บุญ วนาสิน หลอกทุกคนที่ใกล้ตัว

30 ธ.ค. 2567 - 03:02

  • การหลอกลงทุนปี 2567 ในกลุ่มเศรษฐีก็มีให้เห็น

  • หมอบุญ วนาสิน เป็นอีกหนึ่งการหลอกลวงที่เกิดขึ้น

  • ยิ่งเชื่อมาก ก็เสียหายมาก คดีนี้ความเสียหลายหมื่นล้านบาท

boon-wanasin-deception-nearby-people-2024-year-deception-SPACEBAR-Hero.jpg

คงต้องยอมรับว่าในปี 2567 ที่กำลังจะผ่านไป คนทั้งสองกลุ่ม รวมทั้งคนเกือบรวยต่างประสบชะตากรรม และต้องเผชิญวิบากกรรมแบบเดียวกัน คือ ตกเป็น ‘เหยื่อ’ ถูกหลอกลวงและต้องสูญเสียเงิน เพียงแต่อาจจะมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน

โดย ‘ทุกข์’ อย่างหนึ่งของคนที่พอมีสตางค์หรือมีเงินออมเหลือระดับสิบล้านร้อยล้านบาทขึ้นไป คือความพยายามที่จะสร้างผลตอบแทนจากเงินออมที่มีอยู่เพื่อให้มีสิ่งที่เรียกว่า Passive Imcome โดยการนำเงินออมที่มีไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ 

ในอดีต ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงๆ คนที่พอมีสตางค์ส่วนใหญ่แทบจะไม่ต้องอาศัยความรู้อะไรมากมายในเรื่องของการลงทุน เพราะแค่เอาเงอนไปฝากแบงก์ก็นอนกินดอกเบี้ยไปได้สบายๆ แต่หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 พวกเขาต้องเริ่มมองหาทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ ทั้งการลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น ทองคำ ไปจนถึงสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง คริปโต เคอเรนซี อย่าง ‘บิทคอยน์’

 แต่ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่ก็มักจะตัดสินใจลงทุนโดยมองผลตอบแทนเป็นหลักมากกว่าจะให้น้ำหนักในเรื่องของความเสี่ยง ถึงแม้จะรู้ทั้งรู้ว่า ‘High Risk’ แต่คนจำนวนมากก็ยังคงหวัง ‘High Retrurn’

ยิ่งในปีที่ผ่านมา ที่อาจจะเป็นปีที่บรรดานักลงทุนทั้งระดับ VI ตัวพ่อ บรรดาขาใหญ่ และนักเทรดระดับตำนานทั้งหลายต่างบอบช้ำไปตามๆกัน เพราะตลาดหุ้นไทยสามารถให้ผลตอบแทนที่น่าผิดหวังอย่างรุนแรง เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก หรือ สินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ หรือ  คริปโต เคอเรนซี ยอดฮิตอย่าง บิทคอยน์ 

ไม่เพียงจะต้องผิดหวังจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นหลายคนยังกลายเป็น ‘เหยื่อ’ ที่พลัดหลงเข้าไปลงทุนใน ‘หุ้นปั่น’ เจ้าปัญหาหลายๆตัว ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเข็ดขยาดไปตามๆกัน 

ยิ่งไปกว่านั้นนักลงทุนหลายๆรายที่พยายามจะกระจายความเสี่ยง โดยการไปลงทุนใน หุ้นกู้ ที่มีการเสนออัตราดอกเบี้ยกันสูงลิบ แต่พลันที่ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเริ่มหันหัวกลับมาสู่ทิศทาง ‘ขาลง’ ตลาดหุ้นกู้ก็เกิดอาการปั่นป่วนครั้งใหญ่เสียอีก เมื่อหลายๆบริษัทมีการผิดนัดชำระหนี้กันระนาว  

แต่ทั้งหมดคงไม่มีเรื่องไหนที่สร้างความ ‘อื้อฉาว’ และ ทิ้ง ‘ปริศนา’ ที่ต้องค้นหาความจริงได้มากเท่ากับ คดีฉ้อโกงนักลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ของคนที่มีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิรวมทั้งมีฐานะทางสังคมเป็นที่รู้จักอย่างดีอย่าง นพ.บุญ วนาสิน หรือ ‘หมอบุญ’ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร ‘ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป’ THG ที่กลายร่างเป็น ‘ภูตร้าย’ แห่งตลาดทุน ซึ่งสร้างความเสียหายระดับหมื่นล้านบาทให้กับผู้คนในวงการ ธุรกิจ และตลาดทุนครั้งใหญ่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ปมร้อนเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นจาก ‘กลลวง’ ที่แยบยลของ ‘หมอบุญ’ ทำให้มีบรรดานักธุรกิจชั้นนำระดับประเทศ และบุคลากรในวงการแพทย์ จำนวนกว่า 500-600 ราย ที่หลงเชื่อตกเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ถูกหลอกให้นำเงินมาลงทุนในโครงการ ‘ทิพย์’ ในฝันของหมอบุญ จนแห่กันไปแจ้งความดำเนินคดี

แต่เขาชิงหลบหนี ‘หมายจับ’ไปต่างประเทศ แถมยังใจคอโหดร้ายถึงขนาดทิ้งภรรยาและลูกๆให้ต้องประสบเคราะห์กรรมแทนแบบไร้สิ้นเยื่อใยโดยสิ้นเชิง

หลังจากปี 2562 ที่ ‘หมอบุญ’ สร้างความฮือฮาให้กับวงการธุรกิจโรงพยาบาล เมื่อบรรลุข้อตกลงในการร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง RAM ของหมอเอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ โดยปัจจุบัน RAM มีหุ้นอยู่ใน THG ราว 24.59%  โดย กลุ่มของ ‘หมอบุญ’ มีหุ้นลดลงเหลือเพียงราว 21% ทำให้ต้องเปิดทางให้กลุ่ม RAM ของหมอเอื้อชาติ เข้ามามีส่วนในการบริหาร 

ถึงแม้จะเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง ซึ่งทำให้ถูกลดบทบาทการบริหารใน ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป THG แต่ ‘หมอบุญ’ ก็ยังคงไม่หยุดฝันในการปั้นโครงการธุรกิจใหม่ๆ โดยใช้ บริษัทไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด (TMG) ในการลงทุนในหลายๆโครงการ โดยมีการประกาศแผนการลงทุนในช่วงปลายปี 2565 ในวงเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท 

หมอบุญประกาศแผนการลงทุนใน 5 โครงการ คือ โครงการศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้า โครงการ Wellness Center ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 แห่ง โครงการร่วมทุนตั้งโรงพยาบาลในเวียดนาม และ โครงการด้านไอที Medical Intelligence  โดยขายฝันว่ามีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในราวปี 2567 

แต่เนื่องจาก ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป (TMG) ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ออกหุ้นกู้ เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนได้ ทำให้หมอบุญต้องใช้เงินส่วนตัวและเอาที่ดินและทรัพย์สินส่วนตัวที่มีอยู่ไปจำนอง เพื่อกู้เงินออกมาเพื่อใช้ลงทุน แต่โครงการก็ทำท่าจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่วาดฝันไว้ เนื่องจากยอดขายห้องชุดในโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งลูกค้าจากต่างประเทศและกลุ่มคนรายได้สูงในประเทศ 

ตามคำบอกเล่าจากเหยื่อหลายรายทั้งนักธุรกิจและหมอใหญ่หลายคน นอกจากหมอบุญ จะใช้ ‘เครดิต’ ทางสังคมของตัวเอง ที่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นรายแรกของไทยเมื่อปี 2517 คือ โรงพยาบาลธนบุรี ที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG)  ที่ทำให้ หมอบุญกลายเป็นคนที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากบรรดาชนชั้นนำในสังคม 

เพราะความสนิทสนมส่วนตัวกับเหยื่อหลายๆ ราย ทำให้สามารถระดมทุนจากบรรดานักธุรกิจระดับบิ๊กๆในแวดวงตลาดทุน ให้นำเงินมาลงทุนในโครงการในฝัน ในรูปแบบที่หมอบุญจะทำสัญญาขอกู้ยืมเงิน โดยให้ดอกเบี้ยกับเหยื่อ โดยจ่ายเช็คล่วงหน้าให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ และดอกเบี้ยล่วงหน้าในชื่อ นพ.บุญ วนาสิน พร้อมทั้งมี จารุวรรณ วนาสิน และ นลิน วนาสิน รวมทั้ง ณวรา วนาสิน ซึ่งเป็นคนในครอบครัวเซ็นสลักหลังเช็คเป็นผู้ค้ำประกัน

ยิ่งไปกว่านั้น การเสนอให้ผลตอบแทนที่แน่นอนและมีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราค่อนข้างสูงตั้งแต่ 7-15% ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน ทั้งในส่วนของใบหุ้น และเช็คการันตี ที่มีทั้งภรรยาและบุตรเป็นผู้ค้ำประกัน ก็ทำให้เหยื่อส่วนใหญ่คิดว่ามีความเสี่ยงต่ำ ดีกว่าไปลงทุนในหุ้น หรือ หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงและผันผวนสูงกว่า

คาดกันว่ามี นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในแวดวงตลาดทุนที่หากเปิดเผยชื่อออกมาก็จะรู้จักกันดี ตกเป็นเหยื่อกันตั้งแต่หลัก 5 ล้านบาท 20 ล้านบาท 60 ล้านบาท 100 ล้านบาท แต่รายที่หนักที่สุดระดับ 2 พันล้านบาท ที่เป็นระดับบิ๊กในวงการธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม แต่ก็ยังพลาดตกเป็นเหยื่อ เพราะมั่นใจและเชื่อว่าโครงการที่จะนำเงินไปลงทุนมีอนาคต และมี Storytelling หรือภาพฝันที่ดูน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ

หลายคนคาดว่า ในตอนแรกหมอบุญอาจจะไม่ได้มีเจตนาที่จะฉ้อโกง หรือ เบี้ยวหนี้ แต่เริ่มต้นจากเป้าหมายในการระดมทุนหรือกู้ยืมเงินธรรมดา แต่เนื่องจากโครงการทั้งหมดเกิดอาการสะดุด ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามดีลที่กำหนดไว้

จนถึงเวลานี้ มีการคาดหมายว่า ทั้ง 5 โครงการอาจจะเดินมาถึงบทสรุปที่ทำให้หมอบุญยอมรับสภาพว่าคงเดินต่อไปได้ยาก จนอาจจะตัดสินใจล้มโครงการ แต่เนื่องจากมีความเสียหายเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเกินกว่าที่จะแบกรับภาระไหว จึงทำให้หมอบุญ ต้องตัดสินใจเดินเข้าสู่ด้านมืดแบบสุดตัว โดยมีการผ่องถ่ายทรัพย์สินออกไป ก่อนที่จะหลบหนีคดีไปต่างประเทศยอมตกเป็น ‘คนบาป’ ในสายตาของสังคม 

คงเพราะรู้ว่า หากไม่หนีคดี บทสรุปเขาอาจจะต้องไปใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำ แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ เม็ดเงินที่หมอบุญหลอกระดมทุนไปจากเหยื่อหลักหลายพันล้านบาท ปัจจุบัน ‘ล่องหน’ ไปอยู่ที่ไหน ทำให้มีการคาดคะเนไปในหลายทิศทาง ถึงขนาดมีคนเชื่อว่า อาจจะหมดไปกับการเล่นพนัน 

แต่ไม่ว่าเม็ดเงินจะไปอยู่ที่ไหน แต่การฉ้อโกงครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ หมอบุญก็ทิ้งความเสียหายและภาระไว้กับภรรยาและลูกสาว ชนิดไม่มีความละอายบาปกรรมที่ทำไว้กับเหยื่อจำนวนมาก ตอกย้ำให้ทุกคนต้องตระหนักว่า ‘รวยแล้วไม่โกง’ อาจจะเป็นเพียงนิทานขายฝัน ที่ไม่มีอยู่จริง...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์