ศรีสุวรรณ ลุยลากสอบ จนท.ทุกหน่วย เอี่ยวไฟเขียว แอชตัน

4 สิงหาคม 2566 - 10:02

Ashton-Asoke-officer-bangkok-approver-SPACEBAR-Thumbnail
  • ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้อง (เรียน) จี้ ตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่เอี่ยวอนุมัติ อนันดา สร้างแอชตัน อโศก เพื่อไม่เป็นเยี่ยงอย่าง

  • อีกด้าน ยังเร่งบริษัทฯ ซื้อที่ดินทำทางเข้า-ออก ให้ได้ ใน 30 วัน หากเกินกว่านั้น ให้ กทม. ใช้อำนาจสั่งระงับใช้คอนโดฯ

การชี้ผิดของศาลฯ กรณีการก่อสร้างคอนโดฯ หรู แอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ของ บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ส่งผลถึงการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างฯ และกลายเป็นข้อกังขาของใครหลายคนว่า อดีตที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ ยอมไฟเขียวให้มีการก่อสร้างได้อย่างไร? เรื่องนี้แม้จะไม่ได้คำตอบทันควัน แต่น่าจะพอมีคำตอบให้สังคมบ้างแล้ว  

หลัง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โต้โผเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เข้าร้องผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ต่อเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  โดยมี นางรัชฎา คชานุบาล หัวหน้ากลุ่มรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆก กทม. เป็นตัวแทนรับหนังสือ 

ศรีสุวรรณ  ชี้ คดีนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวชุมชนสุขุมวิท 19 แยก 2 รวม 16 คน ได้ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการเขตวัฒนากับพวกรวม 5 คน ตั้งแต่ปี 2559 โดยมีประเด็นสำคัญคือ  
  • พื้นที่คอนโดพิพาท ไม่มีทางเข้าออก ติดถนนสาธารณะ กว้างอย่างน้อย 12 เมตร ตามที่กฎหมายกำหนด  
  • ทางเข้าออกที่มี ส่วนหนึ่งเป็นที่ดิน รฟม. ที่ได้มาจากการเวนคืนเพื่อทำการขนส่งมวลชนสาธารณะ ไม่อาจนำมาให้เอกชนเช่าใช้งานได้ และผิดวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดิน ของ รฟม.  
  • หน่วยงานรัฐ ไม่มีอำนาจในออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง มีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิพากษา ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยที่ไม่ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ที่ กทม. ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด  
ศรีสุวรรณ ยืนยันว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ และขอให้ กทม. มีคำสั่งหยุดใช้อาคารคอนโดแอสตัน ตาม มาตรา 41,  และ  42 ของ พรบ.ควบคุมอาคาร 2522  

นอกจากนี้ บริษัทอนันดา ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ที่ได้แนะนำ ให้ไปหาที่ดินซึ่งไม่เกี่ยวกับของรัฐ มาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12 เมตร โดยถ้าอนันดาหาได้เรื่องก็จบ แต่ถ้าหามาไม่ได้ภายใน 60 วัน หรือ กทม. อาจขยายเวลาออกไปได้อีกเป็น 90 วัน และถ้าเลย 90 วันไปแล้วยังหาไม่ได้ กทม.ต้องใช้ไม้เรียวในการสั่งทุกอย่างตามกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้ โดยใช้อำนาจของผู้ว่า กทม. เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522”  

“เรื่องนี้ยังสะท้อนบทเรียนว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย อย่าใช้เทคนิคหลีกเลี่ยง-ซิกแซก เพื่อให้ได้มา ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เป็นเพราะผู้ประกอบการนายทุน รวมหัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในการเบี่ยงเบนประเด็น หรือเจตนาของกฎหมาย จนนำไปสู่ปัญหาที่ต้องถกเถียง และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค หรือผู้เช่าซื้ออาคาร ตามมาเป็นลูกคลื่น” ศรีสุวรรณ กล่าว 

จบจากหน่วยงาน กทม.แล้ว ศรีสุวรรณ ยังเตรียมเดินหน้าร้องหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้ง รฟม. กรมที่ดิน และ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. เพื่อขอให้สอบสวนในประเด็นที่แต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้องอีกด้วย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์