ปลาหมอคางดำกระป๋อง วิจัย ‘อาหารแปรรูป’ กำจัดให้ได้ประโยชน์

28 ก.ค. 2567 - 02:20

  • คนอีสานยังหวั่น ‘ปลาหมอคางดำ’ วอนภาครัฐการันตีว่าปลอดภัย ก่อนให้ช่วยกันแปรรูปหลากหลายเมนู

  • นักวิชาการ มมส.เตรียมวิจัยและพัฒนาสูตร ‘ปลาหมอคางดำในซอสมะเขือเทศ’ นำร่องพัฒนาสู่อาหารกระป๋อง

black-chin-cichlid-northeastern-khon-kaen-food-canned-fish-SPACEBAR-Hero.jpg

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเอเลี่ยนสปีชีส์ ‘ปลาหมอคางดำ’ หลายพื้นที่ สร้างความกังวลใจให้กับหลายฝ่าย เนื่องจากเกรงว่าจะเข้ามาทำลายระบบนิเวศน์ทางน้ำ ทำให้รัฐบาลนำการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องช่วยกัน โดยมีแนวทางในการกำจัดปลาหมอคางดำ หนึ่งในนั้นคือการแปรรูปนำปลาหมอมาทำปลาร้า ปลาแดดเดียว และปลาส้ม เป็นต้น เพื่อเป็นการหยุดยั้งการแพร่ระบาดไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาว  

จากการสำรวจและสอบถามความเห็นของ ทีมข่าว Spacebar Big City ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ยังไม่พบเห็นการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ แต่การขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วก็ทำให้ชาวบ้านบอกกับเราว่า รู้สึกกังวล เพราะไม่มั่นใจว่าจะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง ประกอบกับมีกระแสข่าวว่า หากบริโภคปลาชนิดนี้ จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ทำให้ชาวบ้านกำลังสนใจติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

black-chin-cichlid-northeastern-khon-kaen-food-canned-fish-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘ศิริลักษณ์ มนต์ขลัง’ กลุ่มส่งเสริมอาชีพเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บ้านโนนละม่อม อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น บอกว่า มีประสบการณ์แปรรูปปลาร้ามานานแล้ว วัตถุดิบหลักคือปลาหลากหลายชนิด เน้นที่ปลานิลเป็นหลัก ทำส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ส่วนปลาหมอคางดำเพิ่งจะเคยได้ยินชื่อหลังจากที่สื่อได้นำเสนอข่าว จึงมีข้อมูลบางส่วนว่าปลาชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับปลานิล  แต่ตัวเล็ก เนื้อน้อย และก้างเยอะ หากจะนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นปลาร้า หรือ ปลาแดดเดียว ก็สามารถทำได้ คิดว่ารสชาติไม่ต่างกัน เพราะเป็นสายพันธุ์และลักษณะใกล้เคียงกับปลานิลที่คนอีสานนิยมนำมาแปรรูป แต่ปัญหาคือคนอีสานไม่รู้จักหรือเคยกิน ‘ปลาหมอคางดำ’ และยังมีชาวบ้านอีกไม่น้อยที่ไม่กล้ากิน แม้จะมีประชาชนรวมทั้งนักการเมืองบางรายกินโชว์แล้วก็ตาม

“หากรัฐบาลต้องการจะส่งเสริมให้นำมาปลาคางดำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจและสร้างการรับรู้ให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนอีสาน มีอีกไม่น้อยที่ยังไม่เชื่อมั่นว่าปลาหมอคางดำจะสามารถบริโภคได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่ากินได้ ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จนกว่ารัฐบาลที่จะส่งเสริมการแปรรูปทางการค้า มีเอกสารรับรองความปลอดภัย ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของสินค้าปลาประเภทอื่นๆ ตามไปด้วย”

ศิริลักษณ์ กล่าว

black-chin-cichlid-northeastern-khon-kaen-food-canned-fish-SPACEBAR-Photo03.jpg

‘ศิริลักษณ์’ ยังบอกด้วยว่า ส่วนตัวมองเห็นศักยภาพของปลาหมอคางดำ น่าจะสามารถนำแปรรูปได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปลาแดดเดียว ปลาร้า ปลาป่น ปลาเค็ม ปลาเส้น หรือจะนำมาแปรรูปเป็นน้ำพริกก็สามารถทำได้ เพียงแต่ขออย่างเดียวคือรัฐบาลต้องมีหลักฐานเอกสารรับรองความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เพราะตลาดปลาสามารถส่งขายต่างประเทศได้

ผศ.ดร.อัศวิน อมรสิน ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Aswin Amornsin ข้อความระบุว่า  “FC ท่านใดจับปลาหมอคางดำได้รบกวนชำแหละ ขอดเกล็ด ตัดหัวล้างไส้จนสะอาด แล้วแพ็คน้ำแข็งส่งมาให้ผมได้มั้ยครับ จะมาทดลองทำ ปลาคางดำในซอสมะเขือเทศกระป๋อง”

black-chin-cichlid-northeastern-khon-kaen-food-canned-fish-SPACEBAR-Photo V01.jpg

ทีมข่าว Spacebar Big City จึงติดต่อสอบถามถึงรายละเอียดของงานวิจัยนี้ ซึ่ง ผศ.ดร.อัศวิน กล่าวว่า สำหรับภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ของ มมส. มีหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ที่เน้นมาแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความปลอดภัย ทันสมัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

และเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารของชาติให้มีความมั่นคง ซึ่งในสาขามีห้องปฏิบัติการที่เปิดสอนการแปรรูปอาหาร ตามปกติทุกปีจะมีการเรียนการสอนที่นำปลามาแปรรูปเป็นกระป๋อง ซึ่งทุกภาคเรียนจะใช้ปลาทะเลในการแปรรูป แต่ปีนี้ตั้งใจว่าจะแปรรูปปลาน้ำจืด ซึ่งได้เลือกใช้ปลานิลในการแปรรูป เพราะเนื้อเยอะ ตัวโต และราคาถูกกว่าปลาทะเล จนกระทั่งมีข่าวการแพร่ระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ ซึ่งอยู่ในมิติเดียวกัน จึงเตรียมปรับใช้นำมาทำการทดลองแทน

“ประเด็นที่อยากพูดถึงคือ ปลาหมอคางดำกลายเป็นวาระแห่งชาติ คิดว่าทุกคน ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน ใครมีความชำนาญด้านใดก็นำความรู้มาช่วยกันแก้ปัญหา อาจารย์เองมีความชำนาญในการแปรรูปอาหารพร้อมบริโภค จึงทำให้มีแนวคิดในการนำปลาหมอคางดำมาทำเป็นปลาหมอคางดำกระป๋องในซอสมะเขือเทศ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามเองก็เป็นหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนนักวิจัย”

black-chin-cichlid-northeastern-khon-kaen-food-canned-fish-SPACEBAR-Photo04.jpg

“จึงนำโจทย์ปัญหาของปลาหมอคางดำที่พบ มาวางแผนทำการวิจัย เบื้องต้นพบว่า ปลาชนิดนี้ตัวเล็ก ทำให้เนื้อน้อย ก้างเยอะ จึงไม่เป็นที่นิยมรับประทาน จึงมาลงตัวที่การนำมาทำเป็นปลาหมอคางดำกระป๋องในซอสมะเขือเทศ เพราะการแปรรูปเป็นปลากระป๋องนั้น ใช้ความร้อนสูงซึ่งความร้อนทำให้กระดูกปลานิ่มรับประทานได้ทั้งตัว จะมีสารอาหารทั้งโปรตีนและแคลเซี่ยม เชื่อว่าสามารถตอบโจทย์แก้ปัญหาการระบาดได้ในอนาคต จึงได้โพสต์ขอความร่วมมือในการจัดหาปลาหมอคางดำมาเพื่องานวิจัยในครั้งนี้”

“สำหรับข้อกังวลคือการเคลื่อนย้ายซากปลาหมอคางดำไปยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาด จึงเน้นย้ำเรื่องการขนส่งที่จะรับเฉพาะปลาหมอคางดำที่ชำแหละอย่างดี ทั้งขอดเกล็ด ตัดหัว ล้างไส้จนสะอาด มั่นใจว่าไม่มีไข่ปลาติดมาด้วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้”

ผศ.ดร.อัศวิน กล่าว

ผศ.ดร.อัศวิน ระบุอีกว่า งานวิจัยการแปรรูปปลาหมอคางดำกระป๋องในซอสมะเขือเทศ ตั้งใจจะดำเนินการในช่วงสัปดาห์หน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาปลาหมอคางดำเพื่อการทดลอง ซึ่งในการทดลองครั้งแรก จะใช้ปลาหมอคางดำประมาณ 10 กิโลกรัม แบ่งการทดลองเป็น 2 ครั้ง  โดยการทดลองครั้งแรกจะใช้ปลา 5 กิโลกรัม เมื่อแปรรูปแล้วจะทิ้งไว้ 1 คืน แล้วจะแกะกระป๋องทดลองชิม เพื่อหาจุดเด่น จุดด้อย ของงานวิจัย พร้อมปรับปรุงสูตรให้ลงตัว จากนั้นจึงจะทดลองครั้งที่ 2

“การทดลองครั้งแรกหากพบว่า มีความคาวของปลาก็จะเพิ่มเครื่องเทศ หากกระดูกยังแข็งจะเพิ่มระยะเวลาการใช้ความร้อน พัฒนาจนกว่าสูตรการแปรรูปจะลงตัว คาดว่าใช้เวลาในการทดลองประมาณ 2-3 วัน จึงจะรู้ว่าหากนำปลาหมอคางดำมาทำปลาประป๋องแล้ว รสชาติจะเป็นอย่างไร”

“นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับอาจารย์ที่มีความชำนาญในด้านต่างๆ ยังเตรียมนำปลาหมอคางดำมาทำปลาส้มกระป๋อง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องก้างปลา งานวิจัยชิ้นนี้ทางอาจารย์ใช้งบประมาณส่วนตัวจึงนำมาทดลองในปริมาณไม่มาก เพราะต้องการนำความรู้ด้านการแปรรูปมาใช้ในการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในแง่ของคุณค่าอาหารจากปลาหมอคางดำ”

ขณะเดียวกัน ทีมข่าว Spacebar Big City ได้สอบถามไปยังโรงงานผลิตปลาร้าหลายแห่งในภาคอีสานพบว่า ส่วนใหญ่มีกังวล หากจะต้องนำ ‘ปลาหมอคางดำ’ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เพราะเป็นเรื่องใหม่และไม่เคยนำมาทำปลาร้ามาก่อน แม้จะมีราคาถูกก็ตาม ที่ผ่านมาโรงงานส่วนใหญ่จะนำปลาที่เป็นที่รู้จัก เช่น ปลานิล ปลาสร้อย ปลาดุก ปลาช่อน ปลาชะโด และปลายี่สก มาแปรรูปมากกกว่า จึงเห็นว่า หากภาครัฐจะส่งเสริม ควรเริ่มต้นให้ข้อมูลและองค์ความรู้ไปที่วิสาหกิจชุมชนหรือชาวบ้านทั่วไป ให้รู้จักปลาชนิดนี้อย่างแพร่หลายก่อน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์