‘ตลาดนัดคนเคยรวย’ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักธุรกิจ ให้นำของสะสม หรือทรัพย์สินที่เคยซื้อมาก่อนหน้า ทั้งสร้อย แหวน นาฬิกา เพชร กระเป๋าแบรนด์เนม เสื้อผ้าแบรนด์ดัง เปียโน เครื่องดนตรี เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ ฯลฯ แต่กลับมาไร้ค่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยแนะให้นำมาขาย ส่งต่อให้คนที่พอมีเงินในราคาย่อมเยา เพราะสิ่งนี้จะเรียกเงินจากกระเป๋าคนพอมีเงินให้ยอมควักจ่าย นำกลับไปเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจได้

และก็สำเร็จอีกครั้ง เพราะ ‘ตลาดนัดคนเคยรวย’ โด่งดังเปรี้ยงปร้างภายในเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญอีกแห่ง และผู้คนให้ความนิยมขึ้นเรื่อยๆ วิกฤตที่ว่าเลวร้ายเริ่มคลี่คลายลง วสันต์เองก็ปลดหนี้ 4,000 ล้านบาท ใน 15 ปี และรวมถึงเพื่อนนักธุรกิจ ที่ก็ล้วนสร้างสภาพคล่องไปหมุนเวียนในธุรกิจ และค่อยๆ มีหนทางลืมตาอ้าปาก ผ่านยุคฟองสบู่แตกไปได้

การหยิบยก ‘วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ’ มากล่าวถึงในช่วงนี้ นอกจากเป็นการอาลัยต่อการจากไปแล้ว ยังเสมือนย้อนให้ได้เห็นแบบอย่างชีวิตที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ การเติบโต การต่อสู้ที่เปี่ยมไปด้วยบทเรียนสำคัญ สามารถนำมาปรับใช้ในทุกชีวิต และทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งกับนักธุรกิจ และคนทั่วไป กล่าวได้ว่า ‘วสันต์’ เป็นคนหนึ่งที่ก้าวผ่านจุดตกต่ำที่สุดมาลุกขึ้นยืนได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งยังมีส่วนช่วยผู้อื่นได้ก้าวผ่านวิกฤตนั้นๆ ไปด้วยกัน โดยหนึ่งในวิถีที่หลอมรวมมาเป็น ‘วสันต์ ผู้ไม่ยอมแพ้’ คนนี้ ก็คือนิสัยที่มุ่งมัน ขยัน อดทน ค้นหาปัญหา ก่อนพาไปแก้ไข เขาจึงกลายเป็นนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง ตราบเท่าที่ลมหายใจสุดท้ายมาถึง

สำหรับประวัติของ ‘วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ’ ผู้นี้ นอกจากการเป็นผู้จุดประกาย ‘ตลาดนัดคนเคยรวย’ ช่วยเพื่อนฟื้นวิกฤตแล้ว ยังอาจเป็นอีกแบบอย่างที่ส่งต่อกำลังใจไปหาคน ‘เรียนไม่เก่ง’ ว่า สามารถเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ดังเช่น ‘วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ’ ได้เช่นกัน

โดยครั้งหนึ่ง วสันต์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่เคยสอบอะไรได้เลย ตอนเรียนในห้อง ก็ไม่ค่อยสนใจ ขอแค่สอบผ่าน ได้เลื่อนชั้นก็พอ ไม่ได้สนใจว่าต้องได้คะแนนเยอะๆ ให้คนชื่นชม แต่ครูก็ให้คะแนนความประพฤติดี เพราะทำตัวดี ไม่เคยขาดเรียน แต่ไม่เคยทำการบ้าน ถามว่าเก่งไหม ถ้าผมเรียน ผมคิดว่าเก่ง สมองผมไม่แพ้ใคร แต่ผมไม่ค่อยสนใจที่จะเรียน เอาแค่ผ่านๆ ก็พอ สอบคัดเลือกอะไรก็ตกหมด ถ้ามีอะไรเขียนๆ ผมก็ผิดหมด เพราะผมเขียนหนังสือไม่จบ สมองเร็วกว่ามือ ตรงนี้ที่ทำให้ผมไปสอบไม่ผ่าน สอบเอ็นทรานซ์ก็ไม่ได้ หอการค้าสัมภาษณ์ตก สอบโทเฟล (TOEFL) ก็ไม่ผ่าน แต่ถ้าได้เรียน ก็แค่สอบผ่าน แค่เลื่อนชั้นได้”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ทำให้วสันต์ สามารถเป็นมนุษย์ที่สร้างสถิติขายรถเบนซ์กว่า 7,000 คัน ภายใน 1 สัปดาห์ เป็นเพราะการพยายามสร้างทักษะประสบการณ์จนชำนาญ โดยแม้การเริ่มต้นเข้าสู่วงการรถยนต์ของเขา จะเริ่มต้นที่ ‘การไปช่วยงานกิจการขายรถเก่าของพี่ชาย’ และเพียงแค่เห็นโอกาสธุรกิจซื้อขายรถยนต์ในขณะนั้น พร้อมกับผันตัวเองไปเป็นตัวแทนจำหน่ายรถกระบะและรถบรรทุก ไม่มีเงินสร้างโชว์รูมมาก ทำได้เพียงแค่เป็น ‘เพิงหมาแหงน’ แต่วสันต์ยังทำยอดขายได้ถึง 20 คันต่อเดือน

ความเก่งฉกาจของวสันต์ ทำให้มีก้าวที่สอง ที่เป็น ‘ก้าวกล้า’ พาตัวเองผงาดมาจนทุกวันนี้ เพียงอาศัยความกล้า ไปขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถหรู ซึ่งก็คือ ‘เบนซ์’ รถในฝันของเขา ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินซื้อ และไม่มีโชว์รูม เข้าใจว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ คงเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ จึงส่งต่อมาเพียง ‘แค็ตตาล็อก’ ให้ไปขายแบบปากเปล่า แต่สุดยอดมนุษย์วสันต์ ก็ขายได้ด้วยเทคนิค ‘ขายให้ได้ก่อนแล้วค่อยหาเงินไปซื้อให้ลูกค้า’ กิจการลักษณะเช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี แล้วโชว์รูมภาพลัษณ์เมอร์เซเดส-เบนซ์ของวสันต์ ก็เกิดขึ้น

นี่จึงเป็นตัวอย่างบุคคลผู้มีฝัน สานต่อด้วยความมุ่งมั่น ขยัน อดทน ทุ่มเทชีวิตและจิตใจ หลอมรวมมาเป็นตัวคนคนชื่อ ‘วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ’ เคียงข้าง ‘เมอร์เซเดส-เบนซ์’ แบรนด์รถหรูที่เขารัก และส่งต่อให้ทายาทอย่างภาคภูมิใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์