อสังหาเชียงใหม่ทรุด คาดปี 68 ยิ่งถอย กำลังซื้อลดเกิน 50%

28 ธ.ค. 2567 - 02:30

  • ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ถดถอยหนัก มูลค่าการซื้อขาย-โอนที่ดิน ลดลงเกือบ50%

  • ฟันธงปี 2568 ตลาดซึมยาว เหตุการเมืองไม่นิ่ง-เศรษฐกิจสาหัส

  • ธปท.ภาคเหนือ ชี้แนวโน้มทรงตัว ถูกคุมเข้มปล่อยสินเชื่อ-กำลังซื้อไม่ฟื้น

big-city-chiang-mai-real-estate-trends-2025-recession-SPACEBAR-Hero.jpg

นนท์ หิรัญเชรษฐ์สกุล นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ จ.เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) เปิดเผยถึงสรุปภาวะตลาดอสังหาริมทรัย์ของจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2567 ว่า ธุรกิจโดยภาพรวมถือว่าถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาหนี้เสียสูงมาก และสถาบันการเงินคุมเข้มสินเชื่อ กระทบต่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่น ที่ต้องพึ่งพาการขอสินเชื่อให้กับลูกค้า ขณะที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่วนกลาง แม้สายป่านจะมีมากกว่า และมีช่องทางในการจัดหาสินเชื่อให้แก่ลูกค้า แต่ก็มีการพิจาณาการซื้อขายมากขึ้น 

ในปี 2566 จังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่าการซื้อขาย และโอนที่ดินประมาณ 27,000 ล้านบาท แต่ปี 2567 ลดลงไปเกือบร้อยละ 50 เพราะประเทศไทยเจอภาวะการเมืองขาดเสถียรภาพ และเศรษฐกิจทรุดตัว ถือว่าเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

big-city-chiang-mai-real-estate-trends-2025-recession-SPACEBAR-Photo03.jpg

สำหรับปี 2568 คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ น่าจะขยายตัวลดลงอีก จากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และกำลังซื้อของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยยังไม่ฟื้นตัว มีผลทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะล้นตลาด

“ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่มีบ้าน และคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จ พร้อมขาย ยังคงค้างสต็อกประมาณ 10,000 ยูนิต แบ่งเป็นบ้าน ประมาณร้อยละ 70 และคอนโดมิเนียมร้อยละ 30 มูลค่ารวมที่รอการระบายไม่น่าจะต่ำว่า 30,000 ล้านบาท และแม้ว่าลูกค้าจะมีความต้องการสูง แต่เมื่อขาดสินเชื่อมาสนับสนุน ไม่เพียงแต่กระทบภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ก็จะกระทบไปยังภาคก่อสร้าง ภาคอุปโภคบริโภค และการจ้างงานด้วย”

big-city-chiang-mai-real-estate-trends-2025-recession-SPACEBAR-Photo01.jpg

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปี 2566 ถึงปัจจุบัน มีโครงการบ้านจัดสรรที่ได้รับการอนุญาตจำนวน 109 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมรอขาย ส่วนการลงทุนใหม่ คาดว่ากลุ่มนักลงทุน ต่างรอประเมินทิศทางการลงทุน จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในช่วงขาลงมาหลายปี รวมถึงหาทางออกให้กับปัญหาหนี้เสียที่กำลังน่าเป็นห่วงให้กลับมาสู่ภาวะปกติ        

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ระบุว่า ภาวะอสังหาริมทรัพย์ภาคเหนือ ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน อุปทานที่อยู่อาศัยใหม่ลดลงตามยอดขายและสต็อกเหลือขายสูง 

ในระยะต่อไปคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงทรงตัว เนื่องจากสถาบันการเงิน ยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ 

ส่วนแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้ต้องการซื้อบ้าน รวมถึงกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มอาชีพอิสระ

big-city-chiang-mai-real-estate-trends-2025-recession-SPACEBAR-Photo04.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์