เครือข่ายภาคประชาสังคม 5 องค์กร จำนวน 40 คน รวมตัวยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเสนอข้อห่วงใยของประชาชน ต่อ พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในเวลา 10.00 น. แสดงจุดยืนและขอเวลา 60 วันรวบรวมรายชื่อขอทำประชามติ ชะลอเวลาออกกฎหมายในช่วงนี้
โดยหนังสือที่ยื่นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา มีรายละเอียดดังนี้
เรื่อง ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจ สถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ....
เรียน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผ่านไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับดำเนินการตรวจและ ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... เพื่อพร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในลำดับถัดไป
โดยก่อนหน้านั้นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวต่อ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา (อ้างถึงหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0902/3) มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิ เด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง และเครือข่ายนิสิตนักศึกษานิติศาสตร์ ใคร่ขอแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
1. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันและเครือข่ายฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กิจการสถานบันเทิงครบวงจรกับกิจการสถานเล่นพนัน ควรแยกการพิจารณาออกจากกันเพราะกิจการหนึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่อีกกิจการหนึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาการพนัน ด้วยแต่ละ กิจการต่างมีกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก เพราะจะเป็นความซ้ำซ้อน และควรใช้มาตรการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ
การออกกฎหมายใหม่นี้ จึงดูมีเจตนาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้อำนาจออกใบอนุญาตและผู้ประกอบธุรกิจในลักษณะจอดจุดเดียวจบหรือ one-stop service ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้มากเช่นนี้ และอาจขัดกับกฎหมายเดิมเมื่อถึงคราวปฏิบัติจริง การออกกฎหมายใหม่เพื่อการนี้จึง เปรียบเสมือนการพยายาม ‘สวมเสื้อตัวใหญ่’ ที่จะก่อให้เกิดความรุ่มร่าม จนสุดท้ายเป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้งานเอง
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 บัญญัติว่า ‘รัฐพึงมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น’ และในเมื่อสถานกาณ์กาสิโนคือแหล่งเล่นพนันขนาดใหญ่ กิจการนี้ก็พึงอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่แล้วคือพระราชบัญญัติการพนัน เป็นการเข้าตามตรอกออกตามประตูที่พึงกระทำ มิใช่การใช้วิธีสร้างทางลัดหรือทางลอดของตนเอง โดยใช้วิธีการออกกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทำในสิ่งที่ตนอยากทำได้ ที่สำคัญยิ่งคือรัฐพึงเป็นผู้ควบคุมการพนัน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อภาวะ เศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิต สุขภาพกายและจิตใจ และความมั่นคงของมนุษย์รัฐจึงไม่พึงอยู่ในฐานะผู้ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเพิ่มแหล่งพนันด้วยนโยบายของรัฐบาลเอง เพราะรัฐเปรียบเสมือนอัศวินผู้ปราบยักษ์ มาร มิใช่ผู้เปิดประตูเมืองให้ยักษ์มารย่างกรายเข้ามาอย่างสง่างามโดยการออกกฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความ สะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจการพนัน และหากเอกชนรายใดต้องการประกอบกิจการจำพวกนี้ก็พึงเสนอขอ อนุญาตตามช่องทางของกฎหมายที่มีอยู่
3. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนลด ปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงและเครือข่ายนิสิตนักศึกษานิติศาสตร์ ขอเป็นกำลังใจให้ คณะกรรมการกฤษฎีกายืนหยัดในความถูกต้อง โดยยึดมั่นว่า ‘ลูกค้าที่แท้จริงของท่านคือประชาชน’ และดำรงความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง เพื่อดำรงศรัทธาและความเชื่อถือของอนุชนคนรุ่นใหม่ และ ประชาชนต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาสืบไป
4. ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาสนับสนุนการขอใช้สิทธิ์ของประชาชนในการเข้าชื่อให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการจึงขอให้รัฐบาลเคารพสิทธิของประชาชน และให้โอกาสในการดำเนินการอย่างน้อย 60 วัน โดยไม่เร่งรัดจะให้ออกกฎหมายนี้โดยเร็ว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
นายธนากร คมกฤส
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

