ดันเกษตร GI-นวัตกรรม กล้วยหอมทองหนองบัวแดง-ทุเรียน

11 พ.ค. 2566 - 09:48

  • กล้วยหอมทองหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ขึ้นทะเบียน GI แล้ว

  • ขณะที่ ‘ทุเรียนไทย’ ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันช่วยมาตรฐานการผลิต

Agricultural_GI_Innovation_Banana_Hom_Thong_Nong_Bua_Daeng_SPACEBAR_Thumbnail_156d9691c3.jpeg
ของดีประเทศไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก ล่าสุด ‘กล้วยหอมทองหนองบัวแดง’ จ.ชัยภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สะท้อนคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีศักยภาพและมีอัตลักษณ์จากแหล่งผลิตท้องถิ่น  

‘กล้วยหอมทองหนองบัวแดง’ มีที่มาที่ไป จากการนำกล้วยหอมทองพันธุ์กาบดำจากจังหวัดลพบุรี มาปลูกในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแร่ธาตุโพแทสเซียมที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของต้นกล้วย ส่งผลให้กล้วยหอมทองหนองบัวแดง มีผลยาวใหญ่ สีเหลืองนวล เนื้อแน่น เหนียวนุ่ม และมีเนื้อละเอียดกว่ากล้วยชนิดอื่น ลักษณะเปลือกมีความหนา ไม่มีจุดดำ เนื้อกล้วยจึงไม่ช้ำ ทำให้สะดวกและเอื้อต่อการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น สามารถสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท  

ล่าสุด อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ กล่าวยินดี ที่กล้วยหอมทองหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ให้แนวทางส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า รัฐกำลังส่งเสริมสินค้าเกษตรต่อเนื่อง ไม่เพียงความพยายามนำสินค้าโดดเด่นของไทย มาขึ้นทะเบียน GI เท่านั้น แต่ในแง่การพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพสินค้านั้นก็ดำเนินการควบคู่ไปด้วย เช่นล่าสุด มีความร่วมมือของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEPA) กับบริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน KASETTRACK และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK ช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สร้างมาตรฐานการผลิตทุเรียนคุณภาพ  

โดยระบบจะสร้างขั้นตอนการผลิตทุเรียนที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP ให้เกษตรกรสามารถบันทึกและวิเคราะห์ความก้าวหน้ากิจกรรมการผลิต และการดูแลรักษาในทุกระยะการเติบโต สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนอันดับหนึ่งของไทย  

ปัจจุบันเกษตรกรใช้งานแอปพลิเคชัน KASETTRACK แล้วกว่า 1,000 รายใน 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา และสุโขทัย รัฐยังตั้งเป้าหมาย ให้ KASETTRACK ดูแลการผลิตทุเรียนไทยคุณภาพได้กว่า 1 แสนตัน สร้างเกษตรกรคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ไม่น้อยกว่า 10,000 รายในปี 2569

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์