ผุดบ้านมั่นคงริมราง แก้ชุมชนข้างทางรถไฟความเร็วสูง

15 ธ.ค. 2567 - 06:30

  • ผลักดัน ‘บ้านมั่นคงริมราง‘ แก้ปัญหาที่ดินและพัฒนาชุมชนริมทางรถไฟความเร็วสูงอีสาน

  • เสาเอกบ้านหลังแรกถูกปัก เตรียมขยายสร้างต่อในอีก 2,000 หลัง

  • รฟท.ทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี ตั้งแต่ 2567 – 2597

baan-mankong-rim-rang-project-community-near-high-speed-train-SPACEBAR-Hero.jpg

เสาเอกบ้านมั่นคงเสาแรก ถูกปักลงในพื้นที่ของ สุวรรณา ยั่งยืน หนึ่งในชาวบ้านชุมชนหนองไผ่พัฒนา เทศบาลเมืองศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมทางรถไฟมานานกว่า 20 ปี  ปัจจุบันเป็นตัวแทนชาวบ้านในชุมชนในฐานะประธานชุมชนหนองไผ่พัฒนาและประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงเมืองศิลา และยังมีคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน  ทำให้เทศบาลเมืองศิลา  จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่แรกที่เริ่มก่อสร้าง ‘บ้านมั่นคงริมราง’ อย่างเป็นรูปธรรม

baan-mankong-rim-rang-project-community-near-high-speed-train-SPACEBAR-Photo02.jpg

กว่า 20 ปีแล้วที่ เอกชัย กสิพัฒนวงศ์ หัวหน้างานออกแบบและก่อสร้าง สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ร่วมขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัย เปิเผยว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาวริมรางรถไฟ ถือเป็นนโยบายรัฐบาลปี 2567 ที่อนุมัติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน การรถไฟแห่งประเทศไทย ดูแลคุณภาพชีวิตของคนที่พักอาศัยอยู่บริเวณริมรางรถไฟ

“หลายคนกังวลว่าไม่มีโครงการเกิดขึ้นจริง บางรายกังวลเรื่องภาระหนี้สิน ที่อาจจะเกิดจากการก่อสร้างบ้าน ที่ผ่านมาจึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ สำหรับชาวบ้านที่ผ่านการพิจารณาแล้ว จะต้องสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ เพื่อมีการเก็บออม ส่วนการกู้ยืมสหกรณ์สร้างบ้านนั้น ไม่บังคับขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละครอบครัว”

baan-mankong-rim-rang-project-community-near-high-speed-train-SPACEBAR-Photo03.jpg

“สำหรับชาวบ้านที่ผ่านการพิจารณา จะได้รวบรวมเอกสารสำคัญเพื่อรับเงินอุดหนุนในการก่อสร้างที่อยู่ครอบครัวละ 100,000 บาท และเลือกแบบบ้านที่มีให้เลือก 5 แบบ การได้ลงเสาเอกถือเป็นความสำเร็จอีกขึ้นหนึ่งของชาวบ้านที่จะได้มีบ้าน มีเลขที่บ้านเป็นของตัวเอง สุดท้ายชาวบ้านมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยในระยะยาว”

สุวรรณา กล่าว

baan-mankong-rim-rang-project-community-near-high-speed-train-SPACEBAR-Photo04.jpg

กว่า 20 ปีแล้วที่ เอกชัย กสิพัฒนวงศ์ หัวหน้างานออกแบบและก่อสร้าง สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ร่วมขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัย เปิเผยว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาวริมรางรถไฟ ถือเป็นนโยบายรัฐบาลปี 2567 ที่อนุมัติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน การรถไฟแห่งประเทศไทย ดูแลคุณภาพชีวิตของคนที่พักอาศัยอยู่บริเวณริมรางรถไฟ

baan-mankong-rim-rang-project-community-near-high-speed-train-SPACEBAR-Photo05.jpg

สำหรับจังหวัดขอนแก่น มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างระบบราง 3 อำเภอ  คือ อำเภอบ้านไผ่ 7 ชุมชน กว่า 300 ครัวเรือน อำเภอเมือง 3 ตำบล คือเมืองเก่า ในเมือง และศิลา ครอบคลุมกว่า 2,000 ครัวเรือน และอำเภอน้ำพอง 21 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่ในเขตอำเภอเมือง พบว่า มีทั้งชุมชนที่ได้รับสิทธิ์อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้ ขณะที่ชุมชนมิตรภาพ ชุมชนหนองแวงตราชู  ชุมชนเทพารักษ์  ต้องโยกย้ายออกจากชุมชนเดิมทั้งหมดไปอยู่ในที่ดินใหม่

“ทำความเข้าใจก่อนว่า การก่อสร้างรางนั้น จะมีทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง การก่อสร้างจะวัดจากรางรถไฟเดิมขอบเขต 80 เมตร ฝั่งละ 40 เมตร โดยการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงการรถไฟขอใช้พื้นที่ในรัศมี 40 เมตรครอบคลุมทั้งหมด ทำให้ชุมชนต้องโยกย้ายออก”

“ส่วนชุมชนที่อยู่ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่จะใช้พื้นที่การก่อสร้างในรัศมี 20 เมตร จึงทำให้มีพื้นที่เหลืออีก 20 เมตร ที่สามารถปรับพื้นที่ให้มีการก่อสร้างบ้านในพื้นที่เดิมได้ ชุมชนที่เทศบาลเมืองศิลา มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชาวบ้านรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์และดำเนินการตามเงื่อนไขของทางการรถไฟ ทำให้ทุกฝ่ายผลักดันให้โครงการบ้านมั่นคงให้เป็นรูปธรรม เพื่อจะเป็นแรงผลักดันและพื้นที่เรียนรู้ให้ชุมชนอื่นๆได้ทำตามด้วย”

baan-mankong-rim-rang-project-community-near-high-speed-train-SPACEBAR-Photo06.jpg

“เทศบาลเมืองศิลา จึงนับเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่อยู่บริเวณริมรางรถไฟแบบบูรณาการ โดยเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 ชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงเสาเอก หลังจากที่ชาวบ้านริมรางได้รับการอนุมัติพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 119 ครัวเรือน ที่จะได้รับงบประมาณสร้างบ้าน ตลอดจนแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม ช่วยพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนเมืองศิลาได้มีความเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้น มีราคาค่าเช่าตารางเมตรละ 9 บาท การรถไฟแห่งประเทศไทยให้เช่า 30 ปี”

เอกชัย กล่าว

สำหรับชุมชนหนองไผ่พัฒนา ภายใต้การบริหารจัดการของสหกรณ์บ้านมั่นคงเมืองศิลา จำกัด ตั้งเป็นสหกรณ์เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2567 ได้รับสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะสัญญาการเช่า 30 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 – 30 ก.ย. 2597 จำนวน 77 ครัวเรือน ขนาดพื้นที่เช่า 5,398.00 ตารางเมตร และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ‘โครงการบ้านมั่นคง’ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  77 ครัวเรือน งบประมาณรวม 10,529,750 บาท 

แบ่งเป็นงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค (โครงสร้างพื้นฐาน) 2,695,000 งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 2,317,000 บาท งบบริหารจัดการชุมชนภาคีเครือข่าย 134,750 บาท และงบช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เป็นเงิน 5,390,000 บาท 

ทั้งนี้ ในแผนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น พอช.ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขับเคลื่อนงานร่วมกัน เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ถึงเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน ซึ่ง พอช. มีแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในที่ดินรถไฟ ในปี 2568 รวม 2,000 ครัวเรือน

baan-mankong-rim-rang-project-community-near-high-speed-train-SPACEBAR-Photo07.jpg

สำหรับโครงการการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟนั้น คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติแผน 5 ปี เริ่ม 2566-2570 ในพื้นที่ 35 จังหวัด  ครอบคลุม 300 ชุมชน  27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณกว่า  7,718 ล้านบาท รัฐบาลอุดหนุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ไม่เกินครัวเรือนละ 160,000 บาท และสินเชื่อไม่เกิน 250,000 บาทต่อครัวเรือน   

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-หนองคาย เส้นทางรางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น 1 ใน 4 เส้นทาง เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์เชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก มีเป้าหมาย คือการพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครของไทย กรุงเวียงจันทน์ของลาว และนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงได้อย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งทดแทนระบบรถไฟชานเมืองและรถไฟสายต่าง ๆ ในไทย ที่เชื่อมต่อภาคธุรกิจเข้ากับตัวเมือง  

โครงการรถไฟจีน-ไทย ระยะที่ 2 ระยะทาง 356 กิโลเมตร เริ่มจากสถานีจังหวัดนครราชสีมา สิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโข ฝั่งไทยที่จังหวัดหนองคาย มี 5 สถานี คือ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานีและหนองคาย เป็นสถานีที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค พร้อมผลักดันการขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่โดยรอบ มีการปรับแบ่งทั้งแบบทางวิ่งยกระดับและทางวิ่งระดับพื้นดิน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กิโลเมตร 

ส่วนทางวิ่งระดับพื้นดิน ระยะทาง 154.64 กิโลเมตร ที่ผ่านมาพบว่าการพัฒนาระบบรางทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้รางรถไฟได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความพยายามแก้ปัญหามานานกว่า 20 ปีแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์