AIS - พม. ปั้นคน ‘แกร่งดิจิทัล’ ไม่เชื่อโจรไซเบอร์

23 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:42

Ais-society-aunjaicyber-digital-citizen-cyber-threats-SPACEBAR-Hero.jpg
  • หลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ เข้าถึงบุคลากร พม. แล้ว

  • หลัง พม. ผนึก AIS พาหลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ เข้าเสริมแกร่งบุคลากร 100% ช่วยเก่งดิจิทัล-รู้ทันภัยไซเบอร์

  • อีกด้าน ยังเตรียมปั้น ‘ครูแม่ไก่’ ขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่ประชาชน ช่วยกลุ่มเปราะบาง อย่าง ‘ผู้สูงอายุ’ ไม่ถูกหลอก

Digital Economy เป็นยุคของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อดีสำคัญ คือช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคม ให้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย ขณะที่ในภาคประชาชน เทคโนโลยีออนไลน์ซึ่งเข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ช่วยทำให้การติดต่อสื่อสาร หรือทำธุรกรรมการเงิน ง่ายขึ้น แต่ในความง่ายก็ยังมีภัย ‘มิจฉาชีพ’ แฝงเข้ามาด้วย ... ซึ่งการบ้านข้อใหญ่นี้ ยังเป็นประเด็นให้ภาครัฐ ต้องทำงานหนัก ทั้งเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล และร่วมมือแก้ไขภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับโลกยุคใหม่ ที่ขณะนี้สร้างความเสียหายให้คนไทยแล้วมหาศาล

ข่าวดีวันนี้ คือ องค์กรรัฐที่ดูแลบุคลากรและประชาชนจำนวนมากอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มาผนึกกำลังร่วมกับ AIS และภาคีเครือข่ายทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างภูมิคุ้มกันรับมือปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน พร้อมส่งต่อทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ‘หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์’ ไปยังบุคลากรของ พม. และประชาชนคนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน นำไปใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ อันจะนำมาสู่การยกระดับสุขภาวะดิจิทัลให้กับคนไทยที่รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์ 

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผย อาชญากรรมทางไซเบอร์ จัดเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องเร่งร่วมมือแก้ไขโดยด่วน กระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้คนไทย ‘ไม่ถูกหลอก’ จึงบูรณาการความร่วมมือ กับ AIS นำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ร่วมเสริมแกร่งบุคลากร ซึ่งมีกว่า 11,000 คน ได้เรียนรู้ เพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนทุกช่วงวัย ทั้ง ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อให้ทุกคน สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ที่แฝงมาในโลกออนไลน์

ด้าน สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัล เราไม่เพียงเดินหน้าเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อคนไทยเพียงเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทยที่เราเชื่อว่าการเสริมสร้างองค์ความรู้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน

ทำให้ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลอย่าง หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P 4ป ประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์, Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

Ais-society-aunjaicyber-digital-citizen-cyber-threats-SPACEBAR-Photo01.jpg

ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่วันนี้ได้เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้แล้วกว่า 320,000 คน

“ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงฯ ได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ ได้เสริมทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์”

สมชัย กล่าว

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวเช่นกันว่า การที่คนเราท่องอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต โอกาสที่จะพบเจอข้อมูล และนำสู่พฤติกรรมที่เค้าอาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หรือเชื่อโดยไม่เฉลียวใจใดๆ เกิดขึ้นได้ เอไอเอส จึงเริ่มมีโครงการ อุ่นใจไซเบอร์ มาตั้งแต่ปี 2018 และการทำงานร่วมกันครั้งนี้ ได้ปรับเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้สอดคล้องกับทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเป็นพลเมืองดิจิทัลสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้มีความเหมาะสม เช่น การเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กร นอกจากนี้ ยังเตรียมปั้นบุคลากร พม. เป็นครูแม่ไก่ 11,500 คน เพื่อส่งต่อความรู้ โดยมี AIS เป็นพี่เลี้ยงด้วย คาดหวังว่า จะทำให้คนไทยมีทักษะดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

และสำหรับผู้สนใจเรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์ ในหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ที่ www.learndiaunjaicyber.ais.co.th, แอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER, www.m-society.go.th,  www.dop.go.th  และแอปพลิเคชัน Gold by DOP

Ais-society-aunjaicyber-digital-citizen-cyber-threats-SPACEBAR-Photo02.jpg
ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์