บ่อกุ้งเสียหาย 100% น้ำท่วมหนักเมืองคอนรอบ 10 ปี

21 ธ.ค. 2567 - 04:28

  • น้ำท่วมนครศรีธรรมราช คนเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ตั้งตัวไม่ทัน ความเสียหายเกือบ 100%

  • เกษตรกรวอนรัฐแก้กฎเกณฑ์เยียวยาให้ตรงกับสถานการณ์จริง

high-season-andaman-phuket-satun-speed-boat-reservation-SPACEBAR-Hero.jpg

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราชจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ความเสียหายที่รอการเยียวยาฟื้นฟูยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจการเกษตร เช่น การเลี้ยงกุ้ง ที่มีมากในพื้นที่นครศรีธรรมราชกว่า 20,000-30,000 ไร่ ผู้ประกอบการทั้งสิ้น 6,000-7,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบ รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นแล้ว กว่า 500 ล้านบาท

high-season-andaman-phuket-satun-speed-boat-reservation-SPACEBAR-Photo01.jpg

ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งและเลี้ยงกุ้ง อ.สิชล ‘ทรงวุฒิ พัฒแก้ว’ กล่าวว่า วันที่เกิดน้ำท่วม น้ำหลากมาเร็วมาก เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นที่นี่มาก่อน น้ำทะลักเข้าในบ่อแรกเป็นบ่อเพิ่งลงทุนได้ไม่กี่วัน เป็นลูกกุ้งราคาแสนบาทเศษ บ่อนี้เสียหายสิ้นเชิง ส่วนบ่อถัดไปที่น้ำทะลักเข้าไปในนั้นมีอายุแตกต่างกัน จนถึงเวลาจับกุ้งมีมูลค่ารวมกันราว 5 ล้านบาท 

ขณะที่สมาชิกสภาเกษตรกร จังหวัดนครศรีธรรมราชพื้นที่ อ.ปากพนัง ‘ไพโรจน์ รัตนรัตน์’ เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเจอวิกฤตน้ำท่วม 3-4 ระลอก ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันน้ำ ก็ยังไม่แห้งดี หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด โดยเฉพาะภาคเกษตร ทั้งส้มโอทับทิมสยาม ตลอดจนผู้ประกอบเลี้ยงกุ้งที่มีมากกว่า 30,000 ไร่ที่ได้รับผลกระทบทั้งระบบ โดยแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ อย่างน้อยบ่อละ 1 ล้านบาทหายวับไปกับตา

high-season-andaman-phuket-satun-speed-boat-reservation-SPACEBAR-Photo02.jpg

“สิ่งที่เราอยากบอกกับรัฐเวลานี้คือเรามีปัญหากับหน่วยงานของรัฐในการกำหนดกรอบการเยียวยาของราชการมาก เนื่องจากไม่ได้ยึดตามหลักข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องของระยะเวลาในการยื่นเยียวยาที่ไม่ได้อิงตามเหตุการณ์และความเป็นจริง พอน้ำท่วมมาอีกระลอกการเยียวยาครั้งแรกก็ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่ก็ต้องเจอน้ำท่วมซ้ำอีก”

“ในระหว่างน้ำท่วม ไม่มีเกษตรกรถ่ายรูปความเสียหายขณะเกิดเหตุได้ทัน เพราะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เราจึงอยากให้รัฐหรือราชการ กำหนดกรอบและระเบียบในการเยียวยาใหม่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมด้วย”

อดีตผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง ‘บุญเยียน รัตนวิชา’ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมของจังหวันครศรีธรรมราช สำหรับผู้เลี้ยงกุ้งถือว่าเสียหาย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะพื้นที่อ.ท่าศาลา อ.สิชล ซึ่งเป็นทางไหลของน้ำ จะเสียหายมากกว่าอำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำขัง กุ้งจึงไหลออกจากบ่อน้อย

“ผลกระทบที่เกษตรกรต้องเตรียมรับมือหลังน้ำท่วมนอกเหนือจากเรื่องความเสียหายกุ้งออกจากบ่อแล้วนั้นเรื่องของโรคระบาดก็จะตามมา ซึ่งประเมินแล้วมีนากุ้งที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ทั้งจังหวัดประมาณ 500 บ่อ”

high-season-andaman-phuket-satun-speed-boat-reservation-SPACEBAR-Photo04.jpg

“แต่สิ่งที่อยากสะท้อนไปถึงภาครัฐ พยายามบริหารจัดการเรื่องแหล่งน้ำ ลำคลอง เพราะเกิดน้ำท่วมทุกปี พบปัญหาตื้นเขินน้ำไหลไม่ได้คล่องจนเกิดน้ำท่วม น้ำขังและน้ำเน่าเสีย ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังคือ เกษตรกรไม่สามารถมีน้ำเพื่อนำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งครั้งต่อไปได้ โดยคาดการณ์เบื้องต้นว่า ผู้เลี้ยงกุ้งจะกลับสู่สถานการณ์ปกติได้ก็ประมาณอีกประมาณ 1 เดือนหลังจากนี้”

อย่างไรก็ตาม พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งอยู่ในพื้นที่ 6 อำเภอตลอดชายฝั่งทะเล ขณะนี้รัฐได้ออกมาตรการเยียวยาเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งผ่านกรมประมง เบื้องต้นคือ กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ หรือประมาณ 58,900 บาทต่อราย

high-season-andaman-phuket-satun-speed-boat-reservation-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์