3 บิ๊กเทคสหรัฐ พร้อมลงทุนไทย มั่นใจ ศก.ดิจิทัลโต

15 พ.ย. 2567 - 06:32

  • Google-TikTok-Microsoft เชื่อมั่นศักยภาพไทย คุยนายกฯ แพทองธาร เวทีเอเปค ที่เปรู ตอกย้ำร่วมมือ-ดันไทยสู่ ศก.ดิจิทัล

  • โดย Google ยัน ลงทุน ‘ดิจิทัล-คลาวด์-AI’ - TikTok ช่วยผู้ประกอบการผ่านอีคอมเมิร์ซ-ดิจิทัลคอนเทนต์

  • ขณะที่ Microsoft ต่อยอดความร่วมมือพาไทยเดินหน้า เพื่อเป้า ‘ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค’ สร้างทักษะแรงงาน

apec-peru-google-tiktok-microsoft-digital-economy-thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

ตามที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังกรุงลิมา ประเทศเปรู เพื่อร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกฯ ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารชั้นนำใน 3 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัล ได้แก่ Google (กูเกิ้ล) TikTok (ติ๊กต็อก) และ Microsoft (ไมโครซอฟต์) เจรจาเรื่องการลงทุนและความร่วมมือในด้านดิจิทัล (เมื่อ 14 พ.ย.67) นั้น

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญในผลเจรจาที่เกิดขึ้นว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาย Karan Bhatia รองประธานบริษัท Google ด้านการดูแลและกำหนดนโยบายสาธารณะและความสัมพันธ์กับรัฐบาล

นายกรัฐมนตรียินดีที่ Google ได้เคยประกาศการลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทย

นาย Karan Bhatia กล่าวชี่นชมนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ดิจิทัล และพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลทั้งการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสำหรับการศึกษา และแรงงานไทย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงานของภาครัฐ การขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Go Cloud First Policy) ของรัฐบาลด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลของไทย โดยเฉพาะด้านการศึกษาของเยาวชน รวมทั้งพัฒนาทักษะแรงงานในการ (upskills/ reskills) เพื่องรองรับการทำงานสมัยใหม่ด้วย

apec-peru-google-tiktok-microsoft-digital-economy-thailand-SPACEBAR-Photo02.jpg

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนาย Karan Bhatia เห็นพ้องถึงความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และ AI การเสริมทักษะด้านดิจิทัล/AI ให้กับคนไทย ซึ่งต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจ (MoU) ที่ Google ได้ลงนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เมื่อปี 66 โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะกระทบกับพี่น้องประชาชนคนไทยจำนวนมาก

นายจิรายุ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบนาย Show Chew ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TikTok  พร้อมกล่าวถึงอิทธิพลและความนิยมของ TikTok ในประเทศไทย ซึ่งมีเกือบ 50 ล้านผู้ใช้งานและขอบคุณที่ TikTok ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (MSMEs) ผ่านทางอีคอมเมิร์ซและการสร้างดิจิทัลคอนเทนต์

apec-peru-google-tiktok-microsoft-digital-economy-thailand-SPACEBAR-Photo03.jpg

โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวน TikTok ร่วมมือกับรัฐบาลสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย นำเสนอสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์ม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างเนื้อหาคอนเทนต์ ด้านการท่องเที่ยวสู่เวทีโลกและสายตาคนทั่วโลกด้วย

นายจิรายุ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี หารือกับนาย Antony Cook รองประธานบริษัทและรองประธานที่ปรึกษาฝ่ายทั่วไปและบริการลูกค้าของบริษัท Microsoft (Corporate Vice President & Deputy General Counsel, Customer & Partner Solutions)

สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่บริษัท Microsoft พร้อมสานต่อธุรกิจจากการพบหารือระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐาฯ กับนาย Satya Nadella ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Microsoft เมื่อเดือนพ.ค.67 เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค และให้ความสำคัญและลงทุนในระบบนิเวศดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และทักษะแรงงาน

โดยหวังว่าบริษัท Microsoft จะเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและความร่วมมือในด้านดิจิทัล ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเดินหน้านโยบายอย่างครอบคลุมเพื่อเป้าหมายดังกล่าว โดย ‘Go Cloud First’ ถือเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลภายใต้แพลตฟอร์มเดียว จึงหวังที่จะกระชับความร่วมมือกับ Microsoft ในเรื่องนี้

apec-peru-google-tiktok-microsoft-digital-economy-thailand-SPACEBAR-Photo04.jpg

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงหวังที่จะใช้ศักยภาพและข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการพัฒนาและยกระดับทักษะของมนุษย์เพื่อเตรียมกำลังแรงงานให้มีทักษะเพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับ Microsoft เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่า ผู้บริหารด้านบริหารระดับสูงของบริษัท Microsoft ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์และศักยภาพของไทย ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังพร้อมที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้กำลังแรงงานไทย ซึ่งจะเพิ่มความประสิทธิภาพและความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย

apec-peru-google-tiktok-microsoft-digital-economy-thailand-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์